อ้ายจงเล่าการตลาดจีน : การถือบังเกิดของ Influencer-Blogger สายหนังสือ เมื่อธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์-ร้านหนังสือจีน Transform ตนเอง จนเติบโตกว่าเดิม ไม่ตายเพราะเทคโนโลยีแทนที่
.
ถ้าพูดถึงการรีวิวบนโลกออนไลน์ โดย Blogger หรือ Influencer รวมถึงพวกเราทุกคนที่เล่นโซเชียลมีเดีย เราน่าจะคุ้นเคยกับการถ่ายภาพ ถ่ายคลิป รีวิวสถานที่ท่องเที่ยวชิลชิล ร้านกาแฟเก๋ๆ ร้านอาหารดูดี อาหารอร่อยๆ หรือพวกสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องสำอาง สกินแคร์ของสาวสาว ซึ่งจะว่าไปแล้วก็คล้ายคลึงกันทั้งโลกรวมถึงโซเชียลมีเดียประเทศจีนเอง เพราะการรีวิวสิ่งเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้รับความสนใจในวงกว้าง
.
แต่โลกโซเชียลจีนและการตลาดจีน มีความเฉพาะทางแตกต่างจากที่อื่นอยู่ไม่น้อย เนื่องจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความสนใจและพฤติกรรมของผู้บริโภค
.
อย่างเช่นประเด็นที่อ้ายจงกำลังกล่าวถึงต่อไปนี้ “Influencer สายหนังสือ”
.
5-6 ปีมานี้ ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์และร้านหนังสือในประเทศจีน มีการปรับตัวอย่างหนักกับการอาจถูก Disrupt โดยเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งไม่เพียงแต่ตอนนี้ยังคงสามารถอยู่รอดได้ แต่ยังเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ของธุรกิจนี้ไปด้วย
.
เวลาเรานึกถึงสถานที่เก๋เก๋ ชิลชิล อยากผ่อนคลาย ไปนัดพบปะแฟน เพื่อน คนรู้จัก หรือคุยงาน เรานึกถึงที่ไหนครับ?
ผมเชื่อเหลือเกินว่า “ร้านกาแฟ” อยู่ในตัวเลือกแรกๆที่ทุกคนนึกถึง รวมถึงตัวผมเองด้วย
.
แต่สำหรับเมืองจีน มันอาจไม่ใช่เช่นนั้นอีกต่อไป
.
“ร้านหนังสือ” ก้าวมาเป็นตัวเลือกระดับต้นๆ ที่คนจีนพากันไปพักผ่อน พบปะผู้คน ไม่ต่างจากร้านกาแฟ
.
# เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? #
.
ร้านหนังสือหลายร้านในจีน เริ่มจากเจ้าใหญ่ก่อน ปรับตัว Transform ตนเอง ไม่ให้เป็นแค่ร้านหนังสือต่อไป เพิ่มเติมบรรยากาศให้น่าใช้เวลาที่นั่น มีมุมถ่ายรูปสวยๆ ชั้นวางหนังสือดูสบายตา ดูโอ่โถง มีร้านกาแฟ สิ่งอำนวยความสะดวก และสินค้าอื่นๆอยู่ในนั้น ไม่ต่างอะไรกับการไปร้านกาแฟหรือเดินช้อปปิ้ง
.
แม้แต่ช่วงวันหยุดยาว วันชาติจีน วันแรงงานจีน วันตรุษจีน สถานที่ท่องเที่ยวที่ครอบครัวพากันไป เปลี่ยนจากสถานที่ท่องเที่ยวทั่วไป มาเป็นร้านหนังสือใหญ่ๆของแต่ละเมือง ก็มีให้เห็นในช่วง 5 ปีมานี้
คนจีนขึ้นชื่อเรื่องรักการอ่านมาแต่ไหนแต่ไร ทางการจีน ภาครัฐและภาคเอกชน พร้อมใจกันช่วยสนับสนุน ทั้งเงินอุดหนุนธุรกิจหนังสือ ทำราคาหนังสือให้ถูกลง และการใช้กระแสโลกโซเชียลให้เป็นประโยชน์
.
