จิ่วเฉวียน, 5 ก.ค. (ซินหัว) — จีนส่งดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาดวงใหม่ขึ้นสู่วงโคจรที่กำหนดจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียนทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เมื่อช่วงเช้าวันจันทร์ (5 ก.ค.)
องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) เปิดเผยว่าดาวเทียมเฟิงอวิ๋น-3อี (FY-3E) ถูกขนส่งโดยจรวดลองมาร์ช-4ซี (Long March-4C) เมื่อ 07.28 น. ตามเวลาปักกิ่ง ซึ่งนับเป็นภารกิจครั้งที่ 377 ของจรวดตระกูลลองมาร์ช
เฟิงอวิ๋น-3อี ถูกติดตั้งเครื่องมือสำรวจระยะไกล 11 รายการ จะเป็นดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาดวงแรกของโลก ที่เข้าสู่วงโคจรช่วงเช้าตรู่เพื่อปฏิบัติงานบริการพลเรือน
ดาวเทียมดวงนี้ถูกออกแบบให้มีอายุการใช้งานนาน 8 ปี และจะถูกนำไปใช้ในภารกิจสำรวจอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศ ความชื้น และปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยาอื่นๆ เพื่อการคาดการณ์เชิงตัวเลขเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะช่วยปรับปรุงความสามารถในการพยากรณ์อากาศของจีน
ขณะเดียวกันเฟิงอวิ๋น-3อี จะทำหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่ที่มีหิมะและน้ำแข็งปกคลุม อุณหภูมิผิวน้ำทะเล ภัยธรรมชาติ และนิเวศวิทยาทั่วโลก เพื่อให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติทางอุตุนิยมวิทยา
นอกจากนี้ยังจะติดตามสภาพแวดล้อมพลังงานแสงอาทิตย์และอวกาศ รวมถึงผลกระทบ ตลอดจนข้อมูลในชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ เพื่อตอบสนองความต้องการของการพยากรณ์อากาศในอวกาศและบริการสนับสนุนอื่นๆ
ทั้งนี้ ดาวเทียมเฟิงอวิ๋น-3อี และจรวดลองมาร์ช-4ซี พัฒนาโดยสำนักเทคโนโลยีการบินอวกาศเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Academy of Spaceflight Technology) สังกัดบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศแห่งประเทศจีน (China Aerospace Science and Technology Corporation)
ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
Xinhua