ชี้แจงความจริง กรณีเริ่มมีการส่งข้อมูลการป้องกันโควิด โดยอ้างถึง ดร.จง จากจีน และหลายเรื่องที่เคยมีการยืนยันแล้วว่า “ปลอม”
.
ช่วงนี้ประเทศไทยเรากลับมาพบเคสผู้ป่วย COVID-19 ภายในประเทศอีกครั้ง ทำให้เริ่มมีการส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับโควิดเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็มีจำรนวนไม่น้อยที่อาจเป็นข้อมูลเท็จนะครับ โดยควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อน หลายเรื่องมีการตรวจสอบและมีการยืนยันออกมาแล้วว่าเป็น “เท็จ” ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563) แต่ก็ถูกนำกลับมาเปลี่ยนคำ แก้ไขเพิ่มเติมนิดหน่อย และส่งต่อในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะกลุ่มแชท LINE
.
อย่างเช่น ภาพที่อ้ายจงนำมาให้ทุกคนดูในโพสต์นี้ อ้ายจงได้รับข้อความที่ส่งต่อมาในกลุ่ม LINE ญาติพี่น้องของอ้ายจงเอง (ญาติๆที่อาจผ่านมาเห็น อย่าสาปแช่งผมเน้อ ผมแค่เอามาเล่าต่อเป็นอุทาหรณ์ 😀 )
.
คืองี้ครับ จากภาพอันนี้ ถ้า “ดร.จง” ในข้อความ เป็นการอ้างถึง “นายแพทย์จงหนานซาน” นายแพทย์คนดังผู้เป็นดั่งแม่ทัพในการต่อสู้กับ COVID-19 ในประเทศจีน อ้ายจงคงต้องบอกว่าข้อมูลที่อ้างถึงตงจะเป็นข้อมูลเท็จนะ
.
เพราะเท่าที่ค้นหาข้อมูลจากข่าวจีนทั้งออนไลน์และออฟไลน์ นายแพทย์จงหนานซาน ไม่เคยแนะนำในเรื่อง “อาบน้ำด้วยน้ำร้อน 41 องศาเซลเซียส แล้วจะสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิดได้” ประเด็นนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็เคยชี้แจงตั้งแต่ปี 2563 นะ ว่าไม่เป็นความจริง เพราะถ้าต้องอาบน้ำร้อนเพื่อฆ่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เราต้องใช้อุณหภูมิสูงกว่า 70 องศาเซลเซียสด้วยซ้ำ
.
สำหรับเรื่อง “ตากแดดกลางแจ้ง เพื่อรับวิตามินดี รวมถึงกินวิตามินดีโดยตรง จะได้ห่างไกลจากโควิด” อันนี้เท่าที่เคยอ่านข้อมูลทางการแพืย์จากทั้งคุณหมอในไทยและต่างประเทศ รวมถึงจากการเรียนสปช. และวิชาวิทย์ต่างๆ ตั้งแต่วัยเด็ก พอจะจำได้ว่า การตากแดดและเสริมวิตามินดีเพื่อทำให้ร่างกายมีสุขภาพดีแข็งแรงขึ้น
.
และแม้ว่ามีบางงานวิจัยพบว่าผู้ป่วยโควิดหลายคนในสเปนมีภาวะขาดวิตามินดี แต่ก็ยังไม่มีการยืนยันทางการแพทย์โดยตรงว่าการกินวิตามินดีอย่างเดียวช่วยรักษาโควิดได้
.
ดังนั้นการตากแดดรับวิตามินดี หรือการกินวิตามินดีนั้น
ควรจะเป็นไปอย่างเหมาะสมตามที่ร่างกายปกติควรได้รับ ไม่ใช่ตะบี้ตะบันตากแดดเป็นเวลานาน และกินวิตามินดีแบบไม่ยั้งมือ และควรจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ด้วย
.
อีกกรณีหนึ่ง “บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ น้ำยาบ้วนปาก น้ำชา น้ำผสมเบตาดีน เพื่อฆ่าเชื้อโควิด” อันนี้ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย (www.antifakenewscenter.com) ก็เคยออกมาชี้แจงตั้งแต่ 17มี.ค.2563 ว่า เป็นข่าวปลอม
.
และเรื่องน้ำผสมเบตาดีนเนี่ย อ้ายจงคาดว่าคงเป็นการตัดมาจากข่าวของญี่ปุ่นในช่วงที่เกิดการระบาดเมื่อปีก่อน ซึ่งได้มีการแก้ข่าวออกมาในหน้าสื่อญี่ปุ่น ณ ตอนนั้นแล้วว่า “ไม่มีหลักฐานใดๆยืนยันถึงการฆ่าเชื้อโควิดด้วยการบ้วนปากหรือกลั้วคอด้วยเบนาดีนเจือจางในน้ำ”
#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน #ชีวิตในจีน
ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
แฟนเพจอ้ายจง