เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2020 จีนได้ดำเนินการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นครั้งที่ 7 นับตั้งแต่ 0:00 น. ของวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 2020 และได้รายงานผลเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2021
มีประชากรจำนวนทั้งสิ้น 1,412 ล้านคน
เพิ่มขึ้น 72 ล้านคน หรือ 5.38%
การสำรวจสำมะโนประชากรแห่งชาติครั้งที่ 7 แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน
1) ขั้นตอนการเตรียมการ (ตุลาคม 2019 – ตุลาคม 2020)
2) ขั้นตอนการลงทะเบียนสำมะโนประชากร (พฤศจิกายน 2020 – ธันวาคม 2020)
3) ขั้นตอนการรวบรวมและการเผยแพร่ข้อมูล (ธันวาคม 2020 – ธันวาคม 2022)
สรุปข้อมูลหลักของการสำรวจสำมะโนประชากรแห่งชาติครั้งที่ 7 (2011-2020)
China’s 7th National Population Census
โดยนาย Ning Jizhe ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ รองหัวหน้ากลุ่มผู้นำการสำรวจสำมะโนประชากรแห่งชาติที่ 7 ของสภาแห่งรัฐ ได้รายงานผลการสำรวจข้อมูลการสำมะโนประชากรครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2021 ดังนี้
1. สถานการณ์พื้นฐานของการสำรวจสำมะโนประชากร
ตามกฎหมายสถิติและ “ระเบียบว่าด้วยการสำรวจสำมะโนแห่งชาติ” ประเทศจีน ได้เปิดตัวการสำรวจสำมะโนประชากรแห่งชาติครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2020 จุดประสงค์หลัก คือ การตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับประชากรในประเทศจีน โครงสร้างการกระจายของประชากร เพื่อสนับสนุนข้อมูลทางสถิติที่ถูกต้องและครบถ้วน เพื่อปรับปรุงกลยุทธ์และนโยบาย การพัฒนาประชากรของประเทศจีน รวมถึงการกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมและการส่งเสริมการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง โดยนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดี เข้าร่วมในการลงทะเบียนการสำรวจสำมะโนประชากรด้วย
ในการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งที่ 7 นี้ มีการจัดตั้งกลุ่มผู้นำการสำรวจสำมะโนประชากร ที่มีการประชุมเต็มรูปแบบและการประชุมทางออนไลน์และทางโทรศัพท์ เพื่อเตรียมการสำรวจสำมะโนประชากร หน่วยงานสมาชิกของกลุ่มแกนนำและรัฐบาลท้องถิ่นในทุกระดับ ได้วางแผน จัดระเบียบและร่วมมือกันอย่างรอบคอบ โดยการจัดตั้งสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรทั้งหมด 679,000 แห่ง ในระดับมณฑล เมือง อำเภอ เขต/ตำบลและหมู่บ้านทั่วประเทศ และมีบุคลากรที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเจ้าหน้าที่ในการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งนี้มีมากกว่า 7 ล้านคน
การสำรวจฯ ครั้งที่ 7 นี้ ใช้วิธีการรวบรวมข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และรายงานข้อมูลโดยตรงแบบเรียลไทม์เป็นครั้งแรก ผู้เข้าร่วมการสำรวจสำมะโนประชากรสามารถกรอกข้อมูลด้วยตนเอง โดยการสแกนรหัส QR เพื่อบันทึกข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันข้อมูลขนาดใหญ่
