ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 การแพร่ะระบาดของไวรัส COVID-19 สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงทุกพื้นที่ทั่วโลก ขณะที่นานาประเทศกำลังหาทางแก้ปัญหาให้ผ่านพ้นวิกฤติดังกล่าว มีหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของปีกำลังเกิดขึ้น คือ การทดลองใช้เงินหยวนดิจิทัล (Digital Currency Electronic Payment หรือ DC/EP) ในประเทศจีน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางการเงินที่อาจนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ความสัมพันธ์ระหว่างเงินตรา อำนาจทางเศรษฐกิจ และภูมิรัฐศาสตร์ของโลก
ในปี 2557 ธนาคารกลางของจีน (People’s Bank of China) ได้เริ่มทำการวิจัยศึกษาเงินดิจิทัลที่จะออกโดยธนาคารกลาง ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย การวิจัยมีความคืบหน้ากระทั่งปี 2560 รัฐบาลจีนได้อนุมัติให้มีการจัดตั้งทีมวิจัยและพัฒนาร่วมจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน หลังจากการวิจัยและพัฒนากว่า 3 ปี เงินหยวนดิจิทัลเป็นสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency หรือ CBDC) สกุลแรกของโลกที่ถูกนำมาทดลองใช้ในระดับ Retail หรือการชำระเงินระหว่างประชาชนทดแทนเงินในรูปธนบัตร
รายงานข่าวระบุว่า ทีมวิจัยใช้เทคโนโลยี Blockchain ร่วมกับเทคโนโลยีอื่น ๆ ในการพัฒนาเงินหยวนดิจิทัล ซึ่งมีความแตกต่างจากเงินดิจิทัลอื่นหรือ Cryptocurrencies ที่ถูกพัฒนาโดยเอกชน เช่น Bitcoin ในด้านการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบรวมศูนย์ (Centralized) ที่ธนาคารกลางของจีน และมีรูปแบบเป็น Stable Coin ที่มีเงินหยวนค้ำประกันในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 โดยธนาคารกลาง เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ทำให้ธนาคารกลางจีนมีอำนาจในการควบคุมดูแลปริมาณเงินและตรวจสอบธุรกรรมที่อาจผิดกฎหมาย
การจ่ายโอนเงินหยวนดิจิทัลให้ประชาชนในช่วงแรกของการทดลองใช้งาน จะเป็นการโอนผ่านธนาคารพาณิชย์ 4 แห่งหลักของจีน ได้แก่ Bank of China, Industrial & Commercial Bank of China (ICBC), Agricultural Bank of China และ China Construction Bank ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีที่แตกต่างจากการทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ คือ ผู้ที่มีเงินหยวนดิจิทัลจะสามารถทำธุรกรรมได้ แม้ไม่ได้เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต ผ่านเทคโนโลยี Near Field Communication (NFC) คล้ายกับระบบที่ใช้ในบัตรรถไฟฟ้าใต้ดินหรือบัตรเติมเงินในศูนย์อาหาร และส่งข้อมูลเข้าระบบอีกครั้งในภายหลังเมื่ออุปกรณ์มีสถานะออนไลน์
ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 รัฐบาลจีนได้เริ่มดำเนินการทดสอบการใช้งานภายใน โดยจำกัดพื้นที่ใน 4 เมืองใหญ่ ในรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น เจ้าหน้าที่รัฐบาลในเมืองซูโจว (Suzhou) จะได้รับสวัสดิการค่าเดินทางครึ่งหนึ่งในรูปของเงินหยวนดิจิทัล ส่วนในเมืองสงอัน (Xiong’an) เฉิงตู (Chengdu) และเซินเจิ้น (Shenzhen) เจ้าหน้าที่รัฐจะได้รับเงินเดือนในรูปแบบเงินหยวนดิจิทัลซึ่งสามารถใช้จ่ายได้ที่ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ และร้านหนังสือ ธนาคารกลางจีนมีแผนที่จะทำการทดสอบการใช้งานภายในเพิ่มเติมอีกครั้ง ระหว่างการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวในปี พ.ศ. 2565 โดยปัจจุบันยังไม่มีประกาศกำหนดเวลาที่จะเปิดใช้งานเงินหยวนดิจิทัลอย่างเป็นทางการ
