(Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area)
ข้อมูลพื้นฐาน
เดือนกรกฎาคม 2560 นายเหอ ลี่เฟิง ประธานคณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาและปฎิรูปแห่งชาติ นายหม่า ซิ่งรุ่ย ผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง นางแครี แลม (Carrie Lam) ผู้บริหารสูงสุดของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และนายชุย ซื่ออัน ผู้บริหารสูงสุดของเขตบริหารพิเศษมาเก๊า ร่วมลงนาม “กรอบข้อตกลงว่าด้วยการส่งเสริมการสร้างเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกงมาเก๊าและความร่วมมือเชิงลึก” (The Framework Agreement on Deepening Guangdong-Hong Kong-Macao Cooperation in Development of the Bay Area) โดยมีนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนเป็นสักขีพยาน
เขตเศรษฐกิจอ่าวกว่างตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Guangdong-Hongkong-Macao Greater Bay Area: GBA), 粤港澳大湾区) เป็นหนึ่งในโครงการยุทธศาสตร์ตามแนวคิด One Belt, One Road ของจีน ที่ได้ดำเนินงานตามที่ได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2559-2563) ของจีน
เขต GBA ครอบคลุมพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของจีนตอนใต้ คือ มณฑลกวางตุ้ง เขตปกครองพิเศษฮ่องกง และเขตบริหารพิเศษมาเก๊า โดยในเขตมณฑลกวางตุ้งครอบคลุม 9 พื้นที่ ได้แก่ นครกว่างโจว เมืองเซินเจิ้น เมืองจูไห่ เมืองฝอซาน เมืองหุ้ยโจว เมืองตงกวน เมืองจงซาน เมืองเจียงเหมิน และเมืองจ้าวชิ่ง
- เขต GBA มีพลเมืองรวม 86 ล้านคน (ข้อมูลปี พ.ศ. 2565) มากกว่าพลเมืองเยอรมนีและฝรั่งเศสทั้งประเทศ
- ครอบคลุมพื้นที่ 56,000 ตร.กม.
- GDP 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (มากกว่า GDP ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2565)
- Greater Bay Area ทั้ง 11 เมือง มีการแยกลำดับความสำคัญทางยุทธศาสตร์เป็น 2 ส่วน คือ Core Cities และ Key Node Cities
- Core Cities รัฐบาลจีนจัดเป็นศูนย์รวมของการพัฒนาในมณฑลกวางตุ้งจำนวน 4 เมือง ได้แก่ เมืองฮ่องกง เซินเจิ้น กว่างโจว และมาเก๊า
- Key Node Cities รัฐบาลจีนจัดให้เป็นเมืองรองจำนวน 7 เมืองเพื่อให้การสนับสนุนและขับเคลื่อนการพัฒนาของเมืองหลักให้ขยายตัวออกไป ได้แก่ เมืองจูไห่ ฝอซาน หุ้ยโจว ตงก่วน จงซาน เจียงเหมิน จ้าวชิ่ง
Greater Bay Area (11 เมือง) | ||
Core Cities | Key Node Cities | |
ฮ่องกง | จูไห่ | จงซาน |
เซินเจิ้น | ฝอซาน | เจียงเหมิน |
กว่างโจว | หุ้ยโจว | จ้าวชิ่ง |
มาเก๊า | ตงก่วน |
ยุทธศาสตร์การพัฒนาของ core cities
เขตบริหารพิเศษฮ่องกง เป็นเมืองที่ประเทศจีนวางยุทธศาสตร์ให้เป็นมหานครนานาชาติ (International Metropolis) ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางระหว่างประเทศที่สำคัญ 8 ด้าน และเป็นเมืองหน้าด่านเชื่อมโยงประเทศจีนกับโลกสากล เพื่อนำมาซึ่งการพัฒนาประเทศ ดังนั้น เมืองฮ่องกงจะมีอิสระในการบริหารตนเองสูงและมีความเชื่อมโยงกับโลกตะวันตกมากที่สุด โดยศูนย์กลางระหว่างประเทศทั้ง 8 ด้าน ได้แก่
1. ศูนย์กลางการเงิน และเป็น Global offshore RMB business hub ในการทำธุรกรรมที่ใช้เงินสกุลหยวน
2. ศูนย์กลางทางการค้า
3. ศูนย์กลางการขนส่ง
4. ศูนย์กลางการให้บริการทางกฎหมายในระดับสากล และการเจรจาไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ
5 .ศูนย์กลางทางการบินแห่งเอเชีย