การสำรวจฯ ครั้งที่ 7 ได้เชิญนายแพทย์ จงหนานซาน แพทย์จีนชื่อดัง ผู้เชี่ยวชาญชื่อดังด้านโรคระบบทางเดินหายใจของจีน และ เหยา หมิง นักบาสเกตบอลอาชีพชาวจีน ให้ทำหน้าที่เป็นทูตประชาสัมพันธ์การสำรวจสำมะโนประชากร ด้วยคำขวัญ “大国点名、没你不行” แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า เช็คชื่อครั้งใหญ่ในประเทศ ไม่มีคุณไม่ได้
การสำรวจฯ ครั้งที่ 7 ปฏิบัติตามกฎหมายและดำเนินการตามข้อกำหนดของแผนการสำรวจสำมะโนประชากรอย่างจริงจัง โดยใช้ระบบการควบคุมคุณภาพและความแม่นยำที่เข้มงวด สร้างและปรับปรุงกลไกการตรวจสอบข้อมูล โดยการสุ่มเลือก 32,000 ครัวเรือนใน 141 อำเภอจาก 31 มณฑล (เขตปกครองตนเองและเทศบาล) เพื่อทำการตรวจสอบความแม่นยำ พบว่า ประชากรที่ไม่ได้ลงทะเบียนมีจำนวน 0.05% แสดงให้เห็นถึงกระบวนการสำรวจสำมะโนประชากรมีความเข้มงวด ได้มาตรฐาน ผลลัพธ์เป็นจริงและเชื่อถือได้
2. ข้อมูลหลักของการสำรวจสำมะโนประชากร
(1) ประชากรจีน จำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศจีน มีจำนวนทั้งสิ้น 1,412 ล้านคน เพิ่มขึ้น 72 ล้านคน หรือ 5.38% และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 0.53% เมื่อเทียบกับประชากรจำนวน 1,340 ล้านคนในปี 2010 (ข้อมูลของการสำรวจสำมะโนประชากรแห่งชาติครั้งที่ 6) อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีตั้งแต่ปี 2000 ถึง 2010 อยู่ที่ 0.57% ลดลง 0.04% สถิติแสดงให้เห็นว่าประชากรในประเทศจีนยังคงรักษาแนวโน้มการเติบโตช้าในช่วงปีที่ผ่านมา
(2) ประชากรในครัวเรือน มีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 494 ล้านครัวเรือน โดยจำนวนประชากรในครัวเรือนทั้งหมด 1,293 ล้านคน และมีกลุ่มครัวเรือนที่มีการย้ายถิ่นฐานไปอาศัยในเขตเมือง จำนวน 29 ล้านครัวเรือน มีจำนวนประชากรของกลุ่มครัวเรือนมีทั้งสิ้น 119 ล้านคน โดยมีขนาดครัวเรือนเฉลี่ย 2.62 คน หรือ 0.48 คน น้อยกว่า 3.10 คน ในปี 2010 ขนาดของครัวเรือนยังคงหดตัวลง ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความถี่ในการย้ายถิ่นฐานของประชากรในประเทศจีนที่เพิ่มขึ้นและการปรับปรุงสภาพที่อยู่อาศัยของคนหนุ่มสาวที่อาศัยอยู่อย่างอิสระหลังจากแต่งงาน
(3) การกระจายของประชากรตามภูมิภาค จำนวนประชากรในภาคตะวันออกคิดเป็น 39.93% ของประชากรทั้งประเทศ ภาคกลางคิดเป็น 25.83% ภาคตะวันตกคิดเป็น 27.12% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือคิดเป็น 6.98% เมื่อเทียบกับปี 2010 สัดส่วนของประชากรในภาคตะวันออกเพิ่มขึ้น 2.15% ภาคกลางลดลง 0.79% ภาคตะวันตกเพิ่มขึ้น 0.22% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลง 1.20% ประชากรมีการกระจุกตัวมากขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นบริเวณในภูมิภาคที่พัฒนาทางเศรษฐกิจในเขตเมือง
(4) สัดส่วนชาย-หญิง มีประชากรที่เป็นเพศชายจำนวน 723.34 ล้านคน คิดเป็น 51.24% และเพศหญิงจำนวน 688.44 ล้านคนคิดเป็น 48.76% อัตราส่วนทางเพศของประชากรทั้งหมด อัตราส่วนของเพศหญิง 100 คน ส่วนเพศชายเท่ากับ 105.07 คน ต่ำกว่าสัดส่วนในปีค.ศ. 2010 เล็กน้อย
(5) ช่วงอายุของประชากร
