ความสัมพันธ์ไทย – YRD

ประเทศไทยและ YRD มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงเพิ่มขึ้นภายหลังจีนเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 เมื่อ ม.ค. 2566

ในส่วนของไทย เมื่อ ก.พ. 2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เยือนนครเซี่ยงไฮ้ระหว่าง 11 – 13 ก.พ. ซึ่งถือเป็นผู้แทนระดับรัฐมนตรีต่างชาติคนแรก ๆ ที่เยือนเซี่ยงไฮ้ในปีนี้ โดยได้นำคณะผู้บริหารกระทรวง อว. เจรจาผลักดันความร่วมมือกับหน่วยงานหลักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของจีน

คณะผู้แทน อว. ได้เข้าเยี่ยมชมสถาบันวิจัยขั้นสูง ณ มหานครเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Advanced Research Institute (SARI), Chinese Academy of Sciences) เยี่ยมชมวงแหวนกักเก็บ (storage ring) และสถานีปฏิบัติการ  ทั้งสองแห่งของสถาบัน SSRF ได้แก่ เครื่องยิงเลเซอร์อิเล็กตรอนอิสระย่านรังสีเอกซ์พลังงานต่ำ (Shanghai soft X-ray Free Electron Laser facility: SXFEL) และแพลตฟอร์มช่องทดสอบคลื่นความถี่วิทยุตัวนำยิ่งยวด (Superconducting RF cavity test platform) สำหรับเครื่องยิงเลเซอร์อิเล็กตรอนอิสระย่านรังสีเอกซ์พลังงานสูง (Hard X-ray Free Electron Laser Facility) และประชุมถึงรายละเอียดการดำเนินงานและผลสำเร็จด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สถาบัน SSRF และทบทวนความร่วมมือระหว่างจีนและไทยในด้านรังสีซินโครตรอน

คณะผู้แทน อว. ยังได้เข้าเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เทค (ShanghaiTech University) เยี่ยมชมอาคารวาย     แนะนำถึงประวัติความเป็นมา คณาจารย์ที่โดดเด่น ผลสำเร็จด้านการวิจัยของทั้งสองสถาบัน และแผนสำหรับศูนย์การแพทย์แห่งอนาคตซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง จากนั้นได้เยี่ยมชม Multi-disciplinary Artificial Reality Studio (MARS) ของ SIST และการสาธิตภาพด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ การสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีเสมือนจริงที่ผสมผสานการใช้งานเข้ากัน จนสามารถสร้างเป็นภาพที่ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้

รวมถึง ได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์วิจัยและพัฒนาหัวเว่ย นครเซี่ยงไฮ้ (Huawei Shanghai R&D Research Center) เยี่ยมชม Mobile Broad Band Exhibition และการหารือความร่วมมือในการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านดิจิทัลและวิศวกรรมให้แก่คนไทย ทั้งในหลักสูตรปริญญาและการฝึกอบรมพัฒนาทักษะแรงงาน รวมถึงการสนับสนุนการสร้าง career path ด้านวิจัยและพัฒนาให้แก่คนไทย ซึ่งยังเป็นสาขาที่ไทยต้องทำเพิ่มเติม โดยสามารถร่วมมือผ่าน Sandbox ของ อว. ในเรื่องนี้ได้ บริษัทหัวเว่ย พร้อมที่จะร่วมมือกับไทยในด้านดังกล่าว ในปัจจุบัน ได้จัดทำ MOU ความร่วมมือกับ 30 สถาบันการศึกษาของไทย ซึ่งสามารถออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกันเพิ่มเติมได้  รมว. อว. ยืนยันความพร้อมของไทยที่จะเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรมด้านดิจิทัลของบริษัทหัวเว่ยในภูมิภาคผ่าน Huawei ASEAN Academy ที่ประเทศไทย บริษัทหัวเว่ย กล่าวถึงการขยายสาขาธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานสะอาด ทั้งในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคผลิตเครื่องชาร์จไฟฟ้า เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมี ความร่วมมือด้านความมั่นคงและยุทโธปกรณ์ระหว่างกัน โดยระหว่าง 2563 – 2566 ทหารเรือได้ว่าจ้างรัฐบาลจีน โดย China State Shipbuilding Corporation (CSSC) ต่อเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ หรือ เรือหลวงช้าง ที่อู่ต่อเรือ Hudong Zhonghua ที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งทำพิธีส่งมอบเรือเมื่อ 17 เม.ย. 2566 และเดินทางถึงประเทศไทย เมื่อ 25 เม.ย. 2566 โดยเรือหลวงช้าง เป็นเรือลำที่ 10 ที่จีนต่อให้ทหารเรือ โดยเป็นเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดใน ทหารเรือใช้สนับสนุนการปฏิบัติภารกิจที่เกี่ยวข้องของทหารเรือ รวมถึงการค้นหา อพยพ และช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

YRD มีการลงทุนด้าน R&D สูงกว่าค่าเฉลี่ยของจีนที่ร้อยละ 2.4 ของ GDP โดยงบ R&D ของเซี่ยงไฮ้อยู่ที่ร้อยละ 4.2 ในขณะที่ เจียงซู เจ้อเจียง และอานฮุย อยู่ที่ร้อยละ 3 ของ GDP นอกจากนี้ YRD ยังเป็นที่ตั้งของ 1 ใน 4 มหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน อาทิ Fudan University  Jiaotong University และ Shanghai Technology University ที่นครเซี่ยงไฮ้ Nanjing University นครหนานจิง มณฑลเจียงซู Zhejiang University นครหางโจว มณฑลเจ้อเจียง University of Science and Technology of China (USTC) นครเหอเฝย มณฑลอานฮุย

ไทยและ YRD สามารถเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์       การแลกเปลี่ยนบุคลากร การทำวิจัยร่วมกัน ตลอดจนการให้ทุนการศึกษา รวมถึงผ่าน Chinese Academy of Sciences Innovation Cooperation Center Bangkok (CAS ICCB) ที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2560 และได้เปิดสำนักงานที่ กทม. โดย CAS ICCB ขับเคลื่อนโดยผู้บริหาร CAS จากนครเซี่ยงไฮ้ และสามารถเป็นช่องทางในการขยายความร่วมมือกับสถาบันวิจัยในเครือของ CAS กว่า 130 แห่งในจีน รวมถึง บ. ด้านเทคโนโลยีในสังกัดของ CAS อีกจำนวนมาก

ความร่วมมือสำคัญประการหนึ่งคือ โครงการ Thailand Takamak-1 (TT-1) ระหว่าง Institute of Plasma Physics (ASIPP) ภายใต้ CAS ตั้งอยู่ที่นครเหอเฝย อานฮุย กับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติของไทย (สทน.)     ในการบริจาคและช่วยติดตั้งเครื่องโทคาแทค TT-1 ที่ สทน. เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในอาเซียนใน            ด้านพลาสมาฟิสิกส์และนิวเคลียร์ฟิวชั่นเพื่อผลิตพลังงานสะอาด โดยโครงการความร่วมมือนี้เป็นโครงการที่         สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้การสนับสนุนและมีส่วนผลักดัน