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้การทดสอบใช้เงินหยวนดิจิทัลสามารถดำเนินการได้รวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากความกลัวเชื้อไวรัสที่อาจติดมากับธนบัตร เงินหยวนดิจิทัลอาจช่วยให้การดำเนินนโยบายเงินอุดหนุนและเยียวยาของรัฐบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลสามารถตรวจสอบการมอบเงินอุดหนุนเพื่อให้แน่ใจว่ากลุ่มเป้าหมายได้รับการเยียวยาอย่างตรงจุด อีกทั้งยังสามารถติดตามและตรวจสอบข้อมูลธุรกรรมทุกรายการที่เกิดขึ้นหากมีการทำธุรกรรมที่เสี่ยงผิดกฎหมาย ช่วยลดปัญหาการฟอกเงินและการลักลอบขนเงินข้ามชายแดนอย่างผิดกฎหมาย
อีกหนึ่งแนวทางที่รัฐบาลจีนใช้ปูทางให้กับการเปิดตัวของเงินหยวนดิจิทัล คือ การผ่อนปรนกฎเกณฑ์ให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba และ Tencent เข้ามาแข่งขันในภาคการธนาคารและการเงิน ด้วยการเปิดเสรีกฎเกณฑ์ทางการเงินและมอบใบอนุญาตการประกอบธุรกิจทางการเงินเพื่อให้บริษัทเทคโนโลยีสามารถสร้างนวัตกรรมที่จะช่วยพัฒนาภาคการเงินของประเทศ
ปี 2557 เป็นปีที่ Tencent เปิดตัวฟังก์ชัน Wechat Pay บนแอปพลิเคชัน Wechat ที่เป็นที่นิยมใช้ในประเทศจีน ซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติทางการเงินครั้งใหญ่ของจีน การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพื้นฐานอย่าง QR Code เป็นตัวกลางในการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ เป็นที่ยอมรับอย่างรวดเร็ว และถูกใช้แพร่หลายทั่วประเทศในระยะเวลาไม่ถึง 5 ปี และนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินบนมือถือที่หลากหลาย เช่น บริการสินเชื่อ การซื้อขายประกัน และการลงทุน โดยปัจจุบันกว่าร้อยละ 80 ของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในจีน มีการใช้จ่ายและทำธุรกรรมบนมือถือผ่าน 2 แอปพลิเคชันหลัก คือ Alipay และ WeChat ทำให้ปริมาณเงินสดที่หมุนเวียนในประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
สัดส่วนของ M0 (เงินสดหรือเงินในความหมายแคบ) ต่อ M2 (เงินในความหมายกว้าง)
สะท้อนปริมาณเงินสดในระบบของจีนปัจจุบันต่ำกว่าร้อยละ 5
การประกาศทดสอบใช้เงินหยวนดิจิทัลในปีนี้ นับเป็นการส่งสัญญาณของจีนที่ต้องการเพิ่มบทบาทของเงินหยวนในเวทีโลกอีกครั้ง หลังเหตุการณ์ในปี 2558 ที่เงินหยวนได้เป็นหนึ่งในสกุลเงินของสินทรัพย์ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศหรือ Special Drawing Rights (SDR) ของ IMF เป็นสกุลที่ 5 ร่วมกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโร เงินปอนด์ และเงินเยน โดยผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าเงินหยวนดิจิทัลเป็นเครื่องมือของรัฐบาลจีนที่จะลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ของเศรษฐกิจจีน ลดความเสี่ยงทางการเงินของจีนภายใต้ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบัน
สัดส่วนเงินหยวนใน SDR ของ IMF ที่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินอื่น