6. ศูนย์กลางเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่
7. ศูนย์กลางทรัพย์สินทางปัญญา
8. ศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างตะวันตกและตะวันออก
เมืองเซินเจิ้น เป็นเมืองหน้าด่านของจีนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อทดลองนโยบายทางการเงินรูปแบบใหม่ ในลักษณะ Sandbox อาทิ การทดลองใช้เงินสกุลดิจิทัลหยวนในประเทศจีน และการตั้งเขตการค้าเสรีเฉียนไห่ (Qianhai Cooperation Zone) เพื่อเชื่อมความร่วมมือระหว่างเซินเจิ้นกับฮ่องกงในด้านการค้าการลงทุน นอกจากนี้จีนยังวางยุทธศาสตร์ให้เซินเจิ้นเป็นเมืองแห่งการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีของประเทศ โดย เซินเจิ้นเป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่จำนวนมาก อาทิ บริษัทหัวเหว่ย (Huawei) บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BYD บริษัทผลิตอุปกรณ์สื่อสาร ZTE บริษัทไอทีที่ใหญ่ที่สุดของจีน Tencent และอื่น ๆ
เมืองกว่างโจว เป็นเมืองยุทธศาสตร์ของมณฑลกวางตุ้ง ในด้านอุตสาหกรรม การค้า และการขนส่งในประเทศ โดยจะเป็นประตูศูนย์กลางเชื่อมสู่เมืองรองต่าง ๆ ในมณฑล โดยประเทศไทยได้จัดตั้ง สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว และสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศ (BOI) เพื่อขยายความร่วมมือการค้าการลงทุน ระหว่างบริษัทต่าง ๆ ของจีนในเขต GBA กับประเทศไทยให้มากขึ้น
เขตบริหารพิเศษมาเก๊า เป็นเมืองที่วางเป้าหมายของการพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์รวมการท่องเที่ยว และ สันทนาการระดับโลก รวมไปถึงการเป็นศูนย์รวมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศจีนกับประเทศในกลุ่ม Lusophone ที่มีการใช้ภาษาโปรตุเกสร่วมกัน นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังสนับสนุนให้มาเก๊าสามารถเข้าร่วมการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบที่หลากหลายได้ อาทิเช่น การพัฒนาเขตการค้าเสรีในเขตเหิงฉิน (Hengqin Cooperation Zone) เพื่อเชื่อมความร่วมมือทางการค้าการลงทุนระหว่างมาเก๊ากับมณฑลกวางตุ้ง
โครงการขนาดใหญ่
การพัฒนา Core Cities ในเขต GBA ทั้ง 4 เมืองจะมีลักษณะบูรณาการร่วมกันผ่าน 4 โครงการขนาดใหญ่และโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละเมืองเพื่อให้การพัฒนามณฑลกวางตุ้งบรรลุเป้าหมายตามแผน โครงการขนาดใหญ่ทั้ง 4 โครงการของ GBA ประกอบด้วย
1. โครงการ Guangzhou-Shenzhen-Dongguan Science & Technology Innovation Corridor (STIC) เชื่อมพื้นที่ 3 เมืองเพื่อสร้าง Silicon Valley ของประเทศ (กำหนดการสร้างเสร็จภายในปี พ.ศ. 2573) | |
2. โครงการ South China Advanced Materials Innovation Park หรือที่เรียกอีกชื่อว่า โครงการ Hua Xin Yuan ในเขตเมืองกว่างโจว | |
3. โครงการ Nansha Science & Technology Park ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านเทคโนโลยีระหว่างฮ่องกง และเมือง Nansha | |
4. โครงการ Hong Kong Science & Technology Park ในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เพื่อส่งเสริมความ ร่วมมือ ด้านเทคโนโลยีระหว่างฮ่องกง เซินเจิ้น รวมไปถึงเมืองอื่น ๆ ในเขต GBA |
โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อเชื่อมโยงเมืองต่าง ๆ
ประเทศจีนได้วางรากฐานการเชื่อมโยงเมืองต่าง ๆ ให้สนับสนุนการพัฒนาซึ่งกันและกันอย่างมีระบบ โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อเชื่อมโยงเมืองต่าง ๆ ในเขต GBA เข้าด้วยกัน ประกอบไปด้วย
สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า (Hong Kong-Zhuhai-Macao Bridge: HZMB)
สะพานหนานซา (Nansha Bridge) หรือสะพานหู่เหมินเอ้อร์เฉียว (Humen Second Bridge)
สะพานเซินเจิ้น-จงซาน (Shenzhen-Zhongshan Bridge)
โครงการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกว่างโจว-เซินเจิ้น-ฮ่องกง (Guangzhou-Shenzhen-Hong Kong Express Rail Link: XRL)
สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า (Hong Kong-Zhuhai-Macao Bridge: HZMB)
สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า ถือเป็นโครงการระดับโลก เนื่องจากเป็นสะพานข้ามทะเลที่ยาวที่สุดในโลก โดยมีความยากลำบากในการก่อสร้างสูง และมีความยาวถึง 55 กม. เชื่อมต่อระหว่างเมืองฮ่องกง จูไห่ และมาเก๊า เปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2561 เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งในเมืองหน้าด่านของเขต GBA อันได้แก่ ฮ่องกง จูไห่ และมาเก๊าเข้าด้วยกัน
สะพานหนานซา (Nansha Bridge)
สะพาน Nansha Bridge หรือ ที่มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สะพาน “Humen Second Bridge” เป็นสะพาน แขวนคานเหล็กหน้าตัดรูปกล่องที่กว้างที่สุดในโลก เปิดให้บริการเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 ด้วยความยาว 12.9 กม. และเป็นสะพานแห่งแรกของจีนที่ติดตั้งเครือข่าย 5G ถือเป็นสะพานยุทธศาสตร์ที่เชื่อมเมืองต่าง ๆ ใน ฝั่งตะวันออกของ GBA อย่างเมืองเซินเจิ้น ตงก่วน และหุ้ยโจว เข้ากับเมืองฝั่งตะวันตกอย่าง ฝอซาน จูไห่ จงซาน เจียงเหมิน และจ้าวซิ่ง โดยสะพานดังกล่าวได้รับการออกแบบให้สามารถรองรับ รถยนต์วิ่งผ่านได้ถึง 100,000 คัน ต่อวัน และสามารถทำความเร็วได้สูงถึง 100 กม. ต่อชั่วโมง
สะพานเซินเจิ้น-จงซาน (Shenzhen-Zhongshan Bridge)
สะพานเซินเจิ้น-จงซาน หรือ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สะพาน “หลิงติงหยาง” เป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างเมือง เซินเจิ้นกับเมืองจงซาน มีกำหนดเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2567 โดยตัวสะพานมีความยาวประมาณ 24 กม. และหอคอยหลักของสะพานมีความสูงเทียบเท่าตึกสูง 90 ชั้น รวมทั้งมีช่องลอดใต้สะพานสำหรับการเดินเรือสูงถึง 76.5 เมตร และความกว้างของสะพานถึง 8 ช่องจราจร โดยสะพานนี้เมื่อแล้วเสร็จจะทำให้เมืองจงซานกลายเป็นเป้าหมายใหม่สำหรับบริษัทในเซินเจิ้นและเมืองข้างเคียงที่ต้องการมองหาที่ดินราคาไม่สูง ก่อให้เกิดการกระจาย ความเจริญสู่ฝั่งตะวันตกของ GBA
โครงการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกว่างโจว-เซินเจิ้น-ฮ่องกง (Guangzhou-Shenzhen-Hong Kong Express Rail Link: XRL)
โครงการเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกว่างโจว-เซินเจิ้น-ฮ่องกง เป็นโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เชื่อมต่อระหว่างฮ่องกงกับเมืองเซินเจิ้นไปถึงนครกว่างโจว และจะเชื่อมเข้ากับเส้นทางรถไฟของประเทศจีน ต่อไป ทั้งนี้รถไฟสามารถทำความเร็วสูงสุดที่ 350 กม./ชั่วโมง โครงการนี้เปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2561 ทำให้การเดินทางจากฮ่องกงไปยังนครกว่างโจวใช้เวลาเพียงแค่ 48 นาทีสามารถลดระยะเวลาในการเดินทางลงเหลือเพียง 1 ใน 3 ของระยะเวลาที่ใช้ในอดีต