• คลังความรู้
  • /
  • บทความ
  • /
  • #ซินเจียง #ประวัติศาสตร์ #เฉียนหลงฮ่องเต้ ราว 3,500 ปีก่อน สมัยราชวงศ์เซี่ย (夏朝)…

#ซินเจียง #ประวัติศาสตร์ #เฉียนหลงฮ่องเต้ ราว 3,500 ปีก่อน สมัยราชวงศ์เซี่ย (夏朝)…

#ซินเจียง #ประวัติศาสตร์ #เฉียนหลงฮ่องเต้ ราว 3,500 ปีก่อน สมัยราชวงศ์เซี่ย (夏朝) ซึ่งเป็นราชวงศ์แรกของจีนถูกโค่นล้ม ทหารของเซี่ยที่รอดจากสงครามส่วนหนึ่ง พาครอบครัวอพยพไปภาคเหนือของจีนที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล คนกลุ่มนี้แต่งงานกับชนเผ่าต่างๆ ในบริเวณนี้ มีทั้งชาวมองโกล ชาวผิวขาวจากเอเชียกลาง ตลอดจนชนเผ่าอื่นๆที่ขี่ม้าเร่ร่อนไปทั่ว เมื่อความรู้ความสามารถของชาวจีน ผสมผสานเข้ากับความแข็งแกร่งของร่างกายและความกล้าหาญชาญชัยของชนเผ่าบนหลังม้า ทำให้เติบโตเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งที่สุดในภาคเหนือของจีน โดยใช้ชื่อว่า “ซยงหนู” (匈奴 Xiongnu) จนได้สร้างประเทศที่ใช้ระบบทาสขึ้นมา ควบคุมพื้นที่กว้างใหญ่ในภาคเหนือและภาคตะวันตกของจีน ซึ่งรวมถึงทุ่งหญ้ามองโกล เขตซินเจียงในปัจจุบันและเอเชียกลาง

เท่านั้นยังไม่พอ กองทัพซยงหนูได้รุกคืบไปภาคตะวันออกอยู่เนืองๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ภายใต้การปกครองของราชวงส์ฮั่นตะวันตก (西汉) จักรพรรดิฮั่นอวู่ตี้เป็นกษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ จึงทรงยกทัพไปสู้รบกับซยงหนู หลังสงครามที่มีการสู้รบกันอย่างดุเดือดเป็นเวลานานกว่า 10 ปี จึงสยบซยงหนูได้ ปี 102 ก่อนค.ศ. ได้ตั้งรัฐบาลรักษาความมั่นคงเขตภาคตะวันตก (西域都护府) ในท้องถิ่น ทำให้ซินเจียงเข้าอยู่ในแผนที่จีนตั้งแต่นั้นมา

ทหารซยงหนูส่วนหนึ่งยอมจำนน อีกส่วนหนึ่งหนีไปยังยุโรปตะวันออก ระหว่างทางมีการสู้รบกับทหารของเมืองหรือประเทศที่ผ่านโดยตลอด สุดท้ายไปหยุดอยู่ที่ประเทศฮังการีในปัจจุบัน

หลังซยงหนูถูกถล่ม ชนเผ่าต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การปกครองของซยงหนู ก็กลับสู่สภาพเดิมที่ต่างคนต่างอยู่ ในจำนวนนี้ ชนเผ่าเติร์ก ที่มีบรรพบุรุษมาจากเทือกเขาอัลไต (Altai Mountains) ที่เป็นเชื้อสายมองโกลหรือชาวผิวเหลือง เติบโตขึ้นมาเป็นชนเผ่าที่เข้มแข็งในภาคตะวันตกของจีน

