สำเร็จ! ยานอวกาศจีนลงจอด ‘ดาวอังคาร’ เตรียมสำรวจพื้นผิว | XinhuaThai

(ภาพจากองค์การอวกาศแห่งชาติจีน : ภาพถ่ายพื้นผิวดาวอังคารจากยานสำรวจเทียนเวิ่น-1 ของจีน)

ปักกิ่ง, 15 พ.ค. (ซินหัว) — ช่วงเช้าวันเสาร์ (15 พ.ค.) องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ยืนยันยานลงจอดพร้อมยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำแรกของจีนลงจอดบนดาวอังคารสำเร็จ โดยนับเป็นครั้งแรกที่จีนส่งยานสำรวจลงจอดบนดาวเคราะห์ดวงอื่นนอกจากโลก

“ภารกิจเดินทางสำรวจดาวอังคารประสบความสำเร็จทั้งหมด” จางเค่อเจี่ยน ผู้อำนวยการองค์การฯ ประกาศ ณ ศูนย์ควบคุมการบินและอวกาศปักกิ่ง “นับเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญในการเดินทางสำรวจอวกาศของจีน”

องค์การฯ ประกาศว่ายานอวกาศเทียนเวิ่น-1 ลงจอดบนพื้นที่ลงจอดที่ถูกคัดเลือกล่วงหน้า บริเวณตอนใต้ของยูโทเปีย พลานิเทีย (Utopia Planitia) ที่ราบขนาดมหึมาทางซีกเหนือของดาวอังคาร เมื่อ 07.18 น. ของวันเสาร์ (15 พ.ค.) ตามเวลาปักกิ่ง

(แฟ้มภาพซินหัว : คณะบุคลากรฝ่ายเทคนิคแสดงความดีใจหลังจากยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 ลงจอดบนดาวอังคารสำเร็จ ณ ศูนย์ควบคุมการบินและอวกาศปักกิ่ง กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน วันที่ 15 พ.ค. 2021)

เจ้าหน้าที่ภาคพื้นฝ่ายควบคุมใช้เวลานานกว่าหนึ่งชั่วโมง ถึงจะยืนยันความสำเร็จของการลงจอด โดยต้องรอยานสำรวจพื้นผิวกางแผงโซลาร์และเสาอากาศอัตโนมัติเพื่อส่งสัญญาณหลังลงจอด ซึ่งมีความเหลื่อมของเวลามากกว่า 17 นาที เพราะระยะห่าง 320 ล้านกิโลเมตรระหว่างโลก-ดาวอังคาร

“เทียนเวิ่น-1” (Tianwen-1) ซึ่งประกอบด้วยยานโคจร ยานลงจอด และยานสำรวจพื้นผิว ถูกส่งออกจากศูนย์ปล่อยยานอวกาศเหวินชาง บริเวณริมชายฝั่งมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2020

การส่งยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 นับเป็นย่างก้าวแรกของจีนในการเดินทางสำรวจดาวเคราะห์ของระบบสุริยะ โดยมีเป้าหมายทำการโคจร ลงจอด และสำรวจพื้นผิวดาวอังคารให้เสร็จสมบูรณ์ภายในภารกิจเดียว

เทียนเวิ่นหมายถึง “คำถามต่อสรวงสวรรค์” มาจากบทกวีประพันธ์โดยชวีหยวน กวีจีนโบราณ (ราว 340-278 ปีก่อนคริสตกาล) ส่วนยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารชื่อ “จู้หรง” (Zhurong) เทพแห่งไฟตามตำนานจีนโบราณ พ้องกับ “หั่วซิง” หรือดาวแห่งไฟ ชื่อดาวอังคารในภาษาจีน

เทียนเวิ่น-1 เข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารในเดือนกุมภาพันธ์ หลังท่องอวกาศนานเกือบ 7 เดือน และสำรวจพื้นที่ลงจอดนานกว่า 2 เดือน กระทั่งช่วงเช้ามืดวันเสาร์ (15 พ.ค.) เทียนเวิ่น-1 เริ่มลดตัวจากวงโคจรพักรอ และแคปซูลยานลงจอด-ยานสำรวจพื้นผิวแยกตัวจากยานโคจรตอน 04.00 น.

