Yangtze River Delta (YRD)
Photo: https://www.mdpi.com/2071-1050/15/7/5955
เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี หรือ Yangtze River Delta (YRD) ครอบคลุมพื้นที่นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลอานฮุย มีพื้นที่รวมกันกว่า 360,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 4.0 ของพื้นที่ประเทศจีนทั้งหมด หากเทียบกับประเทศไทย คิดเป็นร้อยละ 70 ของพื้นที่ประเทศไทย
YRD มีประชากร 235 ล้านคน หรือร้อยละ 17 ของจีน แต่มีขนาด GDP 1 ใน 4 ของจีน ในปี 2565 GDP ของ YRD อยู่ที่ 29 ล้านล้านหยวน หรือ 4.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าไทย 8.6 เท่า (GDP ของไทยอยู่ที่ 4.95 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) GDP ของพื้นที่ในเขต YRD จัดอยู่ใน 11 อันดับแรกจากทุกพื้นที่ในจีน เจียงซูอยู่อันดับที่ 2 (รองจากกวางตุ้ง) เจ้อเจียงอยู่อันดับที่ 4 อานฮุยอยู่อันดับที่ 10 และเซี่ยงไฮ้เป็นอันดับที่ 11 (เซี่ยงไฮ้เป็นเมืองที่มี GDP สูงที่สุดในระดับเมือง/นครในจีนในปี 2565 GDP เซี่ยงไฮ้อยู่ที่ 4.46 ล้านล้านหยวน หรือ 6.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ)
การจัดอันดับ GDP ของมณฑล/มหานคร/เขตปกครองตนเองต่าง ๆ ของจีน ประจำปี 2565
อันดับ | ที่ตั้ง | พันล้านหยวน | อันดับ | ที่ตั้ง | พันล้านหยวน |
1 | มณฑลกวางตุ้ง | 129,118.6 | 9 | มณฑลหูหนาน | 48,670.4 |
2 | มณฑลเจียงซู | 122,875.6 | 10 | มณฑลอานฮุย | 45,045.0 |
3 | มณฑลซานตง | 87,435.0 | 11 | นครเซี่ยงไฮ้ | 44,652.8 |
4 | มณฑลเจ้อเจียง | 77,715.0 | 12 | มณฑลเหอเป่ย | 42,370.4 |
5 | มณฑลเหอหนาน | 61,345.1 | 13 | กรุงปักกิ่ง | 41,610.9 |
6 | มณฑลเสฉวน | 56,749.8 | 14 | มณฑลส่านซี | 32,772.7 |
7 | มณฑลหูเป่ย์ | 53,734.9 | 15 | มณฑลเจียงซี | 32,074.7 |
8 | มณฑลฝูเจี้ยน | 53,109.9 |
YRD ถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสูงที่สุดแห่งหนึ่งในจีน และเป็นผู้นำในการปฏิรูปและเปิดกว้าง การพัฒนาคุณภาพสูง และมุ่งสู่การเป็นสังคมนิยมที่ทันสมัยของจีน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลได้มุ่งเน้นในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 เมื่อเดือนตุลาคม 2565 และการประชุมสองสภาของจีน (การประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีนและการประชุมสภา ที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติจีน) เมื่อเดือนมีนาคม 2566
การค้าต่างประเทศของ YRD คิดเป็นกว่า 1 ใน 3 ของจีน (ร้อยละ 35.84 ของประเทศ) มีการลงทุนด้าน R&D คิดเป็น 1 ใน 3 ของจีน (งบ R&D ของเซี่ยงไฮ้คิดเป็นร้อยละ 4.2 ของ GDP ของนคร) และเป็นที่ตั้งของ 1 ใน 4 มหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน
การบูรณาการ YRD เป็นยุทธศาสตร์ชาติที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ประกาศไว้ในปี 2561 โดยเซี่ยงไฮ้ มีบทบาทนำในเรื่องนี้ รวมถึงการเป็นประตูเชื่อมจีนกับโลก ผ่านนโยบายเศรษฐกิจวงจรคู่ (Dual Circulation) และมุ่งส่งเสริมการเป็น “5 ศูนย์กลาง” ของเซี่ยงไฮ้ในด้าน
(1) เศรษฐกิจ
(2) การเงิน โดยตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้มีมูลค่า 3 แสนล้านล้านหยวน
(3) การค้า โดยการค้าต่างประเทศอยู่ที่ 4.2 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 สูงกว่าระดับ 4 ล้านล้านหยวน 2 ปีต่อเนื่อง
(4) การขนส่ง โดยเซี่ยงไฮ้มีระบบขนส่งทางรางระยะทางรวม 831 กม. ยาวที่สุดในโลก และท่าเรือเซี่ยงไฮ้มีการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ 47.3 ล้าน TEUs สูงที่สุดในโลก 13 ปีต่อเนื่อง และ
