• ข่าวสารและกิจกรรม
  • /
  • ข่าว/เรื่อง วทน. จีน
  • /
  • สารคดีพิเศษเทิดพระเกียรติ                                         สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนจีน ครั้งที่ 50

สารคดีพิเศษเทิดพระเกียรติ                                         สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนจีน ครั้งที่ 50


สารคดีพิเศษเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า  กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนจีน ครั้งที่ 50


คลิปสารคดีพิเศษhttps://fb.watch/lq7y0J4z7c/ 

มิตรภาพระหว่างจีน-ไทย เพิ่มพูนอย่างถาวร เป็นเวลายาวนานถึง 42 ปี จากความสัมพันธ์ฉันมิตรในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ.1981 ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  จึงทรงได้รับพระสมัญญาว่า “ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน” จากการเสด็จ   พระราชดำเนินเยือนครบทุกมณฑลของจีน ก่อให้เกิดคุณูปการต่อสองประเทศเป็นที่ประจักษ์

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงเริ่มศึกษาภาษาและวัฒนธรรมจีนตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1980 ตามพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ภาษาในชาติตะวันออกที่มีความใกล้ชิดไทย

ในปี ค.ศ.2001 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรม ณ มหาวิทยาลัยปักกิ่งของจีนเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อทรงศึกษาในหลักสูตรพิเศษ  จากความตั้งพระราชหฤทัยจนเป็นที่ประทับใจของชาวจีน มหาวิทยาลัยปักกิ่ง จึงจัดตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและวัฒนธรรมสิรินธรแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่งขึ้น เพื่อสร้างความร่วมมือและดำเนินโครงการสำคัญต่าง ๆ ทั้งด้านการวิจัย การศึกษา เพื่อประโยชน์แก่ทั้งสองประเทศในภายหน้า และเทิดพระเกียรติในฐานะทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ความสัมพันธ์ไทย-จีน

โดยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1981 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว 50 ครั้ง

คุณมณีนาถ อ่อนพรรณา พิธีกรจาก China Media Group ภาคภาษาไทยและทีมงาน พาไปชมบรรยากาศที่ประตูซีเหมิน เป็นประตูทางเข้าหลักและสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยนับแต่อดีตและมักจะมีนักท่องเที่ยวมาเข้ามชมประตูแห่งนี้ โดยมหาวิทยาลัยปักกิ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของจีน โดยเมื่อครั้งในปี 2001 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรพิเศษที่นี่

รศ.ดร.จิน หย่ง 

รองหัวหน้าภาควิชาภาษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะภาษาต่างประเทศ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง

โอกาสนี้เราจะไปพบกับ รศ.ดร.จิน หย่ง รองหัวหน้าภาควิชาภาษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะภาษาต่างประเทศ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ที่จะร่วมถ่ายทอดเรื่องราวเมื่อครั้งที่พระองค์มาเสด็จฯ ประทับที่นี่

รศ.ดร.จิน หย่ง รองหัวหน้าภาควิชาภาษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะภาษาต่างประเทศ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้กล่าวว่า  ศูนย์แลกเปลี่ยนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและวัฒนธรรมไทย-จีนสิรินธรของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง จัดตั้งเมื่อปี 2005 ในโอกาสกาสเฉลิมพระชนมายุครบ 50 พรรษา ครั้งนั้นสมเด็จพระเทพฯ ทรงเข้าร่วมฟอรั่ม เหล่าผู้บริหารทางมหาวิทยาลัยปักกิ่งก็ถามว่า อยากจะมอบของขวัญแด่สมเด็จพระเทพฯ ถามว่าอยากจะได้ของขวัญแบบไหน

พระเทพฯ ทรงคิดว่าจะได้ของขวัญแบบถาวร ไม่ใช่แบบใช้ครั้งหนึ่งอย่างเดียวก็จบแล้ว ก็เลยทรงเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งศูนย์ฯ

