ภารกิจส่งดาวเทียมประเภทต่างๆ

ในปี พ.ศ. 2564 จีนส่งดาวเทียมประเภทต่าง ๆ ขึ้นสู่อวกาศ อาทิ ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา ดาวเทียมสำรวจโลก ดาวเทียวสำรวจดวงอาทิตย์ ดาวเทียมควอนตัม และดาวเทียมสำหรับทดสอบเทคโนโลยีใหม่ ๆ มีตัวอย่างภารกิจดังนี้

ดาวเทียมสำรวจโลก (Earth Observation)
1.1 ดาวเทียมเกาเฟิน (Gaofen)
โครงการเกาเฟิน (Gaofen) เป็นโครงการเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลขนาดใหญ่ เป็น 1 ใน 16 โครงการทาง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญในแผนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระยะกลางและระยะยาวแห่งชาติของจีน (พ.ศ. 2549-2563) โครงข่ายดาวเทียมเกาเฟินมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาระบบสังเกตการณ์ขั้นสูงที่มีความละเอียดสูงโดยใช้ ดาวเทียม เครื่องบิน และอากาศยานในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์สร้างระบบสังเกตการณ์โลกที่มีการประสานงานกับ ยานอวกาศได้ในทุกสภาพอากาศ จัดตั้งศูนย์ข้อมูลการสังเกตการณ์โลก ระบบสนับสนุนและปฏิบัติการภาคพื้นดิน    ที่สามารถสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมข้อมูลเชิงพื้นที่

กลุ่มดาวเทียมตระกูลเกาเฟินสามารถถ่ายภาพความละเอียดสูง (High-Resolution Remote Sensing Satellite) ที่ครอบคลุมการสำรวจทุกย่านความถี่ที่จำเป็นสำหรับภารกิจการสำรวจ เช่น ดาวเทียม Gaofen-2 ที่มีความละเอียดระดับเซ็นติเมตรในย่านแสง (Optical), ดาวเทียม Gaofen-3 ที่ใช้เทคโนโลยี SAR (Synthetic Aperture Radar) ในการถ่ายภาพ, ดาวเทียม Gaofen-4 ที่สามารถถ่ายภาพภาพความละเอียดสูงจากวงโคจรค้างฟ้า (Geostationary Orbit), และดาวเทียม Gaofen-5 ที่ใช้เทคโนโลยีกล้องแบบหลายย่านความถี่ (Multispectral) เป็นต้น ในปี พ.ศ. 2565 ถือเป็นการเสร็จสิ้นการก่อสร้างโครงการเกาเฟินในอวกาศของจีน นับตั้งแต่เริ่มก่อสร้างปี  พ.ศ. 2553

1.2 ดาวเทียมเหยาก่าน (Yaogan)
ดาวเทียมเหยาก่าน (Yaogan) เป็นแพลตฟอร์มดาวเทียมสำรวจโลกและการสำรวจระยะไกลที่ครอบคลุมของจีน ซึ่งรวมถึงตระกูลดาวเทียมสำรวจเจียนปิงด้วย

ดาวเทียมเหยาก่านใช้สำหรับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เช่น การสำรวจที่ดิน การประเมินผลผลิตด้านเกษตร และ การติดตามภัยพิบัติดาวเทียมแต่ละดวงในแพลตฟอร์มนี้ มีวัตถุประสงค์เฉพาะตัว เช่น ดาวเทียม Yaogan-31-02 จะใช้สำหรับ “การตรวจจับสภาพแวดล้อมแม่เหล็กไฟฟ้าที่ใช้งานและการทดสอบทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง” ดาวเทียมเหยาก่านบางดวง เช่น ดาวเทียมเจียนปิง ถูกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร 

ดาวเทียมเหยาก่านมีเซนเซอร์หลายประเภท เช่น กลุ่มดาวเทียม Jianbing-5 มีเซ็นเซอร์เรดาร์รูรับแสงสังเคราะห์ (SAR) ซึ่งพัฒนาโดย Shanghai Academy of Spaceflight Technology (SAST) ดาวเทียมถ่ายภาพดิจิตอลด้วยแสงไฟฟ้า ได้รับการพัฒนาโดยสถาบันเทคโนโลยีอวกาศแห่งประเทศจีน (CAST)

1.3 ดาวเทียมแอล-เอสเออาร์ 01 (L-SAR 01)
ดาวเทียมแอล-เอสเออาร์ 01 เป็นกลุ่มดาวเทียมที่ประกอบด้วยดาวเทียม 2 ดวง ได้แก่ ดาวเทียมแอล-เอสเออาร์ 01เอ (L-SAR 01A) และ ดาวเทียมแอล-เอสเออาร์ 01บี (L-SAR 01B) ซึ่งได้รับการออกแบบให้โคจรที่ระดับความสูง 600 กิโลเมตร ติดตั้งเรดาร์ชนิดช่องรับคลื่นสังเคราะห์ (SAR) แอล-แบนด์ (L-band)

โครงการดาวเทียมแอล-เอสเออาร์มีความครอบคลุมพื้นที่กว้างและความละเอียดเชิงพื้นที่สูง ซึ่งช่วยลดการพึ่งพาข้อมูลต่างประเทศของจีนในด้านต่าง ๆ อาทิ ธรณีวิทยา การเฝ้าระวังแผ่นดินไหว และการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ

ดาวเทียมสื่อสาร (Communication Satellite)
ประเทศจีนมีระบบดาวเทียมสื่อสารของตัวเองที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ทั้งสำหรับการสื่อสารแบบอยู่กับที่ (Fixed Communication) และแบบเคลื่อนที่ (Mobile Communication) ดาวเทียม Yatai และ Zhongxing สามารถให้บริการการสื่อสารที่ครอบคลุมทั้งประเทศจีน รวมถึงภูมิภาคอื่นที่สำคัญของโลก, ดาวเทียม Tiantong-1 ใช้สำหรับการสื่อสารแบบเคลื่อนที่ และดาวเทียม Tianlian-1 ใช้สำหรับรับและส่งต่อข้อมูล (Data Relay Satellite) 

นอกจากนี้แล้วจีนยังประสบความสำเร็จในการทดสอบระบบสื่อสารระหว่างดาวเทียมกับสถานีภาคพื้นโดยใช้เลเซอร์ โครงสร้างตัวดาวเทียมที่ใหญ่และทรงประสิทธิภาพที่สุดของจีนในปัจจุบันคือ DFH-5 ซึ่งใช้ครั้งแรกสำหรับดาวเทียมสื่อสาร Shijian-20 ในปีพ.ศ. 2562 ตัวดาวเทียมมีน้ำหนักขณะปล่อยถึง 8 ตันและให้กำลังไฟฟ้าสูงสุด 28 กิโลวัตต์ เป้าหมายต่อไปของการพัฒนา คือการเชื่อมต่อระบบระบบสื่อสารบนภาคพื้นดินกับระบบดาวเทียมทั้ง    ในวงโคจร GEO และกลุ่มดาวเทียม (Satellite Constellation) ในวงโคจร LEO เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการข้อมูลความเร็วสูงและครอบคลุมทุกจุดทั่วโลก

2.1 ดาวเทียมเทียนเลี่ยน II-03 (Tianlian II-03)
ดาวเทียมเทียนเลี่ยน II-03 เป็นดาวเทียมถ่ายทอดข้อมูลวงโคจรพ้องคาบโลกรุ่นที่ 2 ของจีน โดยจะถ่ายทอดข้อมูลและให้บริการระบบตรวจจับและสั่งการดาวเทียม (TT&C) สำหรับยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุม รวมถึงดาวเทียมทรัพยากรวงโคจรระดับต่ำและระดับกลาง ทั้งยังจะสนับสนุนบริการระบบตรวจจับและสั่งการดาวเทียมสำหรับการปล่อยยานอวกาศด้วย

2.2 ดาวเทียมจงซิง-6ดี (Zhongxing-6D)
ดาวเทียมจงซิง-6ดี เป็นดาวเทียมให้บริการส่งสัญญาณและสื่อสารทางวิทยุและโทรทัศน์ที่เชื่อถือได้ มีเสถียรภาพ และปลอดภัย

ดาวเทียมสำรวจดวงอาทิตย์ (Solar Observation Satellite)
3.1 ดาวเทียมควาฟู่-1 (Kuafu-1)
ดาวเทียมควาฟู่ 1 มีเป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจการเชื่อมต่อและกลไกการก่อตัวของปรากฎการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ และศึกษาด้วยว่าพลังงานถูกส่งผ่านชั้นบรรยากาศ  ต่าง ๆ ของดวงอาทิตย์อย่างไร และผลกระทบของเปลวไฟและวิวัฒนาการของการปลดปล่อยมวลโคโรนาได้รับผลกระทบจากสนามแม่เหล็กสุริยะอย่างไร ดาวเทียมควาฟู่ 1 ได้รับการออกแบบมาให้ใช้งานได้อย่างน้อย 4 ปี และสร้างข้อมูลได้ประมาณ 500 กิกะไบต์ต่อวัน

ดาวเทียมควอนตัม (Quantum Satellite)
4.1 ดาวเทียมจีหนาน-01 (Jinan-01)
ดาวเทียมจี่หนาน-01 เป็นดาวเทียมควอนตัมระดับไมโคร-นาโน ถูกออกแบบขึ้นเพื่อทดลองการกระจายกุญแจเข้ารหัสเชิงควอนตัม (QKD) แบบเรียลไทม์ ระหว่างดาวเทียมและสถานีภาคพื้นดิน และจัดทําภารกิจตรวจสอบยืนยันทางเทคนิค ดาวเทียมจี่หนาน-01 เป็นผลงานการพัฒนาร่วมโดย มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน (USTC) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) และสถาบันเทคโนโลยีควอนตัมจีหนาน โดยมีการคาดการณ์ว่าดาวเทียมนี้จะช่วยสนับสนุนการติดต่อสื่อสารเชิงควอนตัม และส่งเสริมการพัฒนาความมั่นคงด้านข้อมูลของจีนต่อไป

ดาวเทียมสำหรับทดสอบเทคโนโลยีใหม่ ๆ (New Technology Satellite)
ประเทศจีนมีการส่งดาวเทียมเพื่อทำการทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีชนิดใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่นดาวเทียมในกลุ่ม Shijian-9 ที่ใช้ทดสอบการโคจรและทำงานร่วมกันในระยะใกล้ระหว่างดาวเทียม (Formation Flying) จีนมีแผนที่จะพัฒนาดาวเทียมและยานอวกาศรุ่นใหม่ที่สามารถซ่อมแซมได้ในวงโคจร ดาวเทียมที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และพัฒนาแขนหุ่นยนต์สำหรับปฏิบัติงานในอวกาศ เช่นในระหว่างปี พ.ศ. 2559-2561 จีนได้ทดสอบกลไกการจับของแขนหุ่นยนต์และการเติมเชื้อเพลิงดาวเทียมในอวกาศโดยใช้ยาน Aolong-1 และ Tianyuan-1 นอกจากนี้ยังประสบความสำเร็จในการทดสอบการปฏิบัติการงานในระยะใกล้ (Proximity Operation) ในวงโคจร GEOโดยดาวเทียม Shijian-17 ด้วย




อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]