ชิงเต่า, 30 มิ.ย. (ซินหัว) — คณะนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลของจีนบนเรือวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทำการทดลองในท้องทะเลลึก เพื่อเปิดเผยกลไกการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมสุดขั้วของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลึก
เมื่อวันจันทร์ (28 มิ.ย.) สถาบันสมุทรศาสตร์ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (IOCAS) ระบุว่าเมื่อไม่นานนี้ เคอเสวีย (Kexue) เรือวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของจีน ได้เดินทางกลับมายังเมืองชิงเต่า มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน หลังทำการทดลองในทะเลด้วยอุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศ
หวังหมิ่นเสี่ยว นักวิจัยของสถาบันฯ กล่าวว่ามีการส่งตัวอย่างจากทะเลลึกเข้าห้องปฏิบัติการในการทดลองหลายครั้งก่อนหน้านี้ แต่คณะนักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถประเมินกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลลึกได้อย่างถูกต้อง เพราะตัวอย่างเหล่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงของความดัน อุณหภูมิ และสภาวะทางเคมีอื่นๆ ฉับพลัน
คณะนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันฯ จึงสร้างแท่นทดลองใต้น้ำที่พื้นทะเลลึกและทำการทดลองในพื้นที่ดังกล่าวโดยอาศัยอุปกรณ์บนเรือวิจัย นำไปสู่การตรวจจับวัตถุเป้าหมายหลายรายการ อาทิ ของเหลวจากช่องระบายอากาศใต้น้ำ ก๊าซไฮเดรตธรรมชาติ และหินคาร์บอเนตที่ก่อตัวมานานใกล้ช่องระบายอากาศ
ผลการวิจัยเบื้องต้นบ่งชี้ว่าจุลินทรีย์มีส่วนเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบในชั้นธรณีภาค (พื้นผิวโลกซึ่งห่อหุ้มด้วยเปลือกแข็ง) ส่วนลึก ชั้นอุทกภาค (ส่วนที่ห่อหุ้มเปลือกโลกที่เป็นน้ำทั้งหมด) ที่อยู่ใกล้ด้านล่าง และชั้นชีวภาค (ส่วนของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลก) ส่วนที่มืดมิด
ทั้งนี้ ข้อมูลและตัวอย่างที่ได้จากการทดลองทั้งหมดจะช่วยตอบคำถามสำคัญ เช่น องค์ประกอบของห่วงโซ่อาหารใต้ทะเลลึก แหล่งคาร์บอนใต้ทะเลลึกและการไหลจมของคาร์บอน รวมถึงต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิต
ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
Xinhua