พิธีกร : หลังจากที่จัดตั้งแล้ว มีโครงการหรือว่าภารกิจสำคัญอย่างไรบ้าง

อ.จิน หย่ง : มหาวิทยาลัยปักกิ่งร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ของไทย อย่างเช่น จัดสัมมนาร่วมกัน จัดโครงการเฉพาะ อย่างเช่น นาโนเทคโนโลยี บางทีจะส่งนักศึกษาที่เรียนภาษาไทยไปเรียนชั่วคราวที่เมืองไทย ตอนแรกก็ไปจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วก็ทีหลังก็ขยายถึงธรรมศาสตร์ และอื่น ๆ

มีโครงการการแลกเปลี่ยน โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา มีโครงการร่วมมือในทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง

หลังจากสมเด็จพระเทพฯ ทรงศึกษาที่นี่ แล้วก็มีทุนพิเศษสำหรับนักศึกษาชาวไทยมาเรียนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ตอนนี้มีนักศึกษาชาวไทยที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง กำลังเรียนอยู่ มี 107 คนอยู่

หนังสือเกี่ยวกับการแปลไทยเป็นจีน                        ต้นสนมิตรภาพไทย-จีน

หลังจากจัดตั้งศูนย์ ฯ ยังมีหนังสือล่าสุดอีกเล่ม คือ “เป่ยจิงต้าเสวีย ซือหลินทง เคอจี้เหวินฮั่ว เจียวหลิวจงซิน” (北京大学诗琳通科技文化交流中心) เกี่ยวกับการแปลไทยเป็นจีน จะเน้นเสียง ตอนที่แปลเป็นภาษาจีนจะเลือกคำตัวอักษรภาษาจีนได้เหมาะสม แปลเป็นภาษาจีนก็ใช้คำตัวอักษรจีน เพื่อให้ตรงการออกเสียงและความหมายที่สุด

พิธีกร : (ภาพ) นี่เป็นภาพถวายปริญญาแด่พระองค์ท่าน ใช่ไหมคะ

อ.จิน หย่ง : ใช่ครับ เป็นพิธีมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่สมเด็จพระเทพฯ

จากนั้น อ.จิน หย่ง พาทีมงาน CMG เดินสำรวจรอบ ม.ปักกิ่ง (ม.เป่ยต้า) ลัดเลาะไปตามทะเลสาบเว่ยหมิง ทะเลสาบสัญลักษณ์อีกแห่งของ ม.ปักกิ่ง ที่มีทิวทัศน์สวยงาม และเราสามารถมองเห็นเจดีย์ ศาลา และหอพักที่เคยประทับ

อ.จิน หย่ง ชี้ให้ดูว่า : เห็นศาลาเล็ก ๆ ไหม อยู่ฝั่งเหนือของทะเลสาบเว่ยหมิง ที่โน่นก็คือ “พ่าข่าเต๋อ อพาร์ทเม็นท์” (帕卡德公寓) สมเด็จพระเทพฯ เคยประทับที่นั่น 1 เดือน ตอนที่ทรงศึกษาภาษาจีนอยู่ แล้วก็เคยทรงปลูกต้นไม้เป็นต้นสนต้นหนึ่ง

พิธีกร : ด้านในหอพักมีห้องอะไรบ้างคะ

อ.จิน หย่ง : มีห้องรับแขก ห้องพัก ห้องสำรอง ต่าง ๆ นานา มีครบทุกอย่างครับ

พิธีกร : สำหรับหอพักแห่งนี้สร้างขึ้นมานานหรือยังคะ

อ.จิน หย่ง : สร้างในปี 1998 สร้างขึ้น ตอนที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงประทับอยู่ในปี 2001 ถือว่ายังใหม่อยู่

พิธีกร : ตอนนี้ยังเปิดให้มีคนเข้ามาพักไหมคะ

อ.จิน หย่ง : ยังเปิดอยู่ แต่ว่าเปิดสำหรับนักวิชาการชั้นสูง อาวุโส

พิธีกร : ด้านหน้าของที่ประทับนี้ ก็เป็นจุดที่พระองค์ท่านเคยทรงปลูกต้นไม้ด้วยใช่ไหมคะ