นอกจากนี้ ยังมีการลงนาม MOU ขยายความร่วมมือระหว่าง ปี 2566 – 2568 ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ของไทยกับคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งครอบคลุมด้านการแพทย์ ICT AI smart city และเทคโนโลยีสีเขียว 

China helps Thailand build tokamak for research-Xinhua

           พิธีเปิดสำนักงาน CAS ICCB               โครงการ Thailand Takamak-1 (TT-1)

อุตสาหกรรมสำคัญ

Clean energy overtakes coal for first time in China's Zhejiang -  Chinadaily.com.cn

ไฟฟ้าพลังงานลม 

ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศที่ผลิตไฟฟ้าพลังงานลมได้ในปริมาณมากเป็นอันดับที่ 1 ของโลก (ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมจากทั่วโลก) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง โดยปี 2565 จีนได้เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าโดยกังหันลมนอกชายฝั่ง 5.157 กิกะวัตต์ ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta: YRD) ซึ่งประกอบด้วยนครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลอานฮุย ถือเป็นพื้นที่ที่ผลิตไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งได้มากที่สุดในจีนเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น ๆ อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของธุรกิจผลิตกังหันลมที่มีชื่อเสียง

ภายหลังจากที่จีนประกาศเป้าหมาย Dual Carbon โดยจะหันมาใช้พลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิล และลดการปล่อยคาร์บอนอย่างจริงจัง จีนได้ประกาศแผนงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าพลังงานลมหลายฉบับ อาทิ “แผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ระยะ 5 ปี (ปี 2564 – 2568)” และ “แผนงานระบบพลังงานใหม่ ระยะ 5 ปี (ปี 2564 – 2568)” เป็นต้น โดยเขต YRD ได้มีการประกาศแผนงานที่เกี่ยวข้องสอดคล้องกับแผนงานระดับชาติ ดังนี้

เซี่ยงไฮ้
เมื่อ 11 สิงหาคม 2565 รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ประกาศ “แผนดำเนินงาน Carbon Peak ด้านพลังงานไฟฟ้านครเซี่ยงไฮ้” ซึ่งระบุว่า เร่งบุกเบิกการพัฒนาไฟฟ้าพลังงานลมบนและนอกชายฝั่ง และจัดทำแผนพัฒนาไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งชุดใหม่ เพื่อยกระดับมาตรฐานการใช้ประโยชน์ไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ เซี่ยงไฮ้ได้ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2568 และปี 2573 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานลมไม่ต่ำกว่า 2.62 กิกะวัตต์ และ 5           กิกะวัตต์ ตามลำดับ
เจียงซู
เมื่อกรกฎาคม 2565 มณฑลเจียงซูได้ประกาศ “แผนงานพิเศษสำหรับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนมณฑลเจียงซู ระยะ 5 ปี (ปี 2564 – 2568)” โดยตั้งเป้าหมายว่า ในช่วง 5 ปีดังกล่าว เจียงซูจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าโดยกังหันลมอีก 12.53 กิกะวัตต์ และภายในปี 2568 เจียงซูจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าโดยกังหันลมไม่ต่ำกว่า 28 กิกะวัตต์
เจ้อเจียง
เมื่อ 30 มิถุนายน 2564 คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปมณฑลเจ้อเจียงได้ประกาศ “แผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนมณฑลเจ้อเจียง ระยะ 5 ปี (ปี 2564 – 2568)” โดยตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2568 เจ้อเจียงจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าโดยกังหันลมอีก 10.41 กิกะวัตต์ และจะสร้างทุ่งกังหันลมที่มีกำลังการผลิตติดตั้งระดับ 1 กิกะวัตต์ขึ้นไปไม่ต่ำกว่า 3 แห่งในพื้นที่ทะเลของเมืองหนิงโป เมืองโจวซาน เมืองไทโจว และเมืองเวินโจว
อานฮุยเมื่อ 1 สิงหาคม 2565 มณฑลอานฮุยได้เน้นย้ำเป้าหมายการพัฒนาพลังงานสะอาดตาม “แผนพัฒนาพลังงานมณฑลอานฮุย ระยะ 5 ปี (ปี 2564 – 2568)” ว่า ภายในปี 2568 จะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าโดยกังหันลมอีก 3.88 กิกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้ทั่วทั้งมณฑลจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าโดยกังหันลมผลิตไฟฟ้ารวม 8 กิกะวัตต์

ด้วยความโดดเด่นในที่ตั้งภูมิศาสตร์ของ YRD ซึ่งมีแนวชายฝั่งทะเลรวม 3,507 กิโลเมตร กอปรกับมีจำนวนเกาะมากที่สุด   ในจีน และมีกระแสลมบริเวณชายฝั่งทะเลที่มากเพียงพอ จึงทำให้เขต YRD เป็นพื้นที่ผลิตไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งที่สำคัญที่สุดของจีน จากสถิติล่าสุดเมื่อสิ้นปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดแผนพัฒนาเศรษฐกิจแลtสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 13 (ปี 2559 – 2563) พบว่า ทั่วทั้งจีนมีกำลังผลิตไฟฟ้าโดยกังหันลมนอกชายฝั่งรวม 10.87 กิกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นกำลังการผลิตติดตั้งในเขต YRD 7.64 กิกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70.28 ของกำลังผลิตไฟฟ้าโดยกังหันลมนอกชายฝั่งทั้งหมดของจีน

ทั้งนี้ ช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 14 (ปี 2564 – 2568) แต่ละพื้นที่ของเขต YRD ได้วางแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งเป็นการเฉพาะ อาทิ

– นครเซี่ยงไฮ้ จะผลิตไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งในโครงการนอกชายฝั่งระยะใกล้ 3 พื้นที่ทางตอนใต้ของเซี่ยงไฮ้ ได้แก่ เขตเฟิ่งเสียน เขตหนานฮุ่ย และเขตจินซาน และโครงการนอกชายฝั่งระยะไกล 1 พื้นที่ในทะเลทางทิศตะวันออกของเกาะฉงหมิงที่ตั้งอยู่ทางเหนือของเซี่ยงไฮ้

– มณฑลเจียงซู มุ่งพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งรวม 28 แห่ง (มีระยะห่างจากแนวชายฝั่งทะเลมากกว่า 10 กิโลเมตร) ครอบคลุมพื้นที่ 1,444 ตารางกิโลเมตร รวมกำลังการผลิตติดตั้ง 9.09 กิกะวัตต์

– มณฑลเจ้อเจียง มุ่งดำเนินการตามโมเดลการพัฒนาแบบใหม่ ซึ่งประกอบด้วย “ฐานประยุกต์ใช้ไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งระยะใกล้และไกล + พลังงานจาdมหาสมุทร (Marine Energy) + ฐานอุตสาหกรรมบนบก” รวมทั้งตั้งเป้าหมายว่า ในช่วงปี 2564 – 2568 จะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าโดยกังหันลมนอกชายฝั่งอีกไม่ต่ำกว่า 4.5 กิกะวัตต์ และภายในปี 2568 ทั่วทั้งมณฑลจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าโดยกังหันลมนอกชายฝั่งรวม 5 กิกะวัตต์