อายุ 0-14 ปี มีจำนวน 253.38 ล้านคน คิดเป็น 17.95%
อายุ 15-59 มีจำนวน 89.438 ล้านคน คิดเป็น 63.35%
อายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน 264.04 ล้านคน คิดเป็น 18.70% (ในจำนวนนี้มีประชากร อายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 190.64 ล้านคน คิดเป็น 13.50%)
เมื่อเทียบกับปี 2010 สัดส่วนของช่วงอายุ 0-14, 15-59, 60 ขึ้นไปเพิ่มขึ้น 1.35% ลดลง 6.79% และเพิ่มขึ้น 5.44% สัดส่วนของเด็กในประเทศจีนเพิ่มสูงขึ้นและการปรับนโยบายการเจริญพันธุ์ได้ผลลัพธ์ในเชิงบวก ขณะเดียวกันจำนวนของประชากรผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น ท้าทายการการวางแผนประชากรที่สมดุลในระยะยาว
(6) ประชากรที่ได้รับการศึกษา ปี 2020 มีจำนวนประชากรที่เคยหรือกำลังศึกษาระดับอุดมศึกษา 218.36 ล้านคน เมื่อเทียบกับปี 2010 จำนวนผู้ที่ที่เคยหรือกำลังศึกษาระดับอุดมศึกษาต่อ 100,000 คน เพิ่มขึ้นจาก 8,930 คน ในปี 2010 และในปัจจุบันเป็น 15,467 คน ต่อ 100,000 คน ปีการศึกษาโดยเฉลี่ยของประชากรในช่วงอายุ 15 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นจาก 9.08 เป็น 9.91 และอัตราการไม่รู้หนังสือลดลงจาก 4.08% เป็น 2.67% นโยบายการปรับปรุงคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ในเชิงบวกที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปี ของการพัฒนาด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่เข้มแข็งของประเทศจีนและการแก้ปัญหาการไม่ได้รับการศึกษาในกลุ่มคนหนุ่มสาวและวัยกลางคน
(7) ประชากรในเมืองและชนบท ในปี 2020 มีประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองจำนวน 901.99 ล้านคน คิดเป็น 63.89% ส่วนประชากรที่อาศัยอยู่ในชนบท 509.79 ล้านคน คิดเป็น 36.11% เมื่อเทียบกับปี 2010 ประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองเพิ่มขึ้น 236.42 ล้านคน ประชากรที่อาศัยอยู่ในชนบทลดลง 164.36 ล้านคน และสัดส่วนของประชากรในเมืองเพิ่มขึ้น 14.21 % เป็นผลมาจากการพัฒนาเชิงลึกของอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศจีน ข้อมูลสารสนเทศและความทันสมัยทางการเกษตรและการดำเนินนโยบายการการถ่ายโอนทางการเกษตร กระบวนการสร้างเมืองใหม่ในประเทศจีนก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และการก่อสร้างได้สร้างความสำเร็จในประวัติศาสตร์
(8) ประชากรลอยตัว (floating population) ในปี 2020 มีจำนวนครัวเรือนที่แยกจากกัน 492.76 ล้านครัวเรือน เป็นจำนวนครัวเรือนในเขตเทศบาลคือ 116.94 ล้านคน และมีจำนวนประชากรลอยตัวอยู่ที่ 375.82 ล้านคน ในจำนวนนี้มีประชากรลอยระหว่างจังหวัด 124.84 ล้านคน เมื่อเทียบกับปี 2010 จำนวนประชากรที่แยกออกจากเพิ่มขึ้น 88.52% จำนวนประชากรที่แยกออกจากครัวเรือนในเขตเทศบาลเพิ่มขึ้น 192.66% และจำนวนประชากรลอยตัวเพิ่มขึ้น 69.73% การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนของประเทศจีน ส่งผลให้เกิดการย้ายถิ่นฐานและแนวโน้มการเคลื่อนย้ายของประชากรมีความชัดเจนมากขึ้นและขนาดของประชากรที่ลอยตัวได้ขยายเพิ่มขึ้น