อ.จิน หย่ง : ใช่ครับ ทรงปลูกต้นไม้ (อ.จิน หย่ง ชี้ไปที่ต้นสนหน้าพอหัก ลำต้นกำลังสูงระดับหนึ่ง และกำลังแผ่กิ่งก้านสาขา) คือต้นนี้ สมเด็จพระเทพฯ ทรงปลูกไว้ เป็นต้นไม้ที่ทุกคนต่างเรียกเสมือนว่า “ต้นสนมิตรภาพไทย-จีน”

พิธีกร : สื่อความหมายถึง ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-จีน

อ.จิน หย่ง : ใช่ครับ สื่อความหมายอันดี

พิธีกร : พระองค์ทรงปลูกไว้เมื่อช่วงประมาณไหนคะ

อ.จิน หย่ง : ทรงปลูกช่วงตอนที่จบการศึกษา การศึกษาพิเศษ สัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนก็เติบโตเรื่อย ๆ เหมือนกัน

พิธีกร : เป็นความหมายดีเลยค่ะ

อ.จิน หย่ง : ใช่ครับ

อาจารย์เฉิน ลี่

อาจารย์ประจำสถาบันเอเชีย-แอฟริกา มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง

จาก ม.ปักกิ่ง (ม.เป่ยต้า) ทีมงาน CMG เดินทางไปถ่ายทำที่ ม.ภาษาต่างประเทศปักกิ่ง (ม.เป่ยว่าย) เพื่อพบกับอาจารย์ผู้แปลหนังสือพระราชนิพนธ์

ด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระปรีชาชาญทางด้านศาสตร์และศิลป์หลายด้าน ในด้านอักษรศาสตร์ พระองค์ได้ทรงฝากผลงานมากหมาย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพระราชนิพนธ์ และมีการตีพิมพ์แปลเป็นภาษาต่างประเทศอยู่หลายเล่ม

อย่างที่มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง ที่นี่มีการผลิตบุคคลคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นนักการทูต นักการเมืองระหว่างประเทศ และนักแปลชื่อดัง และได้มีโอกาสพูดคุยกับทางอาจารย์เฉิน ลี่ เป็นหนึ่งในนักแปลหนังสือพระราชนิพนธ์ “เย็นสบายชายน้ำ” ที่กำลังเตรียมตีพิมพ์อยู่ในขณะนี้

รศ.ดร.เฉิน ลี่ จากสถาบันเอเชีย-แอฟริกาของมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง เคยมีโอกาสถวายงานทำหน้าที่สำคัญเป็นผู้แปลภาษาให้กับสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อย่างใกล้ชิด จึงได้เห็นพระราชจริยวัตรอันเรียบง่าย และทรงเป็นกันเองกับผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่าย

รศ.ดร.เฉิน ลี่ จากสถาบันเอเชีย-แอฟริกาของมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง เล่าให้ฟังว่า : ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา พระองค์ท่านพระราชนิพนธ์หนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับประเทศจีน โดยผ่านประสบการณ์การเสด็จพระราชดำเนินเยือนของพระองค์ท่านเอง

หนังสือพระราชนิพนธ์เย็นสบายชายน้ำ

พอดี ศ.ประพิณ มโนมัยวิบูลย์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประสานให้ภาควิชาภาษาไทยของมหาวิทยาลัยเป่ยว่าย คือ มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง ให้ช่วยแปลหนังพระราชนิพนธ์จำนวน 3 เล่ม หนึ่งในนั้นคือ หนังสือที่ดิฉันรับผิดชอบงานแปลคือหนังสือ “เย็นสบายชายน้ำ” ค่ะ

เนื้อหาส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินเยือนนครฉงชิ่ง, ปักกิ่ง, อันฮุย , เซี่ยงไฮ้ การเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทอดพระเนตรในแม่น้ำฉางเจียง ก็คือ แม่น้ำแยงซีเกียง ที่ส่วนใหญ่จะพูดถึง บรรยายถึงสภาพต่าง ๆ เกี่ยวกับเขื่อนซานเสีย

