ความร่วมมือไทย – จีน ภายใต้  “ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง”

ด้านการศึกษา
ข่าวสารหน่วยงาน - วช. – CASS จัดตั้ง “ศูนย์วิจัยจีน  สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สถาบันสังคมศาสตร์จีน” ในประเทศไทย ยกระดับการดำเนิน การเชิงรุกด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

ศูนย์วิจัยจีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สถาบันสังคมศาสตร์จีน 

(CASS-NRCT Centre of China Studies)

เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 ได้มีพิธีลงนามการจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยจีน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติสถาบันสังคมศาสตร์จีน (CASS-NRCT Centre of China Studies) ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศูนย์แห่งนี้จะเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการและส่งเสริมงานวิจัยระหว่างไทย-จีน ให้เกิดผลเด่นชัดและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ผ่านโครงการและกิจกรรมที่เชื่อมโยงนักวิจัยและนักวิชาการของทั้งสองประเทศเข้าด้วยกัน

ประธานสถาบันสังคมศาสตร์จีน กล่าวว่า ต้องการให้ศูนย์แห่งนี้กลายเป็นบ้านสำคัญของประชาชนไทยในการเข้าใจจีน เป็นแหล่งข้อมูลสนับสนุนร่วมกันในสร้าง “สายแถบและเส้นทาง” และเพิ่มพลังขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไทยในยุคใหม่ พร้อมส่งเสริมนักวิจัยและนักวิชาการ รวมถึงสนับสนุนการจัดประชุมวิชาการร่วมกับ วช. อย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อเป็นพลังส่งเสริมร่วมมือจีน-ไทยด้านยุทธศาสตร์

ฝ่ายไทยมีความประสงค์ที่จะสร้างความร่วมมือทางวิชาการทั้งด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์กับจีนอย่างลึกซึ้ง เป็นระบบ และมีความก้าวหน้าในเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์ ศิลปศาสตร์ โบราณคดี

ภาพ : Xinhua

ศูนย์ปฏิบัติการเทคโนโลยีและนวัตกรรมลูปัน (Luban Workshop)

ศูนย์ปฏิบัติการเทคโนโลยีและนวัตกรรมลูปัน (Luban Workshop) เป็นโครงการฝึกอบรมวิชาชีพในกรอบข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง โดยได้จัดการเรียนการสอนวิชาชีพให้แก่เยาวชนในกว่า 20 ประเทศ อาทิ ไทย อินเดีย อินโดนีเซีย ไนจีเรีย โกตดิวัวร์ เป็นต้น นอกจากนี้ จีนยังมีแผนที่จะเปิดศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรประเทศสมาชิก ฝึกอบรมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ และโครงการคัดเลือกนักศึกษาดีเด่นจากประเทศสมาชิกมาศึกษาเพิ่มเติมในจีน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านบุคลากรในกรอบข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางให้มากยิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2559 โครงการศูนย์ปฏิบัติการเทคโนโลยีและนวัตกรรมลูปัน เปิดตัวครั้งแรกที่ วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์ฯ แห่งแรกของโลกนอกสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้รับการสนับสนุนครุภัณฑ์ชุดฝึกสำหรับการเรียนการสอนมูลค่า 128 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 สาขาเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ ระยะที่ 2 สาขา Internet of Thing สาขา CNC และสาขารถยนต์พลังงานใหม่ ซึ่งทั้งสองระยะให้การสนับสนุนโดยวิทยาลัยเทคนิคอาชีวศึกษาเทียนจินโป๋ไห่ และระยะที่ 3 ศูนย์ การเรียนรู้รถไฟความเร็วสูง ให้การสนับสนุนโดยวิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษาการรถไฟเทียนจิน

การดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการเทคโนโลยีและนวัตกรรมลูปันประเทศไทย มีการขยายความร่วมมือไปสู่สถานศึกษาเครือข่ายเพิ่มเติมอีก 6 แห่งได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี วิทยาลัยเทคนิคกันทรลักษณ์ สถาบันจิตรลดา และ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์

1

อว. ศธ. สอศ. ลงนามความร่วมมือกับศูนย์ CLEC ของจีน

วันที่ 20 เมษายน 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ร่วมกันจัดพิธีลงนามกรอบความร่วมมือด้านการศึกษากับศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ (Center for Language Education and Cooperation – CLEC ) กระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