(5) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
YRD มุ่งพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อความเข้มแข็งของการพัฒนาเศรษฐกิจและลดการพึ่งพิงเทคโนโลยีจากต่างชาติ
เซี่ยงไฮ้ | เน้นอุตสาหกรรมหลัก 3 ด้าน ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์ AI ยาชีวภาพ |
เจียงซู | โดดเด่นด้านอุตสาหกรรมการผลิตที่ทันสมัย โดยมีคลัสเตอร์อุตสาหกรรมขั้นสูงระดับชาติ 10 สาขา สูงที่สุดในประเทศ เช่น IoT อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล ชีวการแพทย์ |
เจ้อเจียง | ฮับด้านดิจิทัลของจีน เป็นที่ตั้งของบริษัท Alibaba รวมทั้งได้รับเลือกเป็นเขตสาธิตด้าน Common Prosperity ของจีน เนื่องจากมีช่องว่างทางรายได้ต่ำมาก |
อานฮุย | เน้นด้าน AI ควอนตัมและพลาสมาฟิสิกส์ โดยนครเหอเฝยเป็น 1 ใน 4 “Comprehensive National Science Center” ของจีน (นอกจากกรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ และเมืองเซินเจิ้น) |
YRD ยังเน้นการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนการบรรลุ Dual Carbon Goal ของจีน (Carbon Peak in 2030 & Carbon Neutral in 2060) โดย YRD มีจุดแข็งในอุตสาหกรรมยานยนต์และแบตเตอรี่ไฟฟ้า ในปี 2565 จีนผลิต EV ได้ 7 ล้านคัน สูงที่สุดในโลก โดยผลิตได้มากที่สุดที่ YRD ถึง 2.8 ล้านคัน หรือร้อยละ 40 ของการผลิตทั้งหมดในจีน โดย YRD มีแบรนด์ EV ยอดนิยม 5 แบรนด์ ในแบรนด์ 10 อันดับแรกของจีน ได้แก่ SAIC (เซี่ยงไฮ้) Tesla China (เซี่ยงไฮ้) Geely (เจ้อเจียง) Chery (อานฮุย) และ NETA (เจ้อเจียง) โดย SAIC และ NETA ได้ไปลงทุนในไทยแล้ว รวมทั้ง Geely และ Chery ก็สนใจไปลงทุนในไทย นอกจากนี้ ในปีนี้ บ. SVOLT จากเจียงซู ซึ่งเป็น spin-off ของ Great Wall Motor และมีชื่อเสียงด้านแบตเตอรี่ไฟฟ้า ได้ไปตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ที่ ประเทศไทยแล้ว
YRD ยังเป็นพื้นที่สำคัญทางการเมืองระดับชาติและบ่มเพาะผู้นำจีน
ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เคยเป็นอดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำ มณฑลเจ้อเจียง (2545 – 2550) และเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำนครเซี่ยงไฮ้ (2550)
นายหลี่ เฉียง อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำนครเซี่ยงไฮ้ คนล่าสุด (2560 – 2565) เพิ่งได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีจีน และสมาชิกถาวรกรมการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์จีน อาวุโสอันดับ 2 รองจากประธานาธิบดี สี จิ้นผิง
นายหยวน เจียจวิน อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลเจ้อเจียง ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 24 สมาชิกกรมการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์จีน และย้ายไปเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประจำนครฉงฉิ่ง
นายอู๋ เจิ้งหลง อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลเจียงซู ได้รับแต่งตั้งเป็นมนตรีแห่งรัฐ/ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน คณะรัฐมนตรีจีน
นายเจิ้ง ซานเจี๋ย อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำนครมณฑลอานฮุย ได้รับแต่งตั้งเป็นประธาน National Development and Reform Commission (NDRC) ในคณะรัฐมนตรีชุดล่าสุดของจีน
ศักยภาพของเขต YRD
