จีนครองแชมป์ จำนวนประชากรมั่งคั่งมากสุดในโลกตั้งแต่ระดับแสน ถึง พันล้านดอลลาร์ หลังดำเนินนโยบายแก้จน 7 ปี
แม้ในสถานการณ์โควิด มหาเศรษฐีใหม่มากกว่าอเมริกา 3 เท่า ภายใต้กลยุทธ์ “ลดการเติบโตงบการทหาร เพิ่มงบกระตุ้นเศรษฐกิจ”
.
ประเทศจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ประกาศแผนขจัดความยากจนให้หมดไปจากประเทศจีน ตั้งแต่ปี 2556 นับเป็นเวลากว่า 7 ปี ในการดำเนินตามแผน จนสามารถประกาศชัยชนะ นำพาคนจีนกว่า 100 ล้านคน ออกจากความจนได้สำเร็จ เมื่อต้นปีนี้ (2564) ที่ผ่านมา
.
นโยบายขจัดความยากจนของรัฐบาลจีน ไม่เพียงพัฒนาเขตต่างจังหวัด-ชนบท สร้างงานสร้างอาชีพ แก้ไขสภาพความเป็นอยู่ในแต่ละพื้นที่ให้ดีขึ้น เพื่อไปสู่เป้าหมาย “นำพาคนจีนออกจากความจน” เท่านั้น แต่จีนยังคงดำเนินนโยบายอื่นๆ เพื่อพัฒนาประเทศควบคู่ไปด้วย เพราะล้วนเกี่ยวข้องกันหมด
.
อาจกล่าวได้ว่า “จีนไม่เพียงแต่ขจัดความยากจน แต่ประชาชนภายในประเทศจำนวนไม่น้อย ยังมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย”
จากการรายงานของ China Daily สื่อจีนรายใหญ่ โดยอ้างอิงข้อมูลจาก Nikkei สื่อญี่ปุ่น ระบุว่า “จีนแซงอเมริกา ก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลก มีประชากรผู้มีความมั่งคั่งสุทธิ (Net Worth) 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 638,550 หยวน / 3.1 ล้านบาท) มากที่สุดในโลก และยังมีแนวโน้มที่คนกลุ่มนี้ในจีนจะมีจำนวนสูงขึ้นเรื่อย ๆ ”
.
เครดิตสวิส เผยตัวเลขประชากรจีนที่มีความมั่งคั่งสุทธิในระดับข้างต้น อยู่ที่ 113 ล้านคน ตามมาด้วย อเมริกา 103 ล้านคน ญี่ปุ่น 55 ล้านคน เยอรมนี 26 ล้านคน และฝรั่งเศส 25 ล้านคน
.
ด้านบริษัทวิจัย Hurun ผู้ขึ้นชื่อเรื่องการจัดอันดับความร่ำรวยของนักธุรกิจ-มหาเศรษฐีทั่วโลก เผยรายงานล่าสุดประจำปี 2021 “2021 Hurun Global Rich List”
.
ประเทศจีน ครองจำนวนมหาเศรษฐีพันล้านมากที่สุดในโลก ด้วยจำนวน 1,058 ราย นำหน้าอเมริกาที่มีจำนวน 696 ราย
.
มหาเศรษฐีระดับพันล้านดอลลาร์รายใหม่เพิ่มขึ้นทั่วโลก 610 ราย โดยส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน 318 ราย เมื่อเทียบกับอเมริกา 95 ราย จะเห็นว่าสัดส่วนค่อนข้างต่างกันเกิน 3 เท่า
.
อย่างไรก็ตาม แม้จีนจะประกาศความสำเร็จในนโยบายขจัดความยากจน และจีนครองแชมป์ประเทศมีคนรวยมากสุดในโลก แต่สิ่งที่จีนยังคงเจอปัญหาจนถึง ณ ขณะนี้ คือความเหลื่อมล้ำของประชาชนในประเทศ อย่างที่ สีจิ้นผิง ได้กล่าวเอาไว้ว่าจีนยังคงประมาทไม่ได้ แม้เอาชนะความยากจนได้แล้ว เพราะความเหลื่อมล้ำยังมีอยู่
.
“ราคาอสังหาริมทรัพย์ พุ่งขึ้น 20-80% ระหว่างปี 2015-2020” เป็นตัวอย่างที่เห็นภาพปัญหาชัดเจนมากที่สุด
.
แม้คนจีนกลุ่มหนึ่งมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่หากช่องว่างทางรายได้มันแตกต่างกันมากเกินไป และราคาปัจจัยพื้นฐานที่ทุกคนพึงต้องมีอย่างที่อยู่อาศัย สร้างช่องว่างเพิ่มขึ้นตามไปด้วย มันก่อให้เกิดปัญหาแน่ๆ จะกลายเป็น “คนจนกลุ่มใหม่ ที่ไม่ได้อยู่ในเขตต่างจังหวัด-ชนบท แต่เป็นคนจนในเขตเมือง”
.
จากปัญหาความเหลื่อมล้ำที่อ้ายจงกล่าวไปข้างต้น จีนกำลังดำเนินนโยบายอย่างหนึ่ง คือ “เพิ่มรายได้แก่ประชากรกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ” ก็ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่า ได้ผลมากน้อยแค่ไหน
.
แต่ที่แน่ๆ จีนปรับลดอัตราการเติบโตของงบการทหาร (งบการทหารจีนเพิ่มขึ้นทุกปีครับ แต่เขาปรับให้มันเพิ่มขึ้นน้อยหน่อย ในช่วงตั้งแต่ปี 2559 คือเพิ่มไม่เกิน 10% และมาเพิ่มน้อยสุดในรอบ 30 ปี เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา เพราะเศรษฐกิจแย่ เจอโควิดเล่นงานหนัก ต้องปรับการเพิ่มงบกลาโหม ไปใช้ด้านอื่นที่จำเป็นกว่า )
.
โดยงบประมาณ 2.8 ล้านล้านหยวน จากรัฐบาลกลางของจีน เพิ่งถูกส่งไปให้รัฐบาลท้องถิ่นระดับมณฑล-เมือง ในช่วงเดือนที่ผ่านมานี้ โดยโฟกัสไปที่ “พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กระตุ้นเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตประชาชน สร้างงานอาชีพ เร่งพัฒนาสาธารณสุขเพื่อรับมือและฟื้นฟูจากการแพร่ระบาดโควิด”
.
อ้ายจงอ้างอิงข้อมูลจาก
http://www.chinadaily.com.cn/a/202106/02/WS60b6fbb6a31024ad0bac3152.html
https://www.scmp.com/business/money/wealth/article/3123716/china-overtakes-us-most-dollar-billionaires-2020-stock-market
https://www.globaltimes.cn/page/202103/1217047.shtml
http://www.xinhuanet.com/english/2021-04/06/c_139860414.htm
https://www.globaltimes.cn/page/202103/1217416.shtml
http://www.china.org.cn/business/2021-06/02/content_77542947.htm
#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน #ชีวิตในจีน
ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
แฟนเพจอ้ายจง