สอนให้ตรงกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน หนึ่งในเบื้องหลังสำคัญทำให้สายเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ในจีนกำลังเติบโตอย่างมาก
.
ตอนสมัยใช้ชีวิตในประเทศจีน หลักๆอ้ายจงอยู่จีนในฐานะนักศึกษาต่างชาติและสอนในจีน จริงๆต้องบอกว่า เป็น TA ผู้ช่วยสอน แต่ได้รับโอกาสดีจากอาจารย์ที่ปรึกษาให้ได้สอนจริงๆแบบออกแบบคอร์ส จัดการเนื้อหาทั้งหมดทั้งวิชา เป็นระยะเวลาประมาณ 2ปีครึ่ง (5 เทอม) เนื่องจากอยากให้โอกาสอ้ายจงได้ฝึกประสบการณ์ของตนเอง ทั้งด้านการสอน และการทำวิจัย โดยวิชาที่ได้รับผิดชอบ จะเป็นวิชาที่เราใช้ในการวิจัยนั่นแหล่ะ ยิ่งสอน ยิ่งเข้าใจในสิ่งที่กำลังทำมากขึ้น
.
อ้ายจงสอนวิชา Intro to data structure and algorithm Machine learning (Learning from Data) และ Wireless network security (สอนร่วมกับอาจารย์ชาวจีน อ้ายจงสอนเฉพาะพาร์ทพื้นฐานทั่วไปและ Computational Trust Models) เป็นหลัก แต่เนื้อหาจะเน้นพื้นฐาน เพื่อนำไปปรับประยุกต์ได้สำหรับการวิจัยในสาย Wireless network security
.
นักศึกษาเรียน จะเป็นนักศึกษาชาวจีน ที่จบระดับปริญญาตรีทางด้านคณิตศาสตร์ สถิติ แต่มาเรียนต่อในสายวิศวคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม อาจารย์ที่ปรึกษาและอาจารย์ในแลปวิจัยทางสายนี้ จึงกำหนดให้คนที่ไม่ได้มาจากสายคอม แต่มีความสามารถทางด้านตรรกะ การคิดเชิงคณิตศาสตร์ เรียนวิชาพวกนี้ปูพื้น
.
มหาวิทยาลัยที่อ้ายจงเรียนและสอน ณ ขณะนั้น สำหรับวิชาในคลาสปริญญาโทและปริญญาเอก จะฟรีสไตล์เป็นอย่างมาก อาจารย์ที่ปรึกษาจะเป็นคนกำหนดให้ว่า “ให้เรียนวิชาอะไร?” หรือ “ให้เปิดสอนวิชาอะไร?” ดูจากสิ่งที่ต้องใช้ในการทำวิจัย และดูเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นในโลก
.
อย่างวิชา Machine learning: Learning from Data อ้ายจงเริ่มสอนครั้งแรกในปี 2014 โดยเน้นพื้นฐานเกี่ยวกับ Machine learning นำไปใช้เกี่ยวกับการเรียนรู้จากข้อมูล ซึ่งนำไปใช้ได้ในสายวิจัยและงานต่างๆ อย่าง ในเวลานั้น Data science ที่เริ่มเป็นที่สนใจในจีน และ ทางแลป ต้องการบูรณาการ Data science มาในสาย Wireless networks โดยสองเทอมแรก สอนเฉพาะนักศึกษาจีน แต่หลังๆมา เปิดคลาสสำหรับนักศึกษาต่างชาติในระดับปริญญาโทด้วย
.
ประสบการณ์ในการสอน บอกเลยว่า เปิดโลกและเป็นส่วนสำคัญทำให้อ้ายจงยังคงมุ่นมั่นอยากทำงานในสายการสอนต่อไป มันมีหลายครั้งเลยในช่วงที่สอนในจีน ที่มีการถกในชั้นเรียนอย่างดุเดือดในชั้นเรียน โดยเฉพาะคลาสต่างชาติ ที่นศ.หลายคนก็เป็นอาจารย์และมาเรียนต่อ มันเลยเป็นช่วงเวลาที่ได้แลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็น ทั้งผู้สอนและผู้เรียน
.
ตอนสอนแรกๆ ยอมรับว่าประหม่า และก็ไม่เคยมั่นใจว่าตนเองจะทำได้ (ด้วยเหตุนี้อาจารย์ที่ปรึกษาเลยผลักดันให้เราได้ลองสอน) มันจึงมีโมเม้นสอนผิดสอนถูก แต่การอยู่จุดนั้น จุดที่ทุกคนถกกันด้วยเหตุผล มันทำให้เราเป็นคนกล้ายอมรับตรงๆว่า เราผิดเองนะ อ้ายจงเคยโดนนักศึกษาต่างชาติออกมาหน้ากระดานแล้วเขียนแก้ให้ด้วยนะ
นี่แหล่ะถึงมีคำกล่าว “ผิดเป็นครู”
.
นอกจากมหาวิทยาลัยของอ้ายจงในตอนนั้น ยังทราบมาว่า หลายมหาวิทยาลัยในจีน รวมถึงประเทศต่างๆ และไทยเอง ก็มีการจัดการเรียนการสอนแบบที่กล่าวมาข้างต้นเช่นกัน “ให้ผู้เรียน เรียนในสิ่งที่ต้องใช้จริง” ทั้งคลาสในมหาวิทยาลัยและคลาสแบบออนไลน์ แม้ในระดับประถมเอง จีนก็เริ่มบรรจุวิชาทาง AI และการเขียนโปรแกรมเบื้องต้นให้เด็กได้เริ่มเรียนแล้ว เนื่องจากทั่วโลกและจีน กำลังเน้นเทคโนโลยี ถือเป็นเทรนด์โลกนั่นเอง
#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน #ชีวิตในจีน
ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
แฟนเพจอ้ายจง