ปักกิ่ง, 21 พ.ค. (ซินหัว) — กล้องโทรทรรศน์วิทยุฟาสต์เส้นผ่านศูนย์กลาง 500 เมตร (FAST) ของจีน ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบจานเดี่ยวขนาดใหญ่และว่องไวที่สุดในโลก ตรวจจับพัลซาร์ (pulsar) จำนวน 201 ดวง ซึ่งรวมถึงสัญญาณพัลซาร์ที่เบาบางและพัลซาร์มิลลิวินาที
ผลการวิจัยดังกล่าว จัดทำโดยหอดูดาวแห่งชาติจีน (NAOC) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการวิจัยทางดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ (RAA) เมื่อวันพฤหัสบดี (20 พ.ค.)
ทั้งนี้ พัลซาร์หรือดาวนิวตรอนที่หมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วสูง กำเนิดจากแกนระเบิดซูเปอร์โนวาของดาวฤกษ์มวลมากที่กำลังจะสิ้นอายุขัย โดยปัจจุบันมีการค้นพบพัลซาร์ประมาณ 3,000 ดวง นับตั้งแต่ค้นพบพัลซาร์ครั้งแรกในปี 1968
หานจินหลิน ผู้นำการวิจัยจากหอดูดาวฯ กล่าวว่าพัลซาร์เป็นเทหวัตถุในอวกาศที่มีสนามแม่เหล็กเข้มข้น ความหนาแน่นสูงสุด และหมุนเร็วที่สุดในจักรวาล เหมาะสำหรับใช้ศึกษาแนวคิดกฎฟิสิกส์ในสภาพแวดล้อมสุดขั้ว
ทีมวิจัยเริ่มดำเนินโครงการสำรวจด้วยวิธีถ่ายภาพอย่างรวดเร็ว “กาแลกติก เพลน พัลซาร์ สแนปช็อต” (GPPS) เมื่อต้นปี 2020 และพบว่าสามารถใช้กล้องฟาสต์สำรวจท้องฟ้าที่มองเห็นได้ทั้งหมดบริเวณใกล้ทางช้างเผือกเป็นเวลา 5 นาที
จีนได้ใช้กล้องฟาสต์ที่ถูกขนานนามว่า “ดวงตาจักรวาล” สำรวจพื้นที่ท้องฟ้าที่กำหนดไว้แล้วราวร้อยละ 5 และค้นพบพัลซาร์ 201 ดวง เมื่อนับถึงเดือนมีนาคมปีนี้
ริชาร์ด เอ็น. แมนเชสเตอร์ จากองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) ของออสเตรเลีย กล่าวถึงการค้นพบข้างต้นว่าเป็นผลลัพธ์ช่วงเริ่มต้นโครงการที่น่าประทับใจ
โครงการจีพีพีเอสค้นพบพัลซาร์ประมาณ 40 ดวง ที่มีระยะเวลาในการหมุนน้อยกว่า 30 มิลลิวินาที ซึ่งเป็นกลุ่มพัลซาร์ระดับมิลลิวินาทีที่ถูกค้นพบใหม่
“กล้องฟาสต์ถูกสร้างขึ้นด้วยพันธกิจสำหรับศึกษาวัตถุอัดแน่น (compact object) ในจักรวาลและช่วยให้เราเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับฟิสิกส์พื้นฐานและฟิสิกส์ดาราศาสตร์” จิม คอร์เดส จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ผู้ทบทวนผลการศึกษากล่าว
ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
Xinhua