นอกจากเขต YRD จะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานลมที่สำคัญแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของบริษัทผู้ผลิตกังหันลมที่มีชื่อเสียงระดับสากลอีกด้วย อาทิ

  1. Envision Energy Co., Ltd. (นครเซี่ยงไฮ้)

เป็นผู้ผลิตกังหันลมและซัพพลายเออร์รายใหญ่ชั้นนำของโลก ก่อตั้งเมื่อปี 2550 โดยเมื่อปี 2565 ได้ถูกจัดอันดับให้เป็นผู้ผลิตกังหันลมรายใหญ่อันดับที่ 5 ของโลก และในปี 2562 ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 อันดับแรกของ “World’s 50 Smartest Companies” โดย MIT Technology Review โดย Envision Energy ยังให้บริการซอฟต์แวร์บริหารจัดการพลังงาน และบริการด้านเทคโนโลยีพลังงานด้วย

Envision Energy ได้ติดตั้งกังหันลมทั่วโลกกว่า 12,500 เครื่อง และได้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้ในกังหันลมกว่า 6,000 เครื่องในอเมริกาเหนือ ยุโรป ลาตินอเมริกา และจีน เป็นต้น ล่าสุด Envision Energy ได้เปิดตัวกังหันลมบนบกขนาดใหญ่ที่สุดในโลก รุ่น EN-220/10MW ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าขั้นต่ำได้สูงถึง 10 เมกะวัตต์ และมีเส้นผ่านศูนย์กลางระยะกวาดใบพัด (Rotor Diameter) กว้างที่สุดในโลก

  1. Shanghai Electric Wind Power Group Co., Ltd. (นครเซี่ยงไฮ้)

ก่อตั้งขึ้นในปี 2549 เป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าและอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้า อาทิ กังหันลม เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และระบบอัจฉริยะที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประกอบธุรกิจการประเมินทรัพยากรลม การลงทุนและพัฒนาฟาร์มกังหันลมดิจิทัล การบริหารจัดการสินทรัพย์ฟาร์มกังหันลม และพลังงานอัจฉริยะ เป็นต้น โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทประกอบด้วยกังหันลมที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 1.25 – 10 เมกะวัตต์

ปี 2565 บริษัทฯ มียอดกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่นอกชายฝั่งทะเลเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจาก Vestas (เดนมาร์ก) โดยเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันลมรุ่น EW8.X-230 ติด 1 ใน 10 กังหันลมนอกชายฝั่งยอดนิยมประจำปี 2565 ด้วยเส้นผ่านศูนย์กลางระยะกวาดใบพัดขนาด 230 เมตร (กว้างที่สุดในบรรดารุ่นกังหันลมที่มีการติดตั้ง) หรือมีขนาดเท่ากับขนาดสนามฟุตบอลมาตรฐาน 5.8 สนาม

ล่าสุด บริษัทฯ ได้ติดตั้งกังหันลมขนาด 8 เมกะวัตต์ที่ฐานการผลิตอัจฉริยะเมืองซ่านโถวในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งมีกำลังการผลิตมากที่สุดที่เคยติดตั้งในจีน

  1. – Zhejiang Windey Co., Ltd. (นครหางโจว มณฑลเจ้อเจียง)

เดิมคือ Zhejiang Windey Wind Power Co., Ltd. ซึ่งก่อตั้งใหม่เมื่อปี 2544 โดยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตกังหันลมที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในจีน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพลังงานลมมาเป็นเวลา 40 ปี รวมทั้งเคยเป็นศูนย์วิจัยพลังงานลมของ Zhejiang Institute of Mechanical and Electrical Engineering Co., Ltd. ที่เป็นผู้บุกเบิกและผู้ผลิตกังหันลม  รายแรกในจีน ต่อมาในปี 2553 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นชื่อปัจจุบัน

บริษัทฯ มุ่งเน้นการวิจัย การออกแบบ การดำเนินงาน และการบำรุงรักษากังหันลม รวมทั้งมีการลงทุนและบริหารจัดการฟาร์มกังหันลม โดยในปี 2565 บริษัทฯ ติดอันดับที่ 7 ของผู้ผลิตกังหันลมรายใหญ่ของโลก มีฐานการผลิต 3 แห่งในจีน ได้แก่ นครหางโจวในมณฑลเจ้อเจียง เมืองจางเป่ยในมณฑลเหอเป่ย และเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย โดยผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ คือ กังหันลมขนาด 1.5 – 3 เมกะวัตต์

ล่าสุด บริษัทฯ ได้ลงนามในข้อตกลงกับ Fintel (อิตาลี) เพื่อส่งมอบ ประกอบ และบำรุงรักษากังหันลมสำหรับโครงการ Maestrale Ring ขนาด 854 เมกะวัตต์ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเซอร์เบีย ซึ่งเป็นฟาร์มกังหันลมบนบกขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป

  1. Anhui Hummer Dynamo Co., Ltd. (นครเหอเฝย มณฑลอานฮุย)

ก่อตั้งขึ้นในปี 2548 เป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการวิจัย พัฒนา ผลิต และส่งเสริมระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันลมขนาดกลาง – เล็ก และการตั้งค่าฟาร์มกังหันลมขนาดเล็ก โดยใช้เทคโนโลยี Supercritical Fluid (SCF) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญทางเทคนิคในการวิจัยและพัฒนาเครื่องกำเนิดพลังงานลมแบรนด์ HUMMER โดยกังหันลมที่ผลิตโดยบริษัทฯ จะเน้นที่น้ำหนักเบา มีขนาดเล็ก และมีประสิทธิภาพสูง ด้วยระบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันลมทั้งแบบ off-gird และ on-grid ตั้งแต่ 500 วัตต์ – 200 กิโลวัตต์ ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ได้รับการยอมรับจาก 91 ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส รัสเซีย ชิลี อาร์เจนตินา แอฟริกาใต้ แทนซาเนีย อินเดีย ปากีสถาน ญี่ปุ่นเกาหลีใต้ เป็นต้น

  1. Nanjing High Speed Gear Manufacturing Co., Ltd (NGC) (นครหนานจิง มณฑลเจียงซู)

เป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์กล่องเกียร์กังหันลมรายใหญ่ที่สุดของโลก ในปี 2565 ได้รับการยอมรับว่าเป็นองค์กรสาธิตนวัตกรรมทางเทคโนโลยีแห่งชาติจีน และเป็นแบรนด์หลักที่มณฑลเจียงซูมุ่งบ่มเพาะและพัฒนา โดยได้เข้าร่วมกับ China High Speed Transmission Equipment Group Co., Ltd. ตั้งแต่ปี 2512 ทั้งนี้ NGC ได้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ส่งกำลังลม กล่องเกียร์พลังลม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ รวมทั้งมุ่งพัฒนาระบบขับเคลื่อนความเร็วปานกลาง รวมถึงกล่องเกียร์ขนาด 13.5 – 15.0 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันใช้กันอย่างแพร่หลายในอุปกรณ์พลังงานลม อุตสาหกรรมยานยนต์ รถไฟ หุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