(9) ประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ ในปี 2020 มีจำนวนประชากรที่เป็นชาวฮั่น 1,286.31 ล้านคน คิดเป็น 91.11% ของประชากรทั้งหมด มีจำนวนประชากรของชนกลุ่มน้อยคือ 124.47 ล้านคน คิดเป็น 8.89% เมื่อเทียบกับปี 2010 ประชากรชาวฮั่นเพิ่มขึ้น 4.93% จำนวนประชากรของชนกลุ่มน้อยเพิ่มขึ้น 10.26% และสัดส่วนของชนกลุ่มน้อยเพิ่มขึ้น 0.40% การเติบโตอย่างต่อเนื่องของประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการโดยรวมและความก้าวหน้าของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดในประเทศจีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน
ปัญหาประชากรเป็นปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ระยะยาวที่ประเทศจีนเผชิญอยู่เสมอ การสำรวจสำมะโนประชากรครั้งที่ 7 ได้ตรวจสอบประชากร โครงสร้างและการกระจายตัวของประเทศจีนอย่างละเอียด สะท้อนลักษณะแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงของประชากรในปัจจุบันได้อย่างถูกต้องเพื่อใช้ประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาในด้านต่าง ๆ พัฒนาการวิจัยที่เกี่ยวกับการพัฒนาประชากร และเพิ่มบทบาทของการสำรวจสำมะโนประชากรที่สนับสนุนข้อมูลทางสถิติที่ชัดเจน เพื่อส่งเสริมการพัฒนายุทธศาสตร์และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับจำนวนประชากรและการพัฒนาประชากรในระยะยาวอย่างสมดุล
(หมายเหตุ : ประชากรของประเทศจีน หมายถึง ประชากรใน 31 มณฑล เขตปกครองตนเอง เทศบาลนครภายใต้การบริหารโดยตรงของรัฐบาลกลางและเจ้าหน้าที่ทหารประจำการในแผ่นดินใหญ่ ซึ่งไม่รวมผู้อยู่อาศัยในฮ่องกง มาเก๊าและไต้หวันและบุคลากรต่างชาติที่อาศัยอยู่ใน 31 มณฑล เขตปกครองตนเอง เทศบาลนครภายใต้การบริหารโดยตรงของรัฐบาลกลาง)
จำนวนประชากรทั้งหมดของปักกิ่งเกิน 21.89 ล้านคน
และมีสัดส่วนของประชากรที่มีการศึกษาระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยสูงที่สุด
ข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรแห่งชาติครั้งที่ 7 มีข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับประชากรของปักกิ่ง ดังนี้
กรุงปักกิ่งมีประชากรจำนวน 21,893,095 คน คิดเป็น 1.55% ของประชากรทั้งประเทศ เพิ่มขึ้น 0.09% จากปี 2010 มีสัดส่วนของจำนวนประชากรชายในปักกิ่งสูงถึง 51.14% และหญิง 48.86% ไม่ต่างจากสัดส่วนจำนวนชาย-หญิงของประเทศ ช่วงอายุของประชากรในปักกิ่ง เด็กอายุ 0-14 ปี คิดเป็น 11.84% อายุ 15-59 ปี คิดเป็น 68.53% และอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 19.63%
ในด้านการศึกษา มีจำนวนผู้ที่มีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยหรือ (วิทยาลัยขึ้นไป) จำนวนถึง 41,980 คนต่อประชากร 100,000 คน สูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ
นอกจากนี้ ในปักกิ่ง มีจำนวนผู้ที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (รวมถึงอาชีวะหรือเทียบเท่า) จำนวน 17,593 คน จำนวนประชากรระดับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเท่ากับ 23,289 คน และจำนวนผู้มีการศึกษาระดับประถมศึกษาคือ 10,503 คน ต่อประชากร 100,000 คน