พิธีกร : “ซานเสีย” ก็คือการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ของจีนในสมัยก่อน ในช่วงประมาณที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมในปี พ.ศ. 2538 ใช่ไหมคะ

อ.เฉิน ลี่ : ตอบว่าใช่ ส่วนแม่น้ำแยงซีเจียงเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดของจีน ถือว่าเป็นบ่อเกิดอารยธรรมจีนที่ทุกคนก็ให้ความสำคัญอย่างมาก สำหรับการแปลดิฉันอ่านหนังสือเล่มนี้หลายรอบก่อน เวลาเจอะศัพท์เฉพาะอะไรก็จะไปค้นข้อมูล ตั้งใจจะแปลให้ดี

พระองค์ท่านทรงใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา และทรงจดบันทึกทุกช่วงเวลา ก็คือจะบันทึกทุกวัน และก็เกือบจะทุกชั่วโมง ละเอียดมาก เช่น “วันที่ 14 วันที่ 15  วันที่ 16” จะจดไว้ทุกวัน

พิธีกร : (ดูจากหนังสือ) อาจารย์บอกว่าแทบจะเห็นพระองค์ท่านทรงจดแบบเป็นรายชั่วโมงเลยของแต่ละวันเลยใช่ไหมคะ

อ.เฉิน ลี่ : รู้สึกว่าเป็นอย่างนี้ค่ะ ส่วนสองเรื่องที่ประทับใจมากที่สุด

หนึ่งก็คือ พระองค์ท่านเสด็จฯ ไปโรงงานผลิตแท่งหมึก ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับการเขียนพู่กันจีนทุกขั้นตอนมีภาพประกอบไว้ด้วย แล้วดิฉันรู้สึกว่าอันนี้ต้องเป็นการศึกษาเพิ่มเติมหลังจากเสด็จพระราชดำเนิน เพราะว่าทุกขั้นตอนแนะนำอย่างละเอียดชัดเจนมากทีเดียว

อีกส่วนหนึ่งก็คือ อยู่ที่เขื่อนซานเสีย มีภาพถ่ายขณะกำลังก่อสร้างอยู่ ได้บรรยายถึงสภาพภูมิอากาศ วัฒนธรรม ประเพณีของบริเวณซานเสีย เป็นสภาพพื้นที่โดยรอบที่ยังมีให้เห็นก่อนสร้างเขื่อน แล้วก็มีหลายอำเภอหลายพื้นที่     ส่วนตอนนี้ก็ไม่มีแล้วค่ะ อยู่ใต้น้ำแล้วค่ะ

พิธีกร : อาจารย์ได้มีโอกาสถวายงานอย่างใกล้ชิดด้วยการเป็นล่าม ในโอกาสพิเศษให้กับพระองค์ท่านด้วย 

อ.เฉิน ลี่ : ครั้งแรกที่ดิฉันทำหน้าที่เป็นล่ามให้กับพระองค์ท่าน คือ ประมาณปี ค.ศ. 2005 ในงานทูลเกล้าฯ ถวายศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงศึกษาธิการจีน  ครั้งแรกรู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะว่าพระองค์ท่านเป็นบุคคลที่ฐานะสูง สำหรับไม่ว่าชาวจีนหรือว่าชาวไทยก็เป็นบุคคลที่มีฐานะสูงแต่เมื่อลองได้แปลแล้ว กลับรู้สึกว่าท่านไม่ถือพระองค์เลย ทรงเป็นกันเองมากเลย เวลาพูดคุยพระสุรเสียงนุ่มนวล แต่งกายแบบเรียบง่าย

มีครั้งหนึ่งช่วงเวลาพักพระองค์ท่านก็มีรับสั่งและก็ทรงถามกับดิฉันว่า เรียนภาษาไทยจากที่ใด แล้วก็อายุเท่าไหร่ ประมาณนี้ ทให้ดิฉันรู้สึกผ่อนคลายมากค่ะ

พิธีกร : ก็ทำให้การแปลในวันนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น