ตั้งแต่ปีค.ศ. 540 คำว่า “เติร์ก” เริ่มมีการบันทึกในหนังสือประวัติศาสตร์จีน ชนเผ่าเติร์กมีชัยชนะในสงครามระหว่างชนเผ่าหลายครั้ง และสร้างก๊กเติร์กในปีค.ศ. 552 และสั่งให้หลายชนเผ่าที่อยู่ภายใต้การปกครองรวมถึงชนเผ่าอุยกูร์ต้องพูดภาษาเติร์ก

ในช่วงเดียวกันนั้นถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนยุคสมัยของจีนอย่างต่อเนื่อง ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (东汉) ถูกโค่นล้ม จีนเข้าสู่ยุคสามก๊ก ต่อจากนั้นก็มาถึงสมัยราชวงศ์ถัง สงครามกลางเมืองที่เกิดบ่อยครั้ง ทำให้รัฐบาลกลางไม่สามารถส่งทหารไปรักษาภาคตะวันตกได้อีกต่อไป

หลังปีค.ศ. 583 ก๊กเติร์กมีเหตุการณ์แย่งชิงอำนาจภายในหมู่เชื้อพระวงศ์ และแตกแยกเป็นก๊กเติร์กตะวันออกกับก๊กเติร์กตะวันตก

ชนเผ่าอุยกูร์ไม่สามารถอดทนต่อการปกครองที่โหดร้ายของชาวเติร์กได้ จึงไปติดต่อกับจักรพรรดิราชวงศ์ถัง(唐朝)ในเวลานั้นว่า ยอมสวามิภักดิ์ร่วมมือกับทหารของราชวงศ์ถังเพื่อถล่มก๊กเติร์ก ในสมัยนั้น ไม่มีรถไฟความเร็วสูง ไม่มีระบบ GPS การยกทัพจากภาคกลางของจีนไปยังภาคตะวันตก ทหารต้องเดินด้วยเท้าระยะทางหลายพันกิโลเมตร สิ่งที่อันตรายที่สุดระหว่างการเดินทางคือขาดแคลนน้ำ เพราะอากาศแห้งมาก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ถ้าไม่มีทหารหรือชาวท้องถิ่นมานำทาง อาจจะหิวน้ำตายทั้งหมด

ปีค.ศ.629 จักรพรรดิถังไท่จง (唐太宗) เห็นว่ากำลังประเทศฟื้นฟูแล้ว มีกำลังรบพอเพียง จึงทรงตัดสินพระทัยร่วมมือกับทหารชนเผ่าอุยกูร์ ปี 630 ได้ยกทัพถล่มก๊กเติร์กตะวันออก และปีค.ศ. 657 ถล่มก๊กเติร์กตะวันตก

หลังแพ้สงคราม ชาวเติร์กส่วนหนึ่งอพยพไปทางทิศตะวันตก ระหว่างการเดินทาง มีกลุ่มคนที่เดินไม่ไหว ก็เลยหยุดและอาศัยในเขตนั้น กลุ่มสุดท้ายเดินทางไปถึงตุรกี และแต่งงานกับชาวท้องถิ่นดั้งเดิม ปัจจุบันในโลก มีหลายชนเผ่าที่พูดภาษาที่มีรากฐานมาจากภาษาเติร์ก อย่างเช่น ตุรกี คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถานและอาเซอร์ไบจัน เป็นต้น ทั่วโลกมีคนพูดภาษาเติร์กกว่า 180 ล้านคน ชาวตุรกีที่ไปซินเจียง อยู่ไม่ถึงเดือน ก็จะสามารถพูดคุยกับชาวอุยกูร์ได้อย่างสบาย

หลังสงครามถล่มก๊กเติร์กตะวันออกและก๊กเติร์กตะวันตก จักรพรรคแห่งราชวงศ์ถังมีพระบรมราชโองการให้ตั้งรัฐบาลอันซีเพื่อรักษาความมั่นคงเขตภาคตะวันตก (安西都护府Anxi Protectorate) ส่วนชนเผ่าอุยกูร์ในสมัยนั้น ได้ร่วมมือกับชนเผ่าสำคัญหลายชนเผ่าในเขตภาคตะวันตกของจีน สร้างรัฐบาลปกครองตนเองภายใต้อำนาจรัฐของพระจักรพรรดิราชวงศ์ถัง