ความร่วมมือในระดับอุดมศึกษาภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ มุ่งสานต่อความร่วมมือที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และยกระดับความร่วมมือให้ครอบคลุมทั้งในด้านการให้ทุนการศึกษา การแลกเปลี่ยนอาจารย์ การพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาทักษะภาษาจีนของนักศึกษา และการจับคู่ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยไทยกับมหาวิทยาลัยจีน เพื่อพัฒนาครูและพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และกระทรวงศึกษาธิการ ในการผลิตและพัฒนาครูและผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาจีน รวมทั้งพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะวิชาการ วิชาชีพ และทักษะภาษาจีนเพื่อผลิตกำลังคนที่ตอบสนองต่ออุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทยโดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ของประเทศไทย และมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”ของจีน

ภาพ : สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน

ศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย – จีน ณ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 ศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย – จีน หรือ The Belt and Road Cooperation Research Center (CTC) ได้จัดตั้งขึ้นโดย สถาบันวิจัยการพัฒนาและยุทธศาสตร์แห่งชาติ มหาวิทยาลัยประชาชนแห่งประเทศจีน และศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย – จีน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้จัดพิธีเปิดศูนย์อย่างเป็นทางการและมีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือกับ ศูนย์วิจัยเส้นทางสายไหมไทย-จีน ณ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ กรุงเทพมหานคร

ภารกิจของศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย – จีน (CTC) เป็นการส่งเสริมการวิจัยและความร่วมมือคลังสมองระหว่างไทยจีน โดยจะทำงานใน 4 ด้าน 

1. ร่วมส่งเสริมโครงการวิจัยที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์หนึ่งแทบหนึ่งเส้นทาง

2. แลกเปลี่ยนทางด้านนักวิจัยระหว่างไทย – จีน

3. ร่วมจัดตั้งกองทุนวิจัยเพื่อส่งเสริมการวิจัยไทย – จีน

4. การแลกเปลี่ยนผลการวิจัยและเผยแพร่ผลงานวิจัยสู่สังคม

ภาพ : Naewna.com

ศูนย์ประสานงานอาชีวศึกษาไทย – จีน ณ นครฉงชิ่ง

เมื่อเดือนเมษายน 2561 ได้มีพิธีเปิดศูนย์ประสานงานอาชีวศึกษาไทย-จีน ขึ้นที่สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีวิทยาลัยในจีนเข้าร่วมทั้งหมด 19 แห่ง และวิทยาลัยในไทยเข้าร่วมอีก 23 แห่ง การจัดตั้งศูนย์ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบรับนโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) พัฒนานักเรียน นักศึกษา รวมถึงบุคลากรด้านอาชีวศึกษา และเป็นเวทีในการกระชับความร่วมมือและพัฒนาความร่วมมือตามนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางโดยเฉพาทิศใต้ของจีน โดยรัฐบาลและเมืองฉงชิ่งยังให้ทุนการศึกษาสนับสนุนเมื่อนักเรียนไปเรียนอยู่ที่เมืองฉงชิ่งด้วย

นครฉงชิ่ง ได้ร่วมมือกับไทยในการจัดการศึกษาอาชีวศึกษา ด้านโลจิสติก และระบบราง ภายหลังมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาชีวศึกษาไทย-จีนขึ้นแล้ว มีวิทยาลัยอาชีวศึกษาของไทย อาทิ วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี. วิทยาลัยเทคนิคบ้านไผ่วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี วิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ด เริ่มจัดส่งนักเรียน นักศึกษาไปเรียนในสาขาการบัญชี สาขาโลจิสติกส์ สาขาระบบราง สาขาขวบคุมและซ่อมบำรุงหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ในวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เมืองฉงชิ่งแล้วประมาณ 150 คน ระยะเวลาในการศึกษา 1 ปี

นครฉงชิ่ง เป็นเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งเดียวในภาคตะวันตกของจีน มีสถานศึกษาระดับสูงจำนวน 72 แห่ง โดย 25 แห่งเปิดการสอนในระดับปริญญาตรีขึ้นไป ปัจจุบันมีนักเรียน นักศึกษาจำนวน 1.2 ล้านคน และมีสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษา จำนวน 50 แห่ง และมีนักเรียน นักศึกษา กว่า 5 แสนคน โดยสถานศึกษาทุกแห่งจะมีการจัดการเรียนการสอนด้านการคมนาคม การเกษตร ด้านการสื่อสาร และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