กล่องเกียร์พลังงานลมของ NGC มีการใช้งานกว่า 100,000 ชุด ใน 30 ประเทศทั่วโลก และในปี 2565 NGC ได้รับรางวัล “Gold Award for Best Transmission Chain” จากวารสารพลังงานลมระดับโลก Windpower Monthly โดยปัจจุบัน NGC ได้ผลิตกล่องเกียร์รุ่นใหม่ขนาด 16-18 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างขยายขีดความสามารถเป็น 20 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568

รถยนต์พลังงานใหม่ (New Energy Vehicle: NEV)

คาร์บอนคู่ (Dual Carbon)” คือคำมั่นสัญญาที่จีนประกาศเมื่อกันยายน 2563 โดยตั้งเป้าหมายบรรลุการปล่อยคาร์บอนในระดับสูงสุด (Carbon Peak) ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) และบรรลุการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปี 2603 (ค.ศ. 2060) ซึ่งจีนได้หันมาเพิ่มการใช้พลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิลการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และลดการปล่อยคาร์บอนอย่างจริงจัง

เพื่อบรรลุคำมั่นดังกล่าว จีนได้ดำเนินการภายใต้ระบบนโยบาย “1 + N” โดย “1” คือ แนวทางเพื่อการบรรลุเป้าหมายคาร์บอนคู่ และ “N” คือ นโยบายย่อยที่เกี่ยวข้องของแต่ละพื้นที่ในจีน ซึ่งจะเป็นการควบคุมการใช้ถ่านหิน และเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งอนาคตควบคู่กันไป

รถยนต์พลังงานใหม่ (New Energy Vehicle: NEV)” เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ตอบโจทย์เรื่องลดการใช้พลังงานฟอสซิล และเป็นปัจจัยสำคัญที่จีนจะใช้ขับเคลื่อนนโยบายคาร์บอนคู่ ปัจจุบันแต่ละพื้นที่ในจีนได้เร่งกระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรม NEV และรณรงค์ให้ผู้บริโภคหันมาใช้รถยนต์ NEV กันมากขึ้น โดยมีมาตรการและแรงจูงใจที่หลากหลาย อาทิ การยกเว้นภาษีการซื้อรถยนต์ การให้เงินอุดหนุนสำหรับภาคธุรกิจและผู้บริโภค การเร่งสร้างเครือข่ายให้บริการชาร์จไฟฟ้า เป็นต้น รวมทั้งส่งเสริมการเป็นผู้นำในระดับโลกของจีนในการผลิตและใช้รถยนต์ NEV ซึ่งเห็นได้จากยอดขายที่สูงเป็นอันดับที่ 1 ของโลกติดต่อกันถึง 8 ปี

เมื่อกล่าวถึงรถยนต์ NEV จะต้องนึกถึงเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta: YRD) ซึ่งประกอบด้วยนครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลอานฮุย เนื่องจากเป็นหนึ่งในพื้นที่ฐานอุตสาหกรรม NEV ระดับแนวหน้าของจีน โดยในปี 2565 มีส่วนแบ่งตลาดการผลิตรถยนต์ NEV ถึงร้อยละ 39.6 ของยอดการผลิตรถยนต์ NEV ทั่วทั้งจีน

เขต YRD เป็นพื้นที่ที่มีความตื่นตัวอย่างมากในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม NEV โดยมีนโยบายและแผนงานที่เป็นรูปธรรมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

เซี่ยงไฮ้ ออก “แผนปฏิบัติการเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่ (ปี 2564 – 2568)” โดยเมื่อถึงปี 2568 เซี่ยงไฮ้มุ่งบรรลุเป้าหมายที่สำคัญ อาทิ

1. มีปริมาณการผลิตรถยนต์ NEV มากกว่า 1.2 ล้านคันต่อปี และมีมูลค่าการผลิตมากกว่า 350,000 ล้านหยวนต่อปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 35 ของมูลค่าการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในเซี่ยงไฮ้

2. การซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ 100% (Battery Electric Vehicle: BEV) ส่วนบุคคลจะมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 ของการซื้อรถยนต์ใหม่ทั้งหมดของผู้บริโภคในเซี่ยงไฮ้

3. ปรับเปลี่ยนรถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี่ รถยนต์หน่วยงานภาครัฐ รถบรรทุกในเขตเมือง และรถขนส่งทางไปรษณีย์ ให้เป็นรถยนต์ NEV ทั้งหมด และมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle: FCEV) เกินกว่า 10,000 คัน

เจียงซู ประกาศ “ข้อเสนอแนะการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่อย่างมีคุณภาพสูง” เมื่อ 1 มิถุนายน 2565 โดยตั้งเป้าหมาย อาทิ

1. เมื่อถึงปี 2568 จะมีปริมาณการผลิตรถยนต์ NEV มากกว่า 1 ล้านคันต่อปี มีบริษัทผู้ผลิตที่มียอดจำหน่ายรถยนต์ NEV เกินกว่า 300,000 คันต่อปีจำนวน 2 – 3 ราย นอกจากนี้ จะเพิ่มศูนย์เทคโนโลยีวิสาหกิจระดับชาติจำนวน 5 – 8 แห่ง และสร้างศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมการผลิตระดับชาติ 1 – 2 แห่ง

2. พัฒนาให้เจียงซูเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในจีน (ปัจจุบันมีเมืองที่โดดเด่นในด้านนี้หลายเมือง อาทิ ฉางโจว และหนานจิง) และบ่มเพาะห่วงโซ่อุตสาหกรรมรถยนต์ FCEV ที่ครอบคลุม โดยผลักดันให้เมืองซูโจวและเมืองหนานทงเข้าร่วมการก่อสร้างกลุ่มเมืองสาธิตรถยนต์ FCEV ในจีน

เจ้อเจียง ออก “แผนปฏิบัติการเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่” เมื่อ 29 มกราคม 2566 โดยตั้งเป้าหมายผลสำเร็จเมื่อถึงปี 2568 อาทิ

1. มีปริมาณการผลิตรถยนต์ NEV มากกว่า 1.2 ล้านคันต่อปี คิดเป็นสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 60 ของปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในมณฑล และคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ของปริมาณการผลิตรถยนต์ NEV ทั่วทั้งจีน โดยมียอดส่งออกรถยนต์ NEV ไปยังต่างประเทศเกิน 200,000 คันต่อปี

2. ทั่วทั้งมณฑลมีแท่นชาร์จไฟฟ้าในพื้นที่สาธารณะไม่ต่ำกว่า 100,000 แท่น และมีสถานีเติมไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ FCEV รวม 50 แห่ง

