ปี 2566 เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงยังรักษาระดับการขยายตัวภาคการค้าต่างประเทศได้ดีอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการค้ารวมเฉียด 7 แสนล้านหยวน รั้งอันดับ 14 ของประเทศ และอันดับ 3 ในภาคตะวันตก รองจากมณฑลเสฉวน และนครฉงชิ่ง
ภาพรวมการค้า ปี 2566 เขตฯ กว่างซีจ้วงมีมูลค่าการค้าต่างประเทศรวม 693,649 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 (YoY) โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ร้อยละ 7.1 จุด (การค้าต่างประเทศของจีนขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2) อยู่ในอันดับที่ 14 ของประเทศ และอันดับที่ 3 ในภาคตะวันตกของจีน
มูลค่าการค้าต่างประเทศข้างต้น แบ่งเป็นการนำเข้า 329,699 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6 (อันดับ 11 ของประเทศ และอันดับ 2 ในภาคตะวันตก) และมูลค่าการส่งออก 363,949 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 (อันดับ 15 ของประเทศ และอันดับ 3 ในภาคตะวันตก) โดยกว่างซีเกินดุลการค้าต่างประเทศ 34,249 ล้านหยวน
คู่ค้าสำคัญ “อาเซียน” นั่งเก้าอี้คู่ค้าอันดับหนึ่งของกว่างซี 24 ปีซ้อน สองฝ่ายมีมูลค่าการค้ารวม 339,443 ล้านหยวน ทำสถิติสูงสุดทะลุ 3 แสนล้านหยวนได้เป็นครั้งแรก เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.8 ครองสัดส่วนร้อยละ 48.9 ของมูลค่ารวม โดยมีเวียดนามและไทยเป็น 2 คู่ค้ารายใหญ่
จากมูลค่าข้างต้น แบ่งเป็นการนำเข้าจากอาเซียน 99,099 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.1 ครองสัดส่วนร้อยละ 30.06 ของมูลค่าการนำเข้ารวม และการส่งออกไปอาเซียน 240,344 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7 ครองสัดส่วนร้อยละ 66.04 ของมูลค่าการส่งออกรวม โดย “อาเซียน” เกินดุลการค้ากว่างซี 141,245 ล้านหยวน
ในภาพรวม เขตฯ กว่างซีจ้วงกับอาเซียนมีมูลค่าการค้ารวมมากเป็นอันดับที่ 7 จากทั้งหมด 31 มณฑลในจีนแผ่นดินใหญ่ (รองจากมณฑลกวางตุ้ง มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง มณฑลซานตง นครเซี่ยงไฮ้ และมณฑลฝูเจี้ยน) และมากเป็นอันดับที่ 1 จาก 12 มณฑลในภาคตะวันตก
- 10 อันดับคู่ค้าของกว่างซี ได้แก่ เวียดนาม ไทย (อันดับ 2) บราซิล ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง ชิลี แคนาดา ซาอุดิอาระเบีย และเกาหลีใต้
- 10 อันดับแหล่งนำเข้าสินค้าของกว่างซี ได้แก่ เวียดนาม บราซิล ออสเตรเลีย ชิลี ไทย (อันดับ 5) แคนาดา ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอเมริกา เปรู และไต้หวัน
- 10 อันดับตลาดส่งออกของกว่างซี ได้แก่ เวียดนาม ฮ่องกง ไทย (อันดับ 3) สหรัฐอเมริกา อินเดีย มาเลเซีย เม็กซิโก สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย
กลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ สินค้ามูลค่าต่ำที่ซื้อขายผ่านด่านการค้าชายแดน/แพลตฟอร์ม CBEC (Cross-border E-commerce) สินค้าไฮเทค (อะไหล่อุปกรณ์สื่อสาร แบตเตอรี่ลิเธียม ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ แผงวงจรรวม จานบันทึก) อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักรกลไฟฟ้า (จอแอลซีดี รถตัก เครื่องขยายเสียง) สิ่งทอเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สินค้าเกษตร (พืชผักและเห็ด ผลไม้ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ) และผลิตภัณฑ์พลาสติก
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ช่วยให้การส่งออกยานยนต์ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกลายเป็น New Growth Pole ของการค้าต่างประเทศกว่างซี ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ ลิเธียม และแบตเตอรี่โซล่าเซลล์ โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมกันกว่า 15,000 ล้านหยวน ยังไม่รวมถึงสินค้าเกษตรและอาหารกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งถือเป็นตัวกลางสำคัญในการเผยแพร่ Soft Power ของกว่างซีในต่างประเทศด้วย อาทิ ส้ม เส้นหมี่ซุปหอยขมหลัวซือเฝิ่น และชาลิ่วป่าว