ปี 2565 เขต YRD คงเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในการร่วมมือทางการค้ากับไทย โดยมูลค่าการค้าไทย – YRD (50,589.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 (ร้อยละ 37.4) ของมูลค่าการค้าไทย – จีน (135,332.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะเดียวกัน มูลค่าการนําเข้าสินค้าไทยของเขต YRD (20,378.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ก็คิดเป็นสัดส่วน มากกว่า 1 ใน 3 (ร้อยละ 36.1) ของมูลค่าการนําเข้าสินค้าไทยของจีน (56,527.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งสะท้อนศักยภาพ ในการบริโภคสินค้าไทยของเขต YRD
ประเภทสินค้าที่เขต YRD นําเข้าจากไทยสอดคล้องกับประเภทสินค้า 5 อันดับแรกที่จีนนําเข้าจากไทยถึง 4 รายการ (ได้แก่ วงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ ยางสังเคราะห์ และโพลีเมอร์ของเอทีลิน ในลักษณะขั้นปฐม) ซึ่งเป็นประเภทสินค้าจํานวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับมณฑลอื่น ๆ ในจีน และเขต YRD ยังได้นําเข้าสินค้าทั้ง 4 รายการจากไทยมากเป็นอันดับ 1 และ 2 ในจีน สะท้อนถึงบทบาทของเขต YRD ที่มีต่อการส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทย ดังนี้
1) วงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ เขต YRD เป็นแหล่งนําเข้าจากไทยอันดับที่ 2 ของจีน (เจียงซู และเซี่ยงไฮ้เป็นพื้นที่นําเข้าหลักของเขต YRD) โดยมีสัดส่วนการนําเข้าคิดเป็นร้อยละ 28.1 (มูลค่าการนําเข้าเท่ากับ 2,133.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) รองจากมณฑลกวางตุ้งที่มีสัดส่วนการนําเข้าคิดเป็นร้อยละ 61.9 (มูลค่าการนําเข้าเท่ากับ 4,691.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
2) เครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ เขต YRD เป็นแหล่งนําเข้าจากไทยอันดับที่ 2 ของจีน (เซี่ยงไฮ้ เจียงซู และเจ้อเจียงเป็นพื้นที่นําเข้าหลักของเขต YRD) โดยมีสัดส่วนการนําเข้าคิดเป็นร้อยละ 18.7 (มูลค่าการนําเข้าเท่ากับ 1,267.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) รองจากมณฑลกวางตุ้งที่มีสัดส่วนการนําเข้าคิดเป็นร้อยละ 37.2 (มูลค่าการนําเข้าเท่ากับ 2,528.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
3) ยางสังเคราะห์ เขต YRD เป็นแหล่งนําเข้าจากไทยอันดับที่ 2 ของจีน (เจ้อเจียงและเจียงซูเป็นพื้นที่นําเข้าหลักของเขต YRD) โดยมีสัดส่วนการนําเข้าคิดเป็นร้อยละ 25.6 (มูลค่าการนําเข้า 698.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) รองจากมณฑลซานตงที่มีสัดส่วนการนําเข้าคิดเป็นร้อยละ 50.6 (มูลค่าการนําเข้าเท่ากับ 1,379.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
4) โพลีเมอร์ของเอทีลินในลักษณะขั้นปฐม เขต YRD เป็นแหล่งนําเข้าจากไทยอันดับที่ 1 ของจีน (เจ้อเจียง เจียงซู และเซี่ยงไฮ้เป็นพื้นที่นําเข้าหลักของเขต YRD) โดยมีสัดส่วนการนําเข้าคิดเป็นร้อยละ 62.7 (มูลค่า การนําเข้าเท่ากับ 1,205.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
วงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าอันดับที่ 1 ที่เขต YRD นําเข้าจากไทยและอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ของเขต YRD ในปัจจุบัน โดยเฉพาะเซี่ยงไฮ้ที่มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมวงจรรวมและ AI การที่เขต YRD หันมานําเข้าวงจรรวมฯ จากไทยเพิ่มขึ้นในปี 2565 ขณะที่ลดอัตราการนําเข้าจากมาเลเซีย และเวียดนามซึ่งเป็นแหล่งนําเข้าหลัก นับเป็นสัญญาณดีที่ไทยควรเร่งยกระดับศักยภาพในการผลิตเพื่อเพิ่มการส่งออกสู่เขต YRD ต่อไป