3. กระตุ้นให้มีการใช้รถยนต์ FCEV ในการขนส่งสาธารณะ การขนส่งในท่าเรือ และการขนส่งระหว่างเมืองรวมประมาณ 5,000 คัน

อานฮุย ออก “แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่ (ปี 2564 – 2566)” โดยได้ตั้งเป้าหมายที่สำคัญ อาทิ

1. บ่มเพาะวิสาหกิจรถยนต์ NEV ที่มีศักยภาพจำนวน 3 – 5 ราย และวิสาหกิจผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ NEV ที่มีความสามารถในการแข่งขันระดับโลกจำนวนหนึ่ง อีกทั้งกระตุ้นให้มีแบรนด์ชื่อดังในสาขาอุตสาหกรรมรถยนต์ NEV มากกว่า 10 แบรนด์ (อาทิ Chery, Nio, JAC, JETOUR, BODGE เป็นต้น)

2. ในปี 2566 อานฮุยจะมีส่วนแบ่งตลาดการผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ในจีนมากกว่าร้อยละ 10 และมีส่วนแบ่งตลาดการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ NEV ในจีนมากกว่าร้อยละ 70

มาตรการผลักดัน NEV 

เพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการข้างต้นและส่งเสริมให้เขต YRD เป็นพื้นที่ที่มีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรม NEV  อย่างแท้จริง แต่ละพื้นที่ในเขต YRD จึงได้ออกมาตรการเพิ่มเติมที่น่าสนใจอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรมและการบริโภค NEV ดังนี้

เซี่ยงไฮ้

มาตรการส่งเสริมการพัฒนา

ผลักดันการก่อสร้างระบบการซัพพลายไฮโดรเจนสำหรับรถยนต์ FCEV รวมถึงลดต้นทุนการขนส่งไฮโดรเจนด้วยการใช้เทคโนโลยีการขนส่งแบบผสมผสาน อาทิ การขนส่งผ่านระบบท่อ การขนส่งในสถานะของเหลวอุณหภูมิต่ำการขนส่งในสถานะก๊าซอุณหภูมิติดลบ และการขนส่งในสถานะก๊าซความดันสูง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ FCEV

มาตรการกระตุ้นการบริโภค อาทิ

1. สิทธิพิเศษด้านภาษี โดยจะยกเว้นภาษีการซื้อรถยนต์ระหว่าง 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2566 สำหรับ    การซื้อรถยนต์ BEV รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) และรถยนต์ FCEV ที่ตรงตามเงื่อนไขการยกเว้นภาษี

2. เงินอุดหนุน โดยผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์ BEV คันใหม่ภายใน 30 มิถุนายน 2566 จะได้รับเงินอุดหนุน 10,000 หยวนต่อคัน

เจียงซู

มาตรการส่งเสริมการพัฒนา อาทิ

1. เร่งสร้างเครือข่ายให้บริการชาร์จไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงและรวดเร็ว และออกระเบียบการบริหารจัดการและการก่อสร้างอุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้าฉบับแรกของจีน

2. ผลักดันการวิจัยพัฒนาในสาขาแบตเตอรี่ สาขารถยนต์เชื่อมต่ออัจฉริยะ (Intelligent Connected Vehicles: ICV) และสาขา FCEV เป็นต้น

มาตรการกระตุ้นการบริโภค อาทิ

เมืองอู๋ซี มณฑลเจียงซูจัดเทศกาลช้อปปิ้งไท่หู และแจกคูปองสำหรับใช้ซื้อรถยนต์ NEV รวมมูลค่า 12 ล้านหยวน โดยผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์ NEV เพื่อใช้ในครัวเรือนที่มีราคาตั้งแต่ 100,000 หยวนขึ้นไป จะได้รับคูปอง 3,000 หยวนสำหรับรถยนต์ BEV และคูปอง 1,500 หยวนสำหรับรถยนต์ NEV อื่น ๆ

เจ้อเจียง

มาตรการส่งเสริมการลงทุน อาทิ

1. สนับสนุนการพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรม อาทิ

– บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ NEV ที่พัฒนารถยนต์รุ่นใหม่จะได้รับเงินรางวัล 1 ล้านหยวนต่อรุ่น โดยได้รับเงินสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านหยวน- เมื่อวิสาหกิจมียอดจำหน่ายรถยนต์ NEV 500,000 คันต่อปี 100,000 คันต่อปี และ 150,000 คันต่อปี จะได้รับเงินรางวัล 10 ล้านหยวนในแต่ละยอดจำหน่ายดังกล่าว และเมื่อมีปริมาณซัพพลายแบตเตอรี่ถึง 3 GWh ต่อปี 6 GWh ต่อปี และ 9 GWh ต่อปี จะได้รับเงินรางวัล 5 ล้านหยวนในแต่ละปริมาณซัพพลายดังกล่าว

– ให้เงินรางวัล 3 – 10 ล้านหยวนสำหรับบริษัทรถยนต์ NEV ที่สร้างศูนย์นวัตกรรมทางเทคโนโลยีศูนย์นวัตกรรมการผลิต ศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรม ศูนย์เทคโนโลยีวิสาหกิจ แล็บวิจัยพัฒนา และศูนย์วิจัยทางวิศวกรรมในระดับมณฑลหรือระดับชาติ

– ให้เงินรางวัล 300,000 หยวนสำหรับการสร้างกลุ่มวิสาหกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำในห่วงโซ่อุตสาหกรรมรถยนต์ NEV ระดับมณฑลได้สำเร็จ

– ให้เงินรางวัล 500,000 หยวนสำหรับวิสาหกิจชิ้นส่วนอะไหล่ที่รับหน้าที่เป็นซัพพลายเออร์ระดับ 1 ให้แก่บริษัทรถยนต์ NEV แบบทั้งคันเป็นครั้งแรก โดยให้สูงสุดไม่เกิน 1.5 ล้านหยวน

2. สนับสนุนการก่อสร้างอุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้า อาทิ

– ให้เงินอุดหนุน 200 หยวน/ kW สำหรับการก่อสร้างอุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้ากระแสตรง และ 80 หยวน/ kW สำหรับอุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้ากระแสสลับ

– ให้เงินอุดหนุน 0.1 หยวน/ kWh สำหรับหน่วยงานและสถานที่ต่าง ๆ ที่ให้บริการชาร์จไฟฟ้า

– ให้เงินอุดหนุน 800 หยวน/ kWh สำหรับ  การก่อสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า

– ให้เงินช่วยเหลือ 600 หยวนสำหรับผู้ที่ยื่นขอติดตั้งแท่นชาร์จไฟฟ้าเพื่อใช้ส่วนบุคคล

มาตรการกระตุ้นการบริโภค อาทิ

1. เขตไหสู่ เมืองหนิงโป จัดกิจกรรมส่งเสริมการซื้อขายในช่วงเทศกาลหยวนเซียว (ช่วงต้นกุมภาพันธ์ 2566) โดยผู้ซื้อรถยนต์ NEV คันใหม่สำหรับใช้ส่วนบุคคล จะได้รับคูปองมูลค่า 1,500 – 10,000 หยวนสำหรับนำไปใช้จ่ายได้ในห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารที่เข้าร่วมกิจกรรม