กลุ่มสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ สินค้าเชิงทรัพยากร (แร่ทองแดง แร่อลูมิเนียม แร่แมงกานีส แร่สังกะสี น้ำมันดิบและยางมะตอย ถ่านโค้ก โพรเพน) สินค้าไฮเทค (ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ แผงวงจรรวม อะไหล่อุปกรณ์สื่อสาร) สินค้ามูลค่าต่ำที่ซื้อขายผ่านด่านการค้าชายแดน/แพลตฟอร์ม Cross-border e-Commerce (CBEC) สินค้าเกษตร (ถั่วเหลือง ผลไม้ ถั่วเปลือกแข็ง ข้าวโพด มันสำปะหลังแห้ง น้ำมันเมล็ดเรป) วัสดุทองแดง เยื่อกระดาษ และเคมีภัณฑ์อินทรีย์
เขตฯ กว่างซีจ้วง ยังคงรั้งตำแหน่งผู้นำเข้า “ทุเรียนสด” อันดับ 2 ของจีน รองจากมณฑลกวางตุ้ง(5 อันดับแรก ได้แก่ กวางตุ้ง กว่างซี ยูนนาน เจ้อเจียง และฉงชิ่ง)ปี 2566 กว่างซีนำเข้าทุเรียนสด ในปริมาณ 263,737 ตัน ครองสัดส่วนร้อยละ 18.5 ของทั้งประเทศ คิดเป็นมูลค่านำเข้า 8,795 ล้านหยวน ครองสัดส่วนร้อยละ 18.63 ของทั้งประเทศ
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ปี 2566 ปริมาณการนำเข้าทุเรียนเวียดนามของกว่างซีได้แซงหน้าทุเรียนไทยแล้ว คิดเป็นน้ำหนัก 138,371 ตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.47 ของปริมาณนำเข้าของกว่างซี ขณะที่การนำเข้าทุเรียนไทยมีน้ำหนัก 125,354 ตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47.53 พอประเมินได้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณการนำเข้าทุเรียนของกว่างซีพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเขตฯ กว่างซีจ้วงกับเวียดนามมีพรมแดนติดกัน และทุเรียนเวียดนามมีราคาถูกกว่า (ราคานำเข้าเฉลี่ยต่อกิโลกรัมของทุเรียนเวียดนามอยู่ที่ 30.98 หยวน ขณะที่ทุเรียนไทยกิโลกรัมละ 35.94 หยวน)
หมายเหตุ จีนกับเวียดนามได้ลงนามข้อตกลงพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันพืชสำหรับทุเรียนเวียดนามที่ส่งออกไปประเทศจีนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 และเวียดนามเริ่มมีการส่งออกทุเรียนไปที่จีนเมื่อเดือนกันยายน 2565
เมืองการค้าสำคัญ เมืองชายแดนติดเวียดนาม นครเอก และเมืองท่า รอบอ่าวเป่ยปู้ (คนไทยเรียกอ่าวตังเกี๋ย) เป็นพื้นที่ที่มีพลวัตการค้ามากที่สุด โดยเฉพาะเมืองที่เป็นที่ตั้งของด่านสากลทางบกโหย่วอี้กวานอย่าง “เมืองระดับอำเภอผิงเสียง” (Pingxiang City/凭祥市) มีมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกมากกว่า 1.78 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยะ 8.7 ครองสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของการค้าต่างประเทศทั้งกว่างซี
ด่านการค้าสำคัญ ด่านทางบกโหย่วอี้กวาน (ติดจังหวัด Lang son ของเวียดนาม) เป็นด่านสากลทางบกจีน-เวียดนามที่มีปริมาณการค้ามากที่สุด ปี 2566 ปริมาณรถสินค้าผ่านเข้า-ออกด่านแห่งนี้ทำสถิติสูงสุดอีกครั้ง คิดเป็นจำนวนรวม 4.32 แสนคัน/ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 105 (YoY)
หลังจากที่ทางการจีนได้ผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 กิจกรรมทางเศรษฐกิจในด่านโหย่วอี้กวานได้ฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติตามลำดับ การยกเลิกมาตรการบริหารจัดการรถสินค้าผ่านแดนแบบ Closed-loop (เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสของคนขับรถ เปลี่ยนหัวรถลากบริเวณพื้นที่กันชน และใช้คนขับรถของประเทศตัวเอง) โดยอนุญาตให้คนขับรถสินค้าขับเข้าไปยังด่านของอีกฝ่าย การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการตรวจปล่อยรถสินค้าที่ ประตูไม้กั้นด่านชายแดน และการอำนวยความสะดวกเป็นพิเศษสำหรับสินค้