หลังสมัยราชวงศ์ถัง จีนมีอีกหลายราชวงศ์คือ ซ่ง เหลียว จิน หยวน หมิง และชิง การแย่งชิงอำนาจรัฐที่ดุเดือดและต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน ทำให้อำนาจบริหารในเขตซินเจียงอ่อนแอมาก จนกระทั่งถูกกลุ่มชนชั้นเศรษฐีในซินเจียงโค่นล้ม

จนถึงสมัยราชวงศ์ชิง ปีค.ศ. 1688 จักรพรรดิคังซีทรงตัดสินพระทัยรวมเขตภาคตะวันตกให้เป็นเอกภาพ จึงยกทัพไปปราบปรามกลุ่มกบฏในเขตภาคตะวันตกของจีน สงครามครั้งนี้สิ้นสุดลงในปีค.ศ. 1758 ซึ่งตรงกับรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง ( ราชวงศ์ที่ 6乾隆) พระองค์พระราชทานชื่อให้เขตนี้ว่า “ซินเจียง” (新疆) แปลว่า แผ่นดินใหม่ของราชอาณาจักร และจัดตั้งรัฐบาลบริหารระดับมณฑลที่สมบูรณ์แบบขึ้นในเขตนี้

นอกจากนั้น แต่ก่อนชาวอุยกูร์ในภาษาจีนใช้คำว่า “หุยหู” (回鹘) เฉียนหลงฮ่องเต้ทรงเห็นว่าคำนี้ไม่เพราะ จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่า “เหวยอู๋เอ่อ” (维吾尔) ซึ่งมีความหมายดีที่แปลความได้ว่า “รักษาความสามัคคีระหว่างผมกับคุณ” ซึ่งคำนี้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

ซินเจียงมีพื้นที่ 1.66 ล้านตารางกิโลเมตร มากเป็น 7 เท่าของประเทศอังกฤษ แต่ประชากรน้อยมาก หนังสือประวัติศาสตร์จีนมีการจารึกว่า รัฐบาลสมัยราชวงศ์ชิงส่งเสริมให้ชาวอุยกูร์ในเขตภาคใต้ซินเจียงอพยพไปบุกเบิกเขตภาคเหนือของซินเจียง จนกระจายไปทั่วทุกหมู่บ้านและอำเภอของซินเจียง นอกจากนั้น ยังรณรงค์ให้ชนเผ่าอื่นๆ ย้ายถิ่นไปบุกเบิกพัฒนาซินเจียงด้วย ทำให้ประชากรในซินเจียงเพิมขึ้นอย่างรวดเร็ว จนถึงช่วงปลายสมัยราชวงศ์ชิง เขตซินเจียงมีประชากรเพิ่มขึ้นถึง 1.57 ล้านคน
รายงานการวิเคราะห์สภาพการเปลี่ยนแปลงประชากรชาวอุยกูร์ฉบับล่าสุดปรากฏว่า ปี 2018 จำนวนประชากรชาวอุยกูร์ในซินเจียงมี 12.72 ล้านคน เพิ่มขึ้น 25.04% เมื่อเทียบกับปี 2010 ทั้งนี้ เป็นเพียงเหตุการณ์สำคัญส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับซินเจียง หวังว่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มความรู้ในด้านนี้ได้บ้าง โปรดกดไลค์ กดติดตามและแชร์กับเพื่อนๆ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์และทำความเข้าใจกันมากขึ้น หากมีโอกาส อย่าลืมไปเที่ยวซินเจียงนะคะ ไปเองหรือซื้อทัวร์ แล้วแต่ชอบค่ะ รับรองว่า ไม่ผิดหวังแน่ๆ





ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
ลึกชัดกับผิงผิง

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]