2. เมืองเยวี่ยชิงภายใต้การปกครองของเมืองเวินโจว ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงตรุษจีนปีนี้ (ปลายมกราคม – ต้นกุมภาพันธ์ 2566) โดยได้แจกคูปองสำหรับซื้อรถยนต์ NEV รวมมูลค่า 10 ล้านหยวน ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับคูปอง 2,000 – 8,000 หยวนสำหรับซื้อรถยนต์ NEV ในระดับราคาต่าง ๆ

อานฮุย

มาตรการส่งเสริมการพัฒนา อาทิ

1. ให้เงินอุดหนุนร้อยละ 20 ของเงินทุนที่หน่วยงานใช้ในโครงการนวัตกรรมเทคโนโลยีอุตสาหกรรมด้านรถยนต์ NEV และรถยนต์ ICV โดยอุดหนุนโครงการละไม่เกิน 10 ล้านหยวน

2. สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยอัตราพิเศษสำหรับภาคการผลิตรถยนต์ NEV และรถยนต์ ICV พร้อมทั้งให้เงินช่วยเหลือร้อยละ 40 ของดอกเบี้ยเงินกู้ที่ผู้ผลิตต้องชำระ

3. กำหนดให้ชุมชนที่พักอาศัยและลานจอดรถยนต์สาธารณะที่จะสร้างขึ้นใหม่ต้องมีอุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้าคิดเป็นร้อยละ 100 ของจำนวนรถยนต์ทั้งหมดในพื้นที่ดังกล่าว ขณะที่การขยายพื้นที่ลานจอดรถเดิมของชุมชนที่พักอาศัยและลานจอดรถยนต์สาธารณะในเขตเมืองจะต้องมีอุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้าไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 และร้อยละ 35 ของจำนวนรถยนต์ทั้งหมดในพื้นที่ดังกล่าว

มาตรการกระตุ้นการบริโภค อาทิ

นครเหอเฝยประกาศมาตรการส่งเสริมให้บุคคลที่จำหน่ายหรือยื่นขอทำลายรถยนต์ที่ใช้ในครัวเรือนที่ตรงตามเงื่อนไข และซื้อรถยนต์ NEV คันใหม่เพื่อใช้ในครัวเรือนภายใน 30 มิถุนายน 2566 จะได้รับเงินอุดหนุนไม่เกิน 5,000 หยวนต่อคัน

ในภาพรวม ข้อมูลข้างต้นได้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาอุตสาหกรรม NEV ของแต่ละพื้นที่ในเขต YRD  ไปพร้อมกัน รวมถึงการยกระดับอุตสาหกรรมดังกล่าวและหันมาใช้รถยนต์ NEV มากขึ้น ในลักษณะ “แบ่งกันทำ” บนพื้นฐานของจุดเด่นในแต่ละพื้นที่ อาทิ 

เซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นมหานครที่มีผู้อยู่อาศัยมากและพึ่งระบบการขนส่งสาธารณะเป็นหลัก จะเน้นปรับเปลี่ยนให้รถโดยสารสาธารณะเป็นรถยนต์ NEV ทั้งหมด 

เจียงซูต่อยอดจากความสามารถในการผลิตแบตเตอรี่ที่มีอยู่เดิม และมุ่งยกระดับให้กลายเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่ NEV ขนาดใหญ่ที่สุดในจีน 

เจ้อเจียงมุ่งพัฒนารถยนต์ FCEV และกระตุ้นการส่งออกรถยนต์ NEV ไปต่างประเทศ 

อานฮุยมีความโดดเด่นในด้านการผลิตอุปกรณ์ยานยนต์ จึงให้ความสำคัญกับการเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ NEV ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในจีน

นอกจากนี้ ในปี 2565 เขต YRD ยังมีรถยนต์ NEV ยอดนิยมติด 10 อันดับแรกของจีนรวม 5 แบรนด์ (มีจำนวนมากที่สุดในจีน) ได้แก่ SAIC (เซี่ยงไฮ้) Tesla China (เซี่ยงไฮ้) Geely (เจ้อเจียง) Chery (อานฮุย) และ NETA (เจ้อเจียง)

เขต YRD เป็นที่ตั้งของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ NEV และแบตเตอรี่ไฟฟ้าที่มีศักยภาพหลายราย อาทิ

  1. Shanghai Automotive Industry Corporation (SAIC) 

นครเซี่ยงไฮ้

ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของจีน โดยในปี 2565 มียอดขายรถยนต์ 5.3 ล้านคัน ซึ่งมียอดขายครองอันดับที่ 1 ในจีนติดต่อกัน 17 ปี นอกจากนี้ ยังเป็นบริษัทรถยนต์แห่งแรกของจีนที่มียอดขายรถยนต์ NEV สะสมถึง 1 ล้านคัน อีกทั้งยังเป็นผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนรายแรกที่มีปริมาณการผลิตมากกว่า 1 ล้านคันในต่างประเทศ โดยมีฐานการวิจัยและพัฒนาสำคัญ 3 แห่ง ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และอิสราเอล SAIC ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นผู้ผลิตรถยนต์ FCEV ที่สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก โดยภายในปี 2568 จะสร้างทีมงานกว่า 1,000 คน เพื่อวิจัยและพัฒนาระบบเซลล์เชื้อเพลิง เพื่อบรรลุเป้าหมายการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ FCEV 10,000 คันต่อปี

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับไทย ในปี 2556 SAIC ได้ร่วมมือกับ CP ของไทย ก่อสร้างโรงงานประกอบรถยนต์แบรนด์ MG ที่จังหวัดชลบุรีในไทย (ทั้งรถยนต์น้ำมันเชื้อเพลิงและรถยนต์ NEV) โดยมีบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ทำหน้าที่กำกับดูแลงานด้านการจัดจำหน่าย การตลาด และบริการหลังการขายรถยนต์ MG ในประเทศไทย

  1. Zhejiang Geely Holding Group Co., Ltd. (ZHN) 

นครหางโจว มณฑลเจ้อเจียง

ก่อตั้งเมื่อปี 2540 เป็นผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของจีน และเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีขนาดใหญ่และเงินทุนมากที่สุดรายหนึ่งในจีน มีปริมาณการผลิตและยอดขายเกิน 1 ล้านคันเป็นเวลา 6 ปีติดต่อกัน และติดลำดับที่ 239 ใน Fortune 500 ของโลกประจำปี 2564

ปี 2565 มียอดขายรถยนต์รวม 1.43 ล้านคัน แบ่งเป็นยอดขายรถยนต์ NEV 328,727 คัน (ส่งออกไปต่างประเทศ 198,242 คัน)   Geely ตั้งเป้าหมายกระตุ้นยอดขายรถยนต์ NEV ในปี 2566 ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของปี 2565 ผ่านการพัฒนาทั้งรถยนต์ BEV รถยนต์ HEV และรถยนต์ PHEV รวมถึงอุปกรณ์เคลื่อนที่สำหรับการเปลี่ยนแบตเตอรี่

