1. การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ครั้งที่สองในกรุงปักกิ่ง
ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ประชาชนในกรุงปักกิ่งเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ บางส่วนเริ่มไม่สวมใส่หน้ากากเมื่อเดินทางออกมาภายนอกบ้าน และวางแผนจองโรงแรมที่พักสำหรับวันหยุดเทศกาล แต่ชาวปักกิ่งก็ต้องกลับมาใช้ชีวิตอย่างหวาดระแวงอีกครั้ง หลายคนยกเลิกแผนการท่องเที่ยว และเริ่มกักตุนอาหารอีกครั้ง เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563 กรุงปักกิ่งพบผู้ป่วยติดเชื้อในเมืองเป็นครั้งแรก หลังไม่มีการพบผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 56 วัน
การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในครั้งนี้เกิดขึ้นที่ตลาดซินฟาตี้ ตลาดค้าส่งสินค้าอาหารขนาดใหญ่ของกรุงปักกิ่ง ซึ่งขายผักผลไม้คิดเป็นปริมาณการบริโภคของประชาชนในปักกิ่ง ร้อยละ 80 และขายเนื้อสัตว์และอาหารทะเลคิดเป็นปริมาณการบริโภคของประชาชนในปักกิ่ง ร้อยละ 10 ตลาดแห่งนี้มีผู้คนเข้าออกเฉลี่ยมากถึงวันละ 50,000 คนต่อวัน ทำให้มีความวิตกกังวลว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกสอง
หลังจากเข้าตรวจสอบพื้นที่ตลาดซินฟาตี้ ทางการจีนชี้แจงว่า พบเชื้อไวรัสบนเขียงปลาแซลมอน ซึ่งเชื้อไวรัสที่พบเป็นสายพันธุ์เดียวกันกับที่พบในยุโรป สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนที่รับประทานอาหารทะเลและสินค้านำเข้าเป็นอย่างมาก ภายหลังศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติจีน (CDC) แถลงการณ์ว่าความเป็นไปได้ที่ปลาจะติดไวรัส COVID-19 ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากปลาไม่ใช่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและไม่มีอวัยวะที่จะติดไวรัสชนิดนี้ จึงคาดว่าการแพร่ระบาดในครั้งนี้อาจเกิดจากสองกรณี คือ เกิดการแพร่เชื้อจากคนสู่คนที่ไปเดินตลาด หรือจากผู้ป่วยติดเชื้อนอกประเทศแพร่เชื้อลงบนเนื้อสัตว์หรือบรรจุภัณฑ์ก่อนการนำเข้า ทั้งนี้ ลักษณะสายพันธุ์ของไวรัสซึ่งตรงกับไวรัสที่พบในยุโรป ไม่ได้หมายความว่าไวรัสจะมีที่มาจากการนำเข้าสินค้าจากยุโรป เนื่องจากเชื้อไวรัสที่พบในผู้ป่วยทางตอนเหนือของจีนซึ่งติดกับประเทศรัสเซียเองก็มีลักษณะสายพันธุ์ของไวรัสที่พบในยุโรป จึงมีความเป็นไปได้ที่ไวรัสอาจแพร่มาจากช่องทางอื่น
หลังตรวจพบผู้ป่วยกลุ่มแรก ทางการจีนเร่งตรวจเชื้อเชิงรุกในกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย บุคคลที่เคยเดินทางไปตลาดซินฟาตี้ในช่วงที่เกิดการแพร่เชื้อ รวมถึงเข้าตรวจสอบตลาดแห่งอื่นทั่วกรุงปักกิ่ง สั่งปิดชุมชน 21 แห่งรอบตลาดเพื่อตรวจเชื้อในบุคคลที่อาศัยอยู่ในชุมชนโดยรอบตลาดแห่งนี้ รวมถึงบุคคลที่ทำงานในภาคบริการต่าง ๆ เช่น ธนาคาร บริการคมนาคม ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย บริการรับส่งของ และงานสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น
ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นกรุงปักกิ่งได้ประกาศสั่งให้หยุดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาทุกชนิด เลื่อนการเปิดเรียนของนักเรียนบางส่วน เลื่อนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนบางพื้นที่ สั่งปิดมหาวิทยาลัยทุกแห่ง ห้ามการร่วมมื้ออาหาร ปิดสถานที่ท่องเที่ยว และห้ามนำเข้าเนื้อสัตว์และอาหารทะเล เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส และตามหาผู้ป่วยติดเชื้อทั้งที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการ โดยในช่วงปลายเดือนมิถุนายน รัฐบาลท้องถิ่นกรุงปักกิ่งได้ตรวจเชื้อไวรัสให้กับนักเรียน นักศึกษาและบุคลากรรวมกว่า 100,000 คน ในมหาวิทยาลัยกว่า 100 แห่งทั่วปักกิ่ง และตรวจเชื้อให้แก่ประชาชนไปแล้วกว่า 7 ล้านคน โดยพบผู้ป่วยติดเชื้อกว่า 300 ราย