อ.เฉิน ลี่ : เป็นไปอย่างราบรื่นดีค่ะ

พิธีกร : ได้กำลังใจเลย ไช่ไหมคะ

อ.เฉิน ลี่ : ใช่ค่ะ

พิธีกร : ในช่วงที่เรากำลังคุยกันนี้ มีน้อง ๆ นักศึกษาเริ่มซ้อมการแสดงด้วย

อ.เฉิน ลี่ : ใช่ค่ะ คือ นักศึกษาปีที่ 2 กำลังซ้อมอยู่ค่ะ เพื่อทูลเล้าฯ ถวายพระองค์ท่านด้วยค่ะ

จากนั้น อ.เฉินลี่ พาไปชมการฝึกซ้อมของน้อง ๆ นักศึกษาชั้นปีที่สอง ทุกคนต่างตื่นเต้นและซักซ้อมกันอย่างเต็มที่ มีทั้งรำไทย การแต่งกายแบบชาวไทย การแสดงประกอบเพลงบุพเพสันนิวาส และ ภาพยนต์ยอดนิยม สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่ารัก

นายจาง จิ่วหวน

อดีตเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย

ในโอกาสนี้ ทีม CMG เดินทางไปถ่ายร่วมสัมภาษณ์ ท่านทูตจาง จิ่วหวน อดีตเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย  ร่วมถ่ายทอดถึงประสบการณ์เมื่อครั้งได้เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทหลายครั้ง  ทำให้ทราบถึงพระราชกรณียกิจนานัปการอันเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อไทย-จีน

ท่านทูตจาง จิ่วหวน กล่าวว่า : ทุกคนดีใจที่สมเด็จพระเทพฯ เสด็จเป็นครั้งที่ 50 ที่เสด็จฯ เยือนประเทศจีนในเดือนมิถุนายนนี้ ผมได้มีโอกาสตามเสด็จฯ สมเด็จพระเทพฯ เมื่อครั้งเสด็จฯประเทศจีนหลายครั้งด้วยกัน และเมื่อครั้งที่ผมเป็นทูตประจำประเทศไทยก็มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ท่านเป็นหลายต่อหลายครั้ง

ท่านได้สร้างความประทับใจให้กับผม ถ้าพูดในภาษาจีนนะ ผมรู้สึกว่าอาจจะมี 4 ประเด็นด้วยกัน คือ

ประเด็นที่หนึ่ง就是公主啊我觉得她是朴实无华ท่านเป็นคนเรียบ ๆ ง่าย ๆ เข้ากันได้ง่าย ท่านไม่ถือพระองค์她皇家的高贵气质มีความสูงส่งในจิตใจของท่าน ที่สามารถมองเห็นได้ ถึงแม้ว่าท่านจะเป็นผู้มีความเรียบง่าย

ประเด็นที่สอง 第二呢,我想是勤奋好学ท่านขยันหมั่นเพียรในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ

ประเด็นที่สาม第三呢,就是ท่านเอาใจใส่ประชาชนมาก

ประเด็นที่สี่ 第四呢,一个很突出的特点是,她对中国很友好。ท่านเป็นมิตรกับประเทศจีน 

ท่านเริ่มเรียนภาษาจีนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 ท่านทรงเคยฝากไว้ว่าเวลาเรียนภาษาต่างประเทศนั้น เราต้องมีความกล้า สมเด็จพระเทพฯ ได้ตรัสไว้ว่า ใช่ ฉันกล้า แล้วถ้าเราไม่กล้าพูด พอพูดผิดก็จะไม่มีใครรู้ ก็ไม่จะไม่มีคนช่วยแก้ไขให้ แต่หากเราฝึกพูดแล้ว พูดผิดก็จะมีคนฟังและช่วยแก้ไขได้ 哦,她觉得这个我们很有共鸣。(แปลว่า พระองค์ท่านและผม มักจะมีแนวความคิดคล้าย ๆ กัน)