ทั้งนี้ เมื่อพฤศจิกายน 2562 Geely ได้ร่วมกับ บ. Asia Cab Co., Ltd. ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่ฮ่องกง เริ่มผลิตรถโดยสารรุ่น TX4 ที่ประเทศไทย นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ Geely เข้าสู่ตลาดไทย ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า ปัจจุบัน Geely อยู่ระหว่างทำการศึกษาตลาดและหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ในการเข้าไปลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตและทำตลาดรถยนต์ NEV ในไทย

  1. Hozon Auto New Energy Automobile Co., Ltd.Neta Auto Thailand | Facebook

เมืองถงเซียง มณฑลเจ้อเจียง

เป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ NETA ซึ่งได้รางวัลตัวถังรถยนต์ยอดเยี่ยม 10 อันดับแรกของจีนประจำปี 2565 โดย NETA เริ่มเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกในปี 2561 และจัดอยู่ในกลุ่มบริษัทรถยนต์ NEV ที่มียอดขายที่เติบโตสูงอย่างต่อเนื่องในตลาดรถยนต์ของจีน มีโรงงานผลิตมาตรฐานระดับโลกรวม 3 แห่ง (เจ้อเจียง เจียงซี และกว่างซี) รวมกำลังการผลิต 250,000 คัน/ ปี นอกจากนี้ ยังมีศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์รวม 6 แห่ง (อยู่ในต่างประเทศ 3 แห่ง ได้แก่ เยอรมนี อิตาลี และ สหรัฐอเมริกา) อีกทั้งยังได้มีความร่วมมือกับผู้นำด้านนวัตกรรมระดับโลก อาทิ Sense Time (ผู้พัฒนา AI รายใหญ่จากเซี่ยงไฮ้) Horizon Robotics (ผู้นำด้านแพลตฟอร์มการประมวลผล AI สำหรับยานยนต์จากปักกิ่ง) Huawei (ผู้ให้บริการโซลูชั่นเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจากเซินเจิ้น) และ CATL (ผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีนจากฝูเจี้ยน)

NETA ได้ขยายธุรกิจสู่ไทยในปี 2565 โดยการไปทำการตลาดในประเทศไทยในนาม Neta Auto (Thailand) Co., Ltd. และมีรายงานข่าวว่า มีแผนจะร่วมมือกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. เพื่อตั้งฐานการผลิตในไทยด้วยกำลังการผลิตรถยนต์ NEV 100,000 คัน/ ปี และตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกสู่ตลาดอาเซียน นอกจากนี้ เมื่อสิงหาคม 2565 ผู้บริหาร NETA ได้เข้าร่วมการประชุม Bangkok – Shanghai Economic Conference (BSEC) ครั้งที่ 5 ที่สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ จัดขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้ โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุผลการตัดสินใจของบริษัทฯ ในการเข้าไปลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลไทยในการสนับสนุนอุตสาหกรรม NEV

  1. Chery Automobile Co., Ltd.Chery Logo, HD Png, Information

เมืองอู๋หู มณฑลอานฮุย

บริษัทรถยนต์ชั้นนำของจีนที่ส่งออกรถยนต์มากที่สุดติดต่อกัน 20 ปี (ปี 2545 – 2565) ในปี 2565 มียอดขายรถยนต์สะสม 1.27 ล้านคัน มีลูกค้ากว่า 11.20 ล้านคนทั้งในจีนและต่างประเทศ อีกทั้งได้รับรางวัล International Convention on Quality Control Circles (ICQCC) ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “Quality Olympics” เป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน และรางวัลความรับผิดชอบต่อสังคมในโครงการ “Dual Carbon”

ปัจจุบัน Chery มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนารถยนต์ NEV แบตเตอรี่ และยานยนต์อัตโนมัติภายใต้แบรนด์ Cherylion ซึ่งมีศูนย์วิจัยทั้งในจีน เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และบราซิล อีกทั้งมีทีมวิจัยด้านยานยนต์มากกว่า 5,500 คน มีโรงงานผลิต 10 แห่งในต่างประเทศ ซึ่งมีกำลังผลิตรวม 200,000 คันต่อปี รวมทั้งสนใจขยายเข้าสู่ไทยและอยู่ระหว่างทำการศึกษาเชิงลึก

  1. NIO Co., Ltd.

นครเหอเฝย มณฑลอานฮุย

บริษัทสตาร์ทอัพรถยนต์ NEV ซึ่งก่อตั้งขึ้นที่นครเหอเฝย มณฑลอานฮุยเมื่อปี 2557 โดยในปี 2565 มีปริมาณผลิตรถยนต์ NEV 120,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 34

NIO เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกที่เปิดตัวรถยนต์ NEV รุ่นที่ใช้ ชิปเซ็ต EyeQ4 ทั้งยังพัฒนาเทคโนโลยี NOMI ซึ่งเป็นระบบ AI ในรถยนต์รุ่นแรกที่สามารถเปิดใช้งานระบบนำทางของรถ ควบคุมเสียงเพลงในรถ และสามารถถ่ายเซลฟี่ผู้โดยสารในรถยนต์ได้อัตโนมัติ รวมถึงยังเป็นผู้ผลิตรถยนต์ NEV อีกหลายรุ่น อาทิ ซูเปอร์คาร์ไฟฟ้า EP9 (มีความเร็วสูงที่สุดในโลก) และรถยนต์ไฟฟ้า EC7 (มีค่าสัมประสิทธิ์แรงต้านอากาศดีที่สุดในโลก และสามารถแล่นต่อเนื่องได้สูงสุดถึง 920 กิโลเมตรตามมาตรฐาน CLTC[1] ของจีน)

นอกจากนี้ NIO ยังได้สร้างสถานีให้บริการเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ภายใน 5 นาที (ไม่ต้องรอชาร์จ) โดยล่าสุด   ได้ลงนามความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ Sinopec Shanghai Petrochemical Company Limited (SHI) เพื่อสร้างสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่อีก 4,000 แห่งทั่วโลกภายในปี 2568

  1. SVOLT Energy Technology Co., Ltd.

เมืองฉางโจว มณฑลเจียงซู

ก่อตั้งเมื่อปี 2561 แยกออกจาก Great Wall Motor เชี่ยวชาญการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ EV ทั้งการผลิตลิเทียมอิออนแบตเตอรี่ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ ผลิตภัณฑ์จัดเก็บพลังงาน รวมถึงธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเน้นการลงทุนตลอดห่วงโซ่การผลิต รวมถึงการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว และมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเอง

SVOLT เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ NEV รายแรกในจีนที่สามารถวิจัยและพัฒนาต้นแบบแบตเตอรี่โซลิดสเตต (Solid State) ที่มีซัลเฟอร์ความจุ 20 แอมแปร์-ชั่วโมง สามารถขับเคลื่อนรถยนต์ NEV ได้ไกลถึง 1,000 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ซึ่งถือเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่แห่งอนาคต ทั้งนี้ SVOLT ได้ประกาศยุทธศาสตร์ “SV 600” โดยตั้งเป้าหมายจะเพิ่มกำลังการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าให้ได้ 600 กิกะวัตต์ในปี 2568

