#ซินเจียง #BCI
ล้วงลึก BCI ทำไมจึงต้องแบนฝ้ายซินเจียง
นายไอ้เอ่อเขิ่น ไอ้เจ๋อเจอเป็นชาวอุยกูร์อยู่ที่อำเภออีหลี เขตปกครองตนเองอุยกูร์ซินเจียง ประกอบอาชีพปลูกฝ้ายกว่า 75 ไร่ รายได้ปีละประมาณ 500,000 บาท นอกจากนี้ยังเลี้ยงแพะและวัว ในอดีตเขาใช้ชีวิตอย่างสบายๆ แต่นับจากนี้ความสุขสบายที่ว่าอาจจะไม่มีอีกแล้ว เพราะโรงงานที่อยู่ในอำเภออาจจะไม่รับซื้อฝ้ายของเขา
นายจาง เปียว ผู้บริหารบริษัทจ้งวั่งอำเภออีหลี รับซื้อฝ้ายจากนายไอ้เอ่อเขิ่นฯติดต่อกันมา 2 ปีแล้ว และนำมาแปรรูปก่อนจำหน่ายไปยังต่างประเทศ แต่ปี 2021 นายจาง เปียไม่มีโอกาสส่งออกอีกแล้ว เพราะแบรนด์ระดับโลกหลายแบรนด์หยุดซื้อฝ้ายจากซินเจียง ฝ้ายที่รับซื้อจากเกษตรกรมาแล้วก็ขายไม่ออก เขาเล่าว่า บางบริษัทสูญเสียเป็นร้อยล้านหยวน
เดือนมิถุนายนปี 2020 BCI (Better Cotton Initiative)ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่ใหญ่ที่สุดในโลกองค์กรหนึ่งที่มุ่งภารกิจพัฒนาฝ้ายอย่างยั่งยืน ได้ประกาศยกเลิกการรับรองบริษัทผลิตฝ้ายซินเจียงโดยไม่มีกำหนดด้วยเหตุผลที่ว่ามีการบังคับใช้แรงงาน
นายหลู เจี้ยนชุน ผู้จัดการใหญ่บริษัทการเพาะปลูกกั๋วซิงซินเจียงกล่าวว่า พวกเขาพูดเหมือนคนบ้า ปีนี้เราเปิดรับสมัครพนักงานที่เราต้องการกว่า 80 คน แต่มีคนมาสมัครกว่า 160 คน นี่เป็นการบังคับใช้แรงงานหรือ?
ตั้งแต่ปี 2019 สถาบันวิจัยยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย (Australian Strategic Policy Institute -ASPI) บีบีซี วอลล์สตรีทเจอร์นัล สื่อตะวันตกอื่นๆและกลุ่มเอ็นจีโอพากันประณามประเด็นปัญหาการบังคับใช้แรงงานในซินเจียง แรงกดดันทำให้แบรนด์ใหญ่ อาทิ Nike , CALVIN KLEIN /CK , Gap เป็นต้น เลิกใช้ฝ้ายซินเจียง
BCI สั่งให้สำนักงานประจำนครเซี่ยงไฮ้เริ่มขบวนการตรวจสอบ “การบังคับใช้แรงงานในซินเจียง”
นางอู๋ เยี่ยน หัวหน้าสำนักงานBCI ประจำนครเซี่ยงไฮ้เปิดเผยขั้นตอนการตรวจสอบว่า เราแจ้งให้บริษัทผู้ผลิตประเมินผลเองก่อน แล้วสำนักงาน BCI ประจำนครเซี่ยงไฮ้เข้าไปตรวจสอบความน่าเชื่อถือในฐานะฝ่ายที่สอง หลังจากนั้น ได้มอบให้ฝ่ายที่สามคือบริษัท SGS ของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นหน่วยงานตรวจสอบและรับรองที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก เข้าไปดำเนินการตรวจสอบและออกรายงาน ผลสรุปปรากฏว่า ซินเจียงไม่มีการบังคับใช้แรงงาน
แต่สำนักงานใหญ่ BCI ไม่สนใจรายงานการตรวจสอบและประเมินผลของสำนักงานประจำนครเซี่ยงไฮ้และบริษัท SGS และยกเลิกใบรับรองคุณภาพฝ้ายที่ได้ระดับ “ฝ้ายดี” ที่เคยมอบให้กับบริษัทผลิตฝ้ายซินเจียง
เดือนธันวาคมปี 2020 นายดาเมียน แซนฟิลิปโป(Damien Sanfilippo) ผู้บริหาร BCI กล่าวให้สัมภาษณ์บีบีซีว่า “ชาวนายากจนของเขตซินเจียงถูกบังคับใช้แรงงาน เนื่องจากเข้าร่วมโครงการขจัดความยากจนของรัฐบาล ถึงแม้ได้รับเงินเดือนพอสมควรและสมเหตุสมผลก็ตาม แต่ก็เป็นการบังคับใช้แรงงาน” ชาวเน็ตจีนพากันฮากับคำพูดนี้โดยระบุว่า “พูดแบบนี้ก็ได้หรือ นี่เป็นการใส่ร้ายจีนตามอำเภอใจ”
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวซินหัวไปขอสัมภาษณ์ผู้บริหาร BCI ที่สำนักงานใหญ่ในสวิตเซอร์แลนด์ แต่ถูกปฏิเสธ มีเพียงพนักงานที่โชว์กระดาษที่มีเบอร์โทรศัพท์โดยยืนอยู่หลังกระจกหน้าต่าง แต่เบอร์ดังกล่าวเป็นเบอร์ในอินเดีย ที่ไม่สามารถติดต่อได้
ผู้สื่อข่าวพบว่า ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ BCI ไม่ได้มีอาคารของตนเองแต่ใช้วิธีการเช่าห้องหลายห้องในชั้นที่ 1 ของอาคารนี้ มีพนักงานไม่กี่คน จึงสงสัยว่า นี่หรือคือสถาบันที่ให้คำตัดสินที่น่าเชื่อถือ แถมยังมีอิทธิพลต่อการค้าทั่วโลกอีกด้วย
BCI ระบุเองว่าเป็นองค์การที่ไม่มุ่งผลกำไร แต่มีสมาชิกเกือบ 2,000 ราย สมาชิกแต่ละรายต้องจ่ายค่าสมาชิกปีละ 6,000-45,000 ยูโร เพื่อติดเครื่องหมาย BCI บนเสื้อผ้าของตน
มีข้อมูลแสดงว่า ประธาน BCI เป็นประธาน Supima สหรัฐฯ ซึ่งเป็นองค์กรที่ประกาศว่าไม่แสวงหากำไรทว่าเป็นคู่แข่งของฝ้ายซินเจียงในตลาดโลก
เว็บไซต์ทางการของ BCI แสดงให้เห็นว่า องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development – USAID)เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินรายใหญ่ของ BCI สื่อสหรัฐฯ รายงานข่าวว่า USAID เคยถูกประณามแทรกแซงกิจการภายในของหลายประเทศ
เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ก็พอมองออกว่าBCI เป็นเพียงหมากตัวหนึ่งของตะวันตกในยุทธศาสตร์ใช้ชาวอุยกูร์เป็นอาวุธยับยั้งจีน ถ้าหากสหรัฐฯและพันมิตรไม่สามารถหรือไม่ยอมหันหน้ามานั่งหารือกับจีนเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาโลก อีกไม่นานก็คงจะมีเหตุการณ์ใหญ่ๆเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขอบคุณที่มาของข้อมูล :
ลึกชัดกับผิงผิง