ตามสถิติล่าสุดจากสถาบันวิจัยข่าวสารและสิ่งพิมพ์จีน (Chinese Academy of Press and Publication) ซึ่งสำรวจพฤติกรรมการอ่าน โดยสอบถาม 46,000 คน จาก 167 เมืองทั่วจีน พบว่า
.
– 81.3% อ่านหนังสือทั้งแบบรูปเล่มและแบบดิจิทัลบนมือถือรวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ
.
– 11.6% อ่านหนังสือแบบรูปเล่ม มากกว่า 10 เล่มเมื่อปีที่ผ่านมา
.
– 8.5 % อ่านหนังสือแบบอิเล็กทรอนิกส์ มากกว่า 10 เล่ม เช่นกัน
.
– โดยเฉลี่ย อ่านหนังสือรูปเล่ม 4.7 เล่มต่อปี เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ที่ตัวเลขอยู่ที่ 4.65 และอ่านหนังสือแบบอิเล็กทรอนิกส์ 3.29 เล่มต่อปี จาก 2.84 เล่ม ในปี 2019
.
“สื่อ” อย่างยิ่งอยู่บนโลกออนไลน์ เป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้คนจีนยังคงอ่านหนังสือเป็นเล่มและทำให้ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ร้านหนังสือจีนยังคงอยู่ได้ มิหนำซ้ำยังเติบโตมากขึ้นกว่าเดิมเสียอีก
.
“ตามหน้าสื่อจีน ทั้งสื่อใหญ่สื่อเล็ก บนโลกออนไลน์ ต่างพากันนำเสนอภาพร้านหนังสือในเชิง ภาพลักษณ์ใหม่ อยู่เสมอ” ทำให้ชาวจีนจดจำภาพใหม่อันนี้ และกลายเป็นว่า Influencer ,Blogger เห็นโอกาส กระโดดจับกระแสที่ทุกคนกำลังสนใจ มาทำ Content ร้านหนังสือเสียเลย เลยก่อให้เกิด Influencer สายอ่านหนังสือและรีวิวร้านหนังสือ
.
ขอยกตัวอย่าง Influencer จีน ในสายนี้ สักคนหนึ่ง
ครูสาวชาวจีน วัย 29 ปี “Bai Yun” เธอทำอาชีพหลักเป็นคุณครูในกรุงปักกิ่ง ให้สัมภาษณ์เผยแพร่บนสื่อ China Daily ว่า
.
เริ่มใช้เวลาว่าง อัดคลิปอ่านหนังสือระยะเวลาคลิปละประมาณ 30 นาที โดยเลือกหนังสือที่น่าสนใจมาอ่าน ทำเช่นนี้ตั้งแต่ปี 2017 ผ่านมาราว 4 ปี เธอมีผู้ติดตามมากถึง 211,000 คน บนแพลตฟอร์มวิดิโอออนไลน์ Bilibili อีกหนึ่งแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่นจีน
.
ปัจจุบัน Influencer สายหนังสือ อย่าง Bai Yun สามารถสร้างรายได้จากสิ่งที่ตนเองรัก คือ “รักการอ่าน” จากการรับรีวิวหนังสือภายใต้ความร่วมมือกับร้านหนังสือและสำนักพิมพ์หลายแห่งในประเทศจีน และยังสามารถต่อยอดไปยังสายอื่นได้อีกด้วย เมื่อเป็นที่รู้จักมากขึ้นแล้ว เช่น สินค้าและบริการแนวไลฟ์สไตล์ เนื่องจากอย่างที่อ้ายจงเล่าไปข้างต้น ร้านหนังสือจีนตอนนี้ ไม่ได้สร้างรายได้จากขายหนังสือเพียงเท่านั้น
#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน #ชีวิตในจีน #การตลาดจีน
ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
แฟนเพจอ้ายจง