SVOLT มีฐานการผลิต 12 แห่งในจีนและเยอรมนี และมีศูนย์วิจัยและพัฒนา 10 แห่ง รวมถึงในเกาหลีใต้ อินเดีย และเยอรมนี และอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่ไฟฟ้าในไทย ซึ่งจะเป็นการลงทุนแห่งแรกของบริษัทฯ ในอาเซียน

Evonik upgrades Shanghai site to explore growth potential - SHINE News

ชีวการแพทย์ (Biomedical)

ปัจจุบัน จีนได้สร้างอุทยานวิทยาศาสตร์การแพทย์และเทคโนโลยีและอุทยานชีวภาพหลายแห่ง อาทิเช่น Zhangjiang Pharma Valley ที่ตั้งอยู่ในอุทยานไฮเทคจางเจียง (Zhangjiang Hi-Tech Park) อุตสาหกรรมชีวการแพทย์ของจีนได้กลายเป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่ที่มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพในการเติบโตในจีน และยังเป็นหนึ่งในภาคส่วนย่อยที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุดในอุตสาหกรรมยาอีกด้วย

เซี่ยงไฮ้

ในปี 2563 ขนาดของอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ในเซี่ยงไฮ้มีมูลค่าเกิน 6 แสนล้านหยวน ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ อุตสาหกรรมชีวการแพทย์ได้กลายเป็นเสาหลักสำคัญของอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงกลยุทธ์ของเซี่ยงไฮ้  ดังนั้น การเร่งสร้างพื้นที่สูงนวัตกรรมอุตสาหกรรมชีวการแพทย์และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมชีวการแพทย์ระดับโลกที่มีอิทธิพลระดับโลก ยังเป็นภารกิจหลักที่ได้รัฐบาลกลางได้มอบภารกิจสำคัญให้กับเซี่ยงไฮ้  เซี่ยงไฮ้มีข้อได้เปรียบทางนโยบายในการสร้างศูนย์กลางนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ ไม่เพียงให้การสนับสนุนหลักในด้านการวิจัยและนวัตกรรม และการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เท่านั้น แต่ยังออกนโยบายการสนับสนุนพิเศษต่าง ๆ สำหรับผู้มีความสามารถอีกด้วย

“Zhangjiang Pharma Valley” ฐานอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพและเภสัชกรรมจางเจียงฐานอุตสาหกรรมของสถาบันวิจัยขนาดใหญ่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาของบริษัทยาข้ามชาติ บริษัทนวัตกรรมขนาดเล็กและขนาดกลาง และบริษัทสตาร์ทอัพด้านชีวการแพทย์ และเป็นที่ตั้งของบริษัทที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมมากกว่า 400 แห่ง บริษัทยาชั้นนำของโลก เช่น Novartis, Roche Pfizer และ AstraZeneca ได้ตั้งฐานการพัฒนาในพื้นที่นี้ และ ATLATL หนึ่งในห้องปฏิบัติการชีววิทยาคลาส A ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ในเซี่ยงไฮ้มีบริษัทด้านชีวการแพทย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 38 แห่ง เช่น TopAlliance, Guojian  Pharmaceutical และ KHB โดยบริษัท Shanghai Pharmaceuticals และบริษัท Shanghai Fosun Pharmaceutical มีมูลค่าตลาดมากกว่า 1,000 หยวน

PharmaBoardroom - Fosun Pharma
Shanghai Pharmaceuticals Holding Co., Ltd - BIO International Convention |  BIO

เจียงซู

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมชีวการแพทย์ของมณฑลเจียงซูพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีจำนวนยาใหม่ที่ได้รับอนุมัติครองอันดับหนึ่งในประเทศเป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน ขณะเดียวกัน การจดทะเบียนผลิตภัณฑ์อุปกรณ์การแพทย์เติบโตอย่างต่อเนื่อง มีใบรับรองการจดทะเบียนอุปกรณ์การแพทย์ประเภท 2 ทั้งหมด 11,764 ฉบับ เป็นผู้นำในประเทศ  รัฐบาลมณฑลเจียงซูได้ออก “แผนปฏิบัติการสามปีห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งของมณฑลเจียงซู (2021-2023)” เสนอเป้าหมายในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุตสาหกรรมชีวการแพทย์ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาความเป็นเลิศ และได้ออก “นโยบายและมาตรการหลายประการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสูงของอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ของมณฑล” และเสนอมาตรการ 30 ประการเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ของมณฑล

เจ้อเจียง

พื้นที่หลายแห่งในมณฑลเจ้อเจียงได้นำเสนอนโยบายใหม่ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพสูงของอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ ใน “แผนห้าปีฉบับที่ 14 สำหรับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในมณฑลเจ้อเจียง”ระบุว่า มุ่งเน้นไปที่ประเด็นสำคัญ เช่น วงจรรวม ปัญญาประดิษฐ์ และชีวการแพทย์ และร่วมมือกันในการวิจัยเทคโนโลยีหลักที่สำคัญ ส่งเสริมการสร้างแพลตฟอร์มการจัดการทรัพยากรพันธุกรรมมนุษย์ระดับมณฑล บูรณาการและยกระดับศูนย์ประเมินและวิจัยความปลอดภัยยาใหม่แห่งชาติ (เจ้อเจียง) และการพัฒนายาใหม่ของมณฑล เทคโนโลยีการประเมินยา และแพลตฟอร์มบริการที่เป็นนวัตกรรมอื่น ๆ ฝึกฝนและพัฒนาสถาบันบริการการวิจัยและพัฒนาชีวการแพทย์ต่าง ๆ และ สร้างห่วงโซ่บริการแบบครบวงจรตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงความสำเร็จ อีกทั้ง เมืองหางโจว เหวินโจว เจียซิง และสถานที่อื่นๆ ได้นำเสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการพัฒนาชีวการแพทย์ ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาชีวการแพทย์ในช่วง “แผนห้าปีฉบับที่ 14”

อานฮุย

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 การประชุมสัมมนาเรื่องการเร่งการพัฒนาคุณภาพสูงของอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ในมณฑลอานฮุย จัดขึ้นที่เมืองเหอเฟย ตัวแทนที่เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนเชิงลึกเกี่ยวกับสถานะการพัฒนาปัจจุบันของอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ในมณฑลอานฮุย นโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้อง แผนและแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต และหารือเกี่ยวกับวิธีส่งเสริม “สองเท่า” งานสรรหาบุคลากรและการแนะนำซ้ำซ้อน” ที่มีคุณภาพสูง มีการอภิปรายหลักเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการเพื่อประสานงานสนับสนุนการก่อสร้างอุทยานชีวการแพทย์ และบูรณาการการพัฒนาอุตสาหกรรมบริการที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]