有一次访问朝鲜的时候,她跟金日成主席会见的时候 (แปลว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งตอนเสด็จฯเยือนเกาหลีเหนือ และ ปธน.คิม อิล ซุง เข้าเฝ้าฯ) ตอนนั้นล่ามอาจจะไม่สบายทำให้ต้องออกไปพักระยะหนึ่ง สมเด็จพระเทพฯ  เลยคุยด้วยภาษาจีนกับคิม อิล ซุง หลังจากล่ามกลับมาแล้ว รู้สึกงงเลย เอ๊ะ ทำไมไม่ต้องผ่านล่ามแล้ว…(หัวเราะ) เพราะว่าท่านกล้าพูด ท่านทรงบอกว่าเราต้องกล้าพูด เราเรียนแล้วต้องกล้าพูด

พิธีกร : พระองค์เสด็จฯ ไปหลายพื้นที่ในประเทศจีน โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลอย่างมณฑลกุ้ยโจว อยากให้ท่านทูตช่วยเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งพระองค์เสด็จฯ ไปที่นั่นที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณูปการด้วยค่ะ

ท่าทูตจาง จิ่วหวน : จริงๆ แล้ว ท่านเสด็จฯ ไปกุ้ยโจวหลายครั้งด้วยกัน ครั้งแรกคือ ค.ศ. 2004 ครั้งที่สองคือ ค.ศ. 2017 และ ค.ศ. 2018 ท่านก็ไปอีกครั้ง รู้สึกทำความเข้าใจทำไมกุ้ยโจวถึงกับเปลี่ยนแปลงใหญ่ ติดตามท่านไปกุ้ยโจว ผมรู้สึกซาบซึ้งใจเช่นกัน

พิธีกร : อยากให้ท่านทูตเล่าเหตุการณ์เมื่อครั้งพระองค์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการช่วยเหลือกับเหตุภัยพิบัติในจีน

นายจาง จิ่วหวน : คือ 2008 วันที่ 12  เล่าเป็นภาษาจีนว่า 五月十二号,四川发生了一次大地震,主要是在北川县这一带地方。地震发生以后,她就,公主就很快 把整个泰国政府、泰国人民,包括当时普密蓬国王都非常关心。公主她首先就捐了十万人民币。后来到了5月30号,我应邀去见公主。公主她问我说:这次地震,现在还有什么特别困难的?

ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2008 เกิดแผ่นดินไหวร้ายแรงขึ้นที่มณฑลเสฉวน ที่บริเวณอำเภอเป่ยชวน หลังเกิดแผ่นดินไหว และทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) ในขณะนั้น รวมถึงทั้งภาครัฐ ภาคประชาชนทั่วแผ่นดินไทย ล้วนมีความห่วงใยต่อเหตุการณ์ยิ่ง  

ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระเทพฯ ท่านทรงช่วยระดมใช้ปฏิบัติการอย่างรวดเร็ว ทรงบริจาคเป็นอันดับแรกจำนวน 1 แสนหยวน ต่อจากนั้นในวันที่ 30 พฤษภาคม 2008 ผมไปเข้าเฝ้าฯ พระองค์ท่าน ท่านทรงถามผมว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้ ตอนนี้ยังมีความยากลำบากแบบสุด ๆ อะไร)

ท่านทูตยังกล่าวเสริมว่า  ท่านไม่ใช่คนธรรมดา ท่านเป็นผู้นำของประเทศชาติ ท่านมีบทบาทอันใหญ่หลวง ท่านมีความสูงส่ง เป็นที่เคารพรักของประชาชนทั้งประเทศไทย และประชาชนจีน และประชาชนในประเทศต่าง ๆ ด้วยกัน

เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่ท่านมาประเทศจีน ท่านกลับไปแล้ว ท่านเล่าเรื่องราวให้แก่ประชาชนไทย ได้ทำให้เข้าใจประเทศจีนอย่างลึกซึ้ง

