จีนเผยภาพ ‘ดาวอังคาร’ ชุดใหม่ ฝีมือ ‘จู้หรง’ ท่องเที่ยวไกล 300 เมตร

(แฟ้มภาพซินหัว : จู้หรง ยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำแรกของจีน ถ่ายภาพเซลฟีกับแพลตฟอร์มลงจอดบนดาวอังคาร ภาพจากองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน วันที่ 11 มิ.ย. 2021)

ปักกิ่ง, 10 ก.ค. (ซินหัว) — จู้หรง ยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารของจีน เดินทางบนพื้นผิวดาวเคราะห์แดงคิดเป็นระยะทางมากกว่า 300 เมตร พร้อมจัดส่งภาพถ่ายชุดใหม่เกี่ยวกับหิน ทราย และฝุ่นบนดาวอังคารกลับสู่โลก

ศูนย์สำรวจดวงจันทร์และโครงการอวกาศ สังกัดองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน เปิดเผยว่าจู้หรงทำงานบนพื้นผิวดาวอังคารนาน 54 วันดาวอังคาร และเดินทางมากกว่า 300 เมตร เมื่อนับถึงวันพฤหัสบดี (8 ก.ค.)

อนึ่ง หนึ่งวันบนดาวอังคารมีระยะเวลานานกว่าหนึ่งวันบนโลกราว 40 นาที

(แฟ้มภาพซินหัว : ภาพถ่ายคุณลักษณะพื้นผิวของก้อนหินบนดาวอังคารและร่องรอยการเดินทางของจู้หรง ยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำแรกของจีน ภาพจากองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน)

จู้หรงเดินทางสู่ทิศใต้อย่างต่อเนื่องเพื่อดำเนินการตรวจสอบและสำรวจด้วยกล้องบันทึกภาพทางภูมิศาสตร์ เรดาร์ตรวจใต้พื้นผิว เครื่องมือวัดทางอุตุนิยมวิทยา และเครื่องตรวจจับสนามแม่เหล็กบนพื้นผิว นับตั้งแต่ลงจอดบนดาวอังคาร

เครื่องตรวจจับองค์ประกอบบนพื้นผิวและกล้องบันทึกภาพมัลติสเปกตรัมจะทำการตรวจจับแบบเฉพาะจุด หากพบเจอลักษณะพื้นผิวที่มีความโดดเด่นอย่างก้อนหินและเนินทราย

ภาพถ่ายก้อนหินบนดาวอังคารสองภาพเผยให้เห็นคุณลักษณะพื้นผิวของก้อนหินที่บางส่วนถูกปกคลุมด้วยฝุ่น และร่องรอยการเดินทางของจู้หรง

(แฟ้มภาพซินหัว : ภาพถ่ายพื้นผิวก้อนหินบนดาวอังคารที่บางส่วนถูกปกคลุมด้วยฝุ่น ภาพจากองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน)

วันที่ 26 มิ.ย. นับเป็นวันที่ 42 บนดาวอังคารของจู้หรง ซึ่งเดินทางถึงพื้นที่เนินทราย โดยกล้องบันทึกภาพทางภูมิศาสตร์ถ่ายภาพเนินทรายแดงที่อยู่ไกลราว 6 เมตร ภาพหนึ่งเผยให้เห็นก้อนหินหลายขนาดกระจายทั่วเนินทราย

(แฟ้มภาพซินหัว : ภาพถ่ายเนินทรายบนดาวอังคาร ซึ่งมีความกว้าง 8 เมตร ความยาวราว 40 เมตร และความสูง 0.6 เมตร วันที่ 4 ก.ค. 2021 ภาพจากองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน)

วันที่ 4 ก.ค. นับเป็นวันที่ 50 บนดาวอังคารของจู้หรง ซึ่งเดินทางไปยังด้านใต้ของเนินทรายแดงที่มีความกว้าง 8 เมตร ความยาวราว 40 เมตร และความสูง 0.6 เมตร

(แฟ้มภาพซินหัว : ภาพถ่ายกลุ่มก้อนหินหลายรูปทรง (ซ้าย) ส่วนห่อหุ้มด้านหลังและร่มชะลอความเร็วของยานลงจอด (มุมขวาบน) ภาพจากองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน)

ภาพถ่ายภาพหนึ่งเผยให้เห็นกลุ่มก้อนหินหลายรูปทรง รวมถึงส่วนห่อหุ้มด้านหลังและร่มชะลอความเร็วของยานลงจอด โดยจู้หรงบันทึกภาพนี้ขณะอยู่ห่างจากจุดลงจอดราว 210 เมตร และจากจุดที่ตั้งของส่วนห่อหุ้มและร่มดังกล่าวราว 130 เมตร

ทั้งนี้ ภารกิจเทียนเวิ่น-1 ของจีน ประกอบด้วยยานโคจร ยานลงจอด และยานสำรวจพื้นผิว เริ่มปฏิบัติการเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2020

ยานลงจอดบรรทุกยานสำรวจพื้นผิวลงจอดบริเวณด้านใต้ของยูโทเปีย พลานิเทีย ที่ราบขนาดมหึมาในขั้วเหนือของดาวอังคาร เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2021

จู้หรง วิ่งลงจากแพลตฟอร์มลงจอดสู่พื้นผิวดาวอังคารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. เริ่มต้นการสำรวจดาวเคราะห์แดง และทำให้จีนเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากสหรัฐฯ ที่สามารถนำยานอวกาศลงจอดและควบคุมยานสำรวจพื้นผิวบนดาวอังคาร

(แฟ้มภาพซินหัว : ภาพถ่ายเนินทรายแดงบนดาวอังคาร วันที่ 26 มิ.ย. 2021 ภาพจากองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน)

ขอบคุณที่มาของข้อมูล :

Xinhua

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]