เมื่อสกุลเงินของประเทศหนึ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้น ประเทศเจ้าของสกุลเงินนั้นย่อมมีอำนาจทางเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ในกรณีของสกุลเงินดิจิทัล อำนาจและอิทธิพลของประเทศเจ้าของสกุลเงินอาจเปลี่ยนแปลงรวดเร็วกว่าเงินในรูปแบบกายภาพ เช่น หากจีนสามารถส่งเสริมให้เกิดการใช้เงินหยวนดิจิทัลในประเทศต่าง ๆ ตามนโยบาย Belt and Road Initiative ซึ่งจีนได้ลงทุนและให้กู้ยืมเงินอย่างมหาศาล จีนจะสามารถลดการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ และไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมธนาคารในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศอีกต่อไป
นอกเหนือจากการช่วยยกระดับเงินหยวนในสากล เงินหยวนดิจิทัลจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อเทคโนโลยีทางการเงินอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ด้วยรูปแบบการจ่ายโอนเงินหยวนดิจิทัลให้ประชาชนผ่านธนาคารพาณิชย์หลักของประเทศ ทำให้ธนาคารพาณิชย์ได้รับโอกาสและสามารถแข่งขันกับผู้เล่นอื่นในด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (เช่น Alipay Wechat Pay หรือ Paypal) แต่หากธนาคารกลางจีนเลือกที่จะส่งมอบเงินดิจิทัลสู่ประชาชนโดยตรง ไม่ผ่านตัวกลางใด ๆ อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน รวมถึงบริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน เนื่องจากรัฐบาลเป็นผู้ผลิต แจกจ่ายเงินสู่มือผู้บริโภคโดยตรงแต่เพียงผู้เดียว รวมถึงครอบครองข้อมูลการทำธุรกรรมและเส้นทางการเงินทั้งหมดด้วย
การที่รัฐบาลจีนได้ดำเนินนโยบายหลายด้านอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายหลังการปฏิวัติและเปิดประเทศตั้งแต่ปี 1979 ดังที่อดีตผู้นำจีน เติ้ง เสี่ยวผิง กำหนดแนวทางการพัฒนาแบบ “คลำหาก้อนหินข้ามแม่น้ำ” ทำให้จีนเติบโตอย่างรวดเร็วจากการเรียนรู้ ลองผิดลองถูก และแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาเงินหยวนดิจิทัลของจีนซึ่งดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาจจะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เหนือความคาดหมาย และส่งผลกระทบต่อนานาประเทศยิ่งกว่าเชื้อไวรัส COVID-19 ก็เป็นได้
อ้างอิง
- What is China’s cryptocurrency alternative sovereign digital currency and why is it not like bitcoin?https://www.scmp.com/economy/china-economy/article/3083952/what-chinas-cryptocurrency-sovereign-digital-currency-and-why
- 央行:数字人民币封闭测试不会影响人民币发行流通
http://www.gov.cn/xinwen/2020-04/17/content_5503711.htm - 易纲:数字人民币何时正式推出尚没有时间表
http://www.gov.cn/xinwen/2020-05/26/content_5515139.htm - China’s Crypto Is All About Tracing — and Power
https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2020-05-24/china-s-yuan-will-exit-covid-19-with-a-big-digital-currency-lead - How Alipay and WeChat Pay Revolutionised Chinese Payments, Paved the Way for Central Bank Digital Currency – Interview with Rich Turrin
http://www.chinabankingnews.com/2019/11/18/how-alipay-and-wechat-pay-revolutionised-chinese-payments-paved-the-way-for-central-bank-digital-currency-interview-with-rich-turrin/ - China Renews Push for Increased Global Role for the Yuan
https://finance.yahoo.com/news/china-renews-push-increased-global-200000198.html - China’s new DCEP could fast-forward the nation into a cashless society
https://forkast.news/china-dcep-accelerate-nation-cashless-society-privacy-digital-currency/ - Beijing to keep eye on digital yuan transactions
https://asiatimes.com/2020/06/beijing-to-track-large-digital-yuan-transactions/