Walailak University MOU

ภาพ : มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ศูนย์กลางการเรียนรู้อาเซียน – กรุงเทพมหานคร

วิทยาลัยจีนโพ้นทะเล ศูนย์สาขามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

วันที่ 28 มิถุนายน 2565 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเปิดฝูเจี้ยน จัดตั้งศูนย์กลางการเรียนรู้อาเซียน-กรุงเทพมหานคร วิทยาลัยจีนโพ้นทะเล ศูนย์สาขามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อแลกเปลี่ยนและประสานความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างจีน-ไทย รวมถึงส่งเสริมนโยบาย“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน

การจัดตั้งศูนย์ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการศึกษา การทำงานเพื่อรับใช้ภูมิภาคและมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างผู้มีความรู้ ความสามารถในระดับสากล และมุ่งหวังที่จะสร้างรูปแบบการแลกเปลี่ยนและสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับสูงกับมหาวิทยาลัยเปิดฝูเจี้ยน ในด้านอาชีวศึกษา การศึกษาภาษาจีน ความร่วมมือด้านการวิจัย และการแลกเปลี่ยนบุคลากรและนักศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง One Belt, One Road” และยุทธศาสตร์ “Thailand 4.0”

ทั้งนี้ ฝูเจี้ยนเป็นมณฑลที่อยู่แนวหน้าในการเปิดประเทศของจีนและเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางสายไหมทางทะเล การก่อตั้งวิทยาลัยจีนโพ้นทะเลของมหาวิทยาลัยเปิดฝูเจี้ยน ในกรุงเทพฯ เพื่อดำเนินความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับมหาวิทยาลัยไทยและบริษัท โอเพ่น เอ็ดยูเคชั่น กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ในหลายสาขาโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาขั้นสูง นำโมเดลเชิงนวัตกรรม “อินเทอร์เน็ต + ภาษาจีน” มาใช้เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ระหว่างสถาบันการศึกษาไทยและจีน

ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

แพลตฟอร์มธนาคารเทคโนโลยีสีเขียว

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ นายหลัว ต้า จิ้ง ประธานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ (Science and Technology Commission of Shanghai Municipality : STCSM) ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MoU) ณ Chinese Academy of Sciences Innovation Cooperation Center (Bangkok) เพื่อร่วมกันสนับสนุนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในมิติต่าง ๆ  ซึ่งประกอบด้วย  

  1. ด้านชีวเภสัชภัณฑ์และบริการด้านสุขภาพ 
  2. ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร 
  3. ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน 
  4. ด้านปัญญาประดิษฐ์และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
  5. ธนาคารเทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology Bank) 

ทั้งในส่วนของการร่วมสนับสนุนโครงการวิจัย การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนโยบายและมาตรการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่สำคัญ เป็นต้น

การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนชาวขอนแก่น ...

ภาพ : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์

โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน

โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย

วัตถุประสงค์ เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและอาเซียน เพื่อเพิ่มทางเลือกการเดินทางสู่ภาคอีสาน และเชื่อมต่อประเทศลาวและจีนในอนคต เพื่อช่วยเสริมสร้างการท่องเที่ยวในประเทศระหว่างประเทศจีน ลาว และประเทศไทย เพื่อส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ พัฒนาการท่องเที่ยว และสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้เติบโตยิ่งขึ้น และเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในการเดินทางของประชาชน ให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด ปลอดภัยยิ่งขึ้น

ข้อมูลพื้นฐาน ขนาดราง 1.435 เมตร ระยะทางรวมทั้งหมด 608 กิโลเมตร มีทั้งหมด 11 สถานี เป็นสถานีรูปแบบอาคารผู้โดยสาร 10 สถานี และสถานียกระดับ 1 สถานี แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 กรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา ประกอบด้วย 6 สถานี ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ดอนเมือง  พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปากช่อง นครราชสีมาระยะที่ 2 นครราชสีมา – หนองคาย จุดเริ่มต้นที่หลังสถานีนครราชสีมา จุดสิ้นสุดที่ริมแม่น้ำโขง ฝั่งไทย ประกอบด้วย 5 สถานี ได้แก่ บัวใหญ่ บ้านไผ่ ขอนแก่น อุดรธานี  หนองคาย

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]