ปีนี้เป็นครั้งที่ 50 ของกรมสมเด็จพระเทพฯ ได้เสด็จฯ เยือนประเทศจีน เวลาคนเรานึกถึงสิ่งที่ผ่านมา แล้วก็รู้สึกดีใจ รู้สึกมีความสุขที่ได้มองเห็นว่า กรมสมเด็จพระเทพฯ ได้สร้างความดีความชอบอันใหญ่หลวงในการกระชับความสัมพันธ์ไมตรีระหว่างจีนกับไทย พร้อมกล่าวภาษาจีนว่า 更加受到我们的尊敬,受到我们的热爱。我们也衷心地祝愿公主身体健康,会继续地为中泰友好做出突出的贡献。就像我们常说的一句话——中泰一家亲,(แปลว่า ท่านทรงเป็นที่เคารพของเรา ทรงเป็นที่รักของเรา ขอถวายพระพรให้พระองค์ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ พระองค์ทรงอุทิศพระองค์ เพื่อสร้างคุณูปการสานสัมพันธ์จีน-ไทยต่อไป ดั่งคำพูดที่ว่า จีน-ไทยมิใช่อื่นไกล พี่น้องกัน)

ภาพถ่ายในอดีตเมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย  ที่ยังคงเก็บรักษาไว้อย่างดีเพื่อเตือนความทรงจำครั้งหนึ่งที่ได้มีโอกาสเคยตามเสด็จพระราชดำเนินในการทรงงานด้านต่าง ๆ และถวายงานในฐานะทูต เพื่อสร้างคุณูปการต่าง ๆ ให้สองแผ่นดิน

ของที่ระลึกต่าง ๆ  จากโครงการพระราชดำริ  ท่านทูตจาง จิ่วหวนยังคงเก็บรักษาไว้อย่างดี เช่น เครื่องเซรามิก ประดับด้วยปีนักษัตร และพระนามาภิไธย “สิรินธร”

ตลอดระยะเวลาที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญสัมพันธไมตรีอย่างต่อเนื่องกับจีน จนเป็นที่ประจักษ์และทรงเป็นที่จดจำของประชาชนจีนอยู่เสมอ  จึงทรงได้รับพระสมัญญาว่า “ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน”  อีกทั้งทางการจีนยังร่วมถวายรางวัลเกียรติยศสูงสุด เป็นการเผยแพร่พระเกียรติคุณต่อนานาชาติ เพื่อยืนยันว่าไทยคือ 1 ในมหามิตรที่ดีที่สุดของจีน ดังนี้

ปี ค.ศ. 2000 กระทรวงศึกษาธิการจีน ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัล “มิตรภาพด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน”

ปี ค.ศ. 2004 สมาคมมิตรภาพวิเทศสัมพันธ์ประชาชนจีน ยกย่องให้ ทรงเป็น “ทูตสันถวไมตรีมิตรของประชาชน” ซึ่งเป็นเกียรติยศสูงสุดที่สมาคมมิตรภาพวิเทศสัมพันธ์มอบให้แก่มิตรชาวต่างชาติ

วันที่ 8 ธ.ค. ปี  ค.ศ. 2009  ทรงได้รับการคัดเลือกจากประชาชนจีนให้เป็น 1 ใน 10 มิตรที่ดีที่สุดในโลกของชาวจีน  ด้วยคะแนนสูงมากจากชาวจีนทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งสถานีวิทยุซีอาร์ไอของ CMG กับสมาคมมิตรภาพวิเทศสัมพันธ์แห่งประชาชนจีน และกรมผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศแห่งประเทศจีน  ร่วมกันจัดกิจกรรมดังกล่าว

และวันที่ 29 ก.ย.  ปี ค.ศ. 2019 ทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายเครื่องอิสริยาภรณ์ “รัฐมิตรภรณ์” จากนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เนื่องในวาระการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ครบรอบ 70 ปี ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ครั้งที่ 50 นี้ เป็นการจุดประกายต่อเนื่องให้ประชาชนทั้งสองประเทศมีสัมพันธไมตรีแน่นแฟ้น  หยั่งรากลึกในความสัมพันธ์  สมดั่งคำกล่าวที่ว่า “จีนไทยมิใช่อื่นไกล เป็นพี่น้องกัน”

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]