หลังจากบินอยู่ราว 3 ชั่วโมง แคปซูลดังกล่าวพุ่งทะยานเข้าสู่ชั้นบรรยากาศดาวอังคาร ณ ระดับความสูง 125 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นขั้นตอนที่มีความเสี่ยงมากที่สุดของภารกิจสำรวจดาวอังคารครั้งแรกนี้

แคปซูลที่ถูกออกแบบพิเศษตามหลักอากาศพลศาสตร์ ชะลอตัวตามแรงเสียดทานของชั้นบรรยากาศดาวอังคาร เมื่อความเร็วลดจาก 4.8 กิโลเมตรต่อวินาทีเหลือราว 460 เมตรต่อวินาที ร่มยักษ์ใหญ่ราว 200 ตารางเมตร ได้กางออกเพื่อลดความเร็วจนต่ำกว่า 100 เมตรต่อวินาที

ต่อจากนั้นร่มชะลอความเร็วและเกราะนอกของแคปซูลถูกสลัดทิ้ง จรวดถอยหลังของยานลงจอดเริ่มทำงานเพื่อชะลอความเร็วของแคปซูลจนเกือบเป็นศูนย์ โดยแคปซูลบินเหนือพื้นผิวดาวอังคารราว 100 เมตร เพื่อตรวจสอบสิ่งกีดขวางและวัดความลาดชันของพื้นผิว

สุดท้ายแคปซูลยานลงจอดและยานสำรวจพื้นผิวเลือกพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบและลดตัวอย่างเชื่องช้าพร้อมกางขารับน้ำหนัก 4 ข้าง ลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารอย่างปลอดภัย

(แฟ้มภาพซินหัว : คณะบุคลากรฝ่ายเทคนิคแสดงความดีใจหลังจากยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 ลงจอดบนดาวอังคารสำเร็จ ณ ศูนย์ควบคุมการบินและอวกาศปักกิ่ง กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน วันที่ 15 พ.ค. 2021)

เกิ่งเหยียน เจ้าหน้าที่ศูนย์สำรวจดวงจันทร์และโครงการอวกาศ สังกัดองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) เผยว่าการเดินทางผ่านชั้นบรรยากาศดาวอังคารโดยไม่มีการควบคุมจากภาคพื้น ใช้เวลานานราว 9 นาที และมีความสลับซับซ้อนอย่างมาก

“แต่ละขั้นตอนมีโอกาสเพียงครั้งเดียว ทุกปฏิบัติการมีผลเกี่ยวโยงกัน หากเกิดความผิดพลาดใดๆ ขึ้นมา การลงจอดก็ล้มเหลว” เกิ่งกล่าว

ด้านยานโคจรที่มีอายุการใช้งานออกแบบนาน 1 ปีดาวอังคาร (ราว 687 วันบนโลก) ทะยานกลับสู่วงโคจรพักรอหลังแยกตัวจากแคปซูลยานลงจอดและยานสำรวจพื้นผิว เพื่อช่วยเหลือการสื่อสารระหว่างยานลงจอดและโลก

เกิ่งอธิบายว่ายานสำรวจพื้นผิว “จู้หรง” จะใช้เวลาอีก 7-8 วัน ตรวจตราสภาพแวดล้อมโดยรอบและดำเนินการตรวจสอบการทำงานของยานก่อนจะเคลื่อนลงจากยานลงจอดสู่พื้นผิวดาวอังคาร

ยานสำรวจพื้นผิวจู้หรง ขนาด 6 ล้อ น้ำหนัก 240 กิโลกรัม ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ มีรูปลักษณ์คล้ายผีเสื้อสีน้ำเงิน และอายุการใช้งานอย่างน้อย 90 วันดาวอังคาร (ราว 3 เดือนบนโลก)

ทั้งนี้ จีนได้ก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียด้วยเสาอากาศเส้นผ่านศูนย์กลาง 70 เมตร ณ เขตอู่ชิง เทศบาลนครเทียนจินทางตอนเหนือของประเทศ เพื่อรับข้อมูลจากภารกิจเดินทางสำรวจดาวอังคาร

“ภาพที่ยานโคจรส่งกลับมาก่อนหน้านี้ แสดงปล่องภูเขาไฟขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางราว 620 เมตร ใกล้กับพื้นที่ลงจอดของยานอวกาศ” จ้าวซู วิศวกรอาวุโสของหอสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์แห่งชาติ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) กล่าว

หวังชวง หนึ่งในนักออกแบบยานอวกาศจากสถาบันเทคโนโลยีอวกาศแห่งชาติจีน เผยว่ากล้องบนยานโคจรได้บันทึกภาพที่มีความละเอียดราว 0.7 เมตร ซึ่งแสดงพื้นที่ลงจอดที่ถูกคัดเลือกไว้มีภูมิประเทศซับซ้อน ทั้งหินและปล่องภูเขาไฟมากกว่าที่คาดการณ์

ขอบคุณที่มาของข้อมูล :

Xinhua

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]