แม้ทางการจีนจะดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว แต่มีการกระจายของเชื้อไปสู่หลายเมืองในมณฑลเหอเป่ยและอีกหลายมณฑล ซึ่งนำไปสู่การปิดเมืองและยกเลิกการเดินทางระหว่างเมืองทางรถสาธารณะ ในพื้นที่ตอนใต้ เช่น เมืองเฉิงตูในมณฑลเสฉวน และเมืองเซี่ยเหมินในมณฑลฝูเจี้ยน ทางตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น เมืองต้าชิ่งในมณฑลเฮยหลงเจียง มณฑลเหลียวหนิง รวมถึงเมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งล้วนประกาศให้บุคคลซึ่งเดินทางมาจากกรุงปักกิ่งหรือเคยเดินทางไปที่ตลาดซินฟาตี้ กักตัวเป็นเวลา 14 วัน โดยเมืองต้าชิ่งประกาศให้กักตัวถึง 21 วันเพื่อสังเกตอาการ ในขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นเมืองเซี่ยงไฮ้ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบตลาดนำเข้าสินค้ากว่า 87 แห่งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดดังที่เกิดขึ้นในกรุงปักกิ่ง
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ครั้งที่สองในกรุงปักกิ่ง แม้จะมีศูนย์กลางเป็นตลาดค้าส่งอาหารขนาดใหญ่ดังที่เคยเกิดขึ้นในเมืองอู่ฮั่น แต่ในครั้งนี้รัฐบาลจีนเลือกปิดพื้นที่บางส่วน เฉพาะศูนย์กลางการแพร่ระบาดและพื้นที่โดยรอบ แตกต่างจากการเลือกปิดทั้งเมืองเมื่อเกิดการแพร่ระบาดในเมืองหรือมณฑลอื่น ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจเกิดการหยุดชะงัก สาเหตุหลักคือ ขนาดเศรษฐกิจของกรุงปักกิ่งนั้นใหญ่กว่าเมืองอู่ฮั่นและเมืองอื่น ๆ เป็นอย่างมาก หากมีการสั่งปิดกรุงปักกิ่งอีกครั้งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง และยังขัดกับนโยบายที่ส่งเสริมให้ประชาชนเปิดเรียน และกลับมาทำงานตามปกติ
ในภาพรวมนับว่าจีนสามารถควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดระลอกสองได้อย่างรวดเร็ว การตรวจหาผู้ป่วยติดเชื้อต่อวันทำได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ มีผู้ป่วยติดเชื้อเพียงหลักร้อยคน การนำเทคโนโลยีที่ใช้ในการตรวจหาผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยมาใช้ ได้ช่วยลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อโดยผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ แสดงให้เห็นว่ามาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่เข้มงวดของประเทศจีนมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าในอดีต
2. ความก้าวหน้าการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19
ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563 มีประเทศที่กำลังพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัส COVID-19 ทั้งสิ้นกว่า 30 ประเทศทั่วโลก โดยมีวัคซีนที่เข้าสู่ขั้นตอนทดลองในมนุษย์ (Clinical Phase) แล้วทั้งสิ้น 17 โครงการ ในขณะที่อีก 132 โครงการยังคงอยู่ในขั้นตอนวิจัยและทดลองในสัตว์ (Preclinical Phase)
วัคซีนที่เข้าสู่การทดลองในมนุษย์ระยะที่ 3 แล้วมีเพียงโครงการเดียว คือ ChAdOx1-S พัฒนาโดยมหาวิทยาลัย Oxford ร่วมกับบริษัท AstraZeneca ซึ่งกำลังจะทำการทดลองในระยะที่สามเพิ่มเติมกับอาสาสมัครจำนวน 2,000 คนในประเทศบราซิล ในขณะที่บริษัท Moderna ผู้วิจัยวัคซีน COVID-19 ที่มีฐานการผลิตอยู่ที่รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังทดลองในมนุษย์ระยะที่ 2 ได้วางแผนจะทำการทดลองวัคซีนระยะที่ 3 ในสหรัฐฯ กับอาสาสมัครจำนวน 30,000 คน
กว่าครึ่งหนึ่งของวัคซีนที่อยู่ในขั้นตอนทดลองในมนุษย์ เป็นโครงการซึ่งถูกพัฒนาโดยหน่วยงานในประเทศจีนหรือพัฒนาร่วมระหว่างจีนและต่างชาติ รวม 9 โครงการ โดยมีวัคซีน 4 โครงการที่เสร็จสิ้นการทดลองในมนุษย์ระยะที่ 2 และกำลังจะเข้าสู่การทดลองในมนุษย์ระยะที่ 3 ประกอบด้วย วัคซีน Ad5-nCoV ประเภท Non-replicating Viral Vector พัฒนาโดย Cansino Biologics ร่วมกับ People’s Liberation Army (PLA) Academy of Military Sciences และวัคซีนประเภทเชื้อตาย (Inactivated Vaccine) อีก 3 โครงการ ซึ่งพัฒนาโดย Sinovac Biotech หนึ่งโครงการ และอีกสองโครงการของสถาบันวิจัยผลิตภัณฑ์ชีวภาพอู่ฮั่น (Wuhan Institute of Biological Products) และสถาบันวิจัยผลิตภัณฑ์ชีวภาพปักกิ่ง (Beijing Institute of Biological Products) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยภายใต้บริษัท China National Biotec Group (CNBG) บริษัทลูกของ China National Pharmaceutical Group Corporation (SINOPHARM)
ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน หน่วยงานและสถาบันวิจัยพัฒนาวัคซีนของจีนประกาศว่าวัคซีนข้างต้นทั้ง 4 โครงการ ล้วนมีผลการทดลองที่น่าพึงพอใจ แต่ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลผลการทดลองในมนุษย์ระยะที่ 2 ของแต่ละโครงการ มีเพียงรายงานข่าวว่าเครือ SINOPHARM ได้เตรียมสถานที่ผลิตวัคซีนซึ่งมีกำลังผลิตถึง 200 ล้านโดสต่อปีเพื่อรองรับประชากรในประเทศจีน วัคซีนทั้ง 4 โครงการได้ทำข้อตกลงความร่วมมือในการทดลองวัคซีนในมนุษย์ระยะที่ 3 กับประเทศต่าง ๆ ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนเพียงพอต่อการทดลอง โดยวัคซีน Ad5-nCoV ของ Cansino Biologics จะทดลองในมนุษย์ระยะที่ 3 ในประเทศแคนาดา ในขณะที่บริษัท Sinovac Biotech ได้ทำข้อตกลงกับ Instituto Butantan เพื่อทำการทดลองวัคซีนกับประชาชนในบราซิลจำนวน 9,000 คน และวัคซีนของสถาบันในเครือ SINOPHARM จะทำการทดลองในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ล่าสุดทางการจีนได้อนุมัติวัคซีน Ad5-nCoV ที่ยังคงอยู่ระหว่างขั้นตอนการทดลองในมนุษย์ ให้สามารถใช้ในกองทัพจีนได้แล้ว โดยนายจงหนานซาน หัวหน้าทีมผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขแห่งชาติจีน ได้กล่าวว่า จีนกำลังเร่งพัฒนาวัคซีนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน หากเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ในประเทศจีนอีกครั้ง ทางการจีนอาจจะอนุมัติให้นำวัคซีนจากบางโครงการใช้เป็นกรณีพิเศษในกลุ่มผู้ที่มีโอกาสติดเชื้อสูง โดยคาดว่าเร็วที่สุดจะสามารถนำวัคซีนมาใช้ช่วงเดือนกันยายน
สิ่งที่น่าสนใจคือ เทคโนโลยีการพัฒนาวัคซีนของจีนที่แตกต่างจากโครงการของประเทศอื่น ในช่วงแรกจีนพัฒนาวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated Vaccine) เป็นหลัก ด้วยการเพาะเลี้ยงไวรัสในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์และใช้เคมีภัณฑ์ทำลายความสามารถในการแบ่งตัวของไวรัส จากนั้นจึงฉีดเข้าสู่ร่างกายมนุษย์เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน เทคโนโลยีวัคซีนชนิดเชื้อตายถูกใช้ในการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสตับอักเสบเอ ไข้หวัดใหญ่และโปลิโอ โดยปัจจุบันจีนมีโครงการวัคซีนชนิดเชื้อตาย 4 โครงการที่เข้าสู่ขั้นตอนการทดลองในมนุษย์แล้ว
เทคโนโลยีการพัฒนาวัคซีนชนิดเชื้อตายมีจุดเด่น คือ เป็นเทคโนโลยีที่มีมาตรฐานสากลรองรับ ง่ายต่อการพัฒนา และสามารถผลิตได้ในหลายประเทศเนื่องจากเป็นเทคโนโลยีเก่าซึ่งใช้มาตรฐานร่วมกัน และมีโรงงานที่สามารถผลิตวัคซีนประเภทนี้อยู่หลายแห่งทั่วโลก ทำให้โครงการของจีนส่วนใหญ่จึงเลือกพัฒนาวัคซีนประเภทนี้เป็นอันดับแรกเพื่อเร่งคิดค้นวัคซีนที่สามารถนำมาใช้ได้ในเวลาอันสั้น แล้วจึงทำการพัฒนาวัคซีนชนิดอื่นที่มีประสิทธิภาพมากกว่ามาทดแทนในภายหลัง
แม้วัคซีนชนิดเชื้อตายจะมีขั้นตอนในการพัฒนาที่ง่าย แต่ก็มีข้อเสีย คือ ระยะเวลาการสร้างภูมิคุ้มกันต้านไวรัสที่จำกัด ผู้คนจำเป็นต้องรับวัคซีนชนิดนี้หลายครั้ง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่สูงมากกว่าวัคซีนชนิดอื่น แตกต่างจากวัคซีนชนิด DNA และ RNA ที่ใช้เวลาในการพัฒนาและทดลองนานกว่า แต่จะมีประสิทธิภาพมากกว่า คือ เมื่อได้รับวัคซีนเพียงครั้งเดียว ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต
สำหรับโครงการวิจัยวัคซีนประเภท mRNA ของจีน ยังคงอยู่ในขั้นตอนการทดลองในสัตว์ จากข้อมูลตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Cell นักวิจัย CDC จีน ระบุว่า หนึ่งในโครงการวิจัยวัคซีน mRNA ซึ่งสร้างจากโปรตีนสังเคราะห์ สามารถสร้างภูมิคุ้มกัน (Antibody) ในสัตว์ทดลองทั้งหนูและลิงมากถึง 10-100 เท่าของวัคซีนทั่วไป และสามารถต้านเชื้อไวรัสในตระกูล Coronavirus ที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ หลายชนิด เช่น ไวรัส Mers โดยทีมวิจัยคาดว่าสาเหตุที่วัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิภาพมากกว่าวัคซีนโครงการอื่น เพราะในวัคซีนสร้าง Receptor Binding Domains (RBD) 2 ตัว ที่พบได้บนส่วนประกอบโปรตีนของเชื้อไวรัส แทนที่จะสร้างเพียงตัวเดียวเหมือนวัคซีนโครงการอื่น อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังขาดข้อมูลและองค์ความรู้หลายประการเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และผลการทดลองของวัคซีนดังกล่าวในสัตว์ จึงต้องติดตามผลการทดลองในมนุษย์ในลำดับต่อไป
อ้างอิง
1. Coronavirus: Chinese scientists engineer protein in universal vaccine quest
https://www.scmp.com/news/china/science/article/3091246/coronavirus-chinese-scientists-engineer-protein-universal
2. Who is in the global competition to develop a coronavirus vaccine?
https://www.scmp.com/business/article/3088568/explainer-who-are-global-competition-develop-coronavirus-vaccine
3. China’s military becomes world’s first to use experimental coronavirus vaccine
https://www.scmp.com/news/china/science/article/3091093/chinese-military-approves-use-experimental-coronavirus-vaccine
4. Can China win Covid-19 vaccine race with old school technology?
https://www.scmp.com/news/china/science/article/3089356/can-china-win-covid-19-vaccine-race-old-school-technology
5. Coronavirus vaccine could be ready for emergency use within months, says Chinese expert Zhong Nanshan
https://www.scmp.com/news/china/science/article/3088082/coronavirus-vaccine-could-be-ready-emergency-use-within-months
7. Coronavirus: will vaccine deals lead to poorer countries missing out?
https://www.scmp.com/news/china/society/article/3090460/coronavirus-will-vaccine-deals-lead-poorer-countries-missing-out
8.Chinese Covid-19 Vaccines Cleared for Final Testing in U.A.E.
https://www.caixinglobal.com/2020-06-25/chinese-covid-19-vaccines-cleared-for-final-testing-in-uae-101572101.htm
9.全市和新发地市场相关人员新冠病毒核酸检测情况
http://wjw.beijing.gov.cn/xwzx_20031/wnxw/202006/t20200615_1924869.html
10. 新冠疫情:一天内6人确诊46人检测阳性,北京一城区重启“战时机制”
https://www.bbc.com/zhongwen/simp/53033200
11. 肺炎疫情:北京新发地市场群体感染会复制武汉爆发吗
https://www.bbc.com/zhongwen/simp/chinese-news-53049358
12. Beijing battles ‘explosive coronavirus outbreak’ as food market cases mount
https://www.scmp.com/news/china/society/article/3089042/coronavirus-beijing-market-outbreak-cases-rise-79
13. Coronavirus: Beijing municipal government orders partial lockdown for city and elevates emergency response amid latest outbreak
https://www.scmp.com/news/china/society/article/3089187/beijing-reports-new-local-coronavirus-cases-testing-xinfadi
14. Chinese county sealed off after coronavirus spike linked to Beijing market
https://www.scmp.com/news/china/society/article/3090920/chinese-county-sealed-after-coronavirus-spike-linked-beijing
15. Beijing starts massive COVID-19 screening in Universities
http://www.punjabtribune.com/news/216003-beijing-starts-massive-covid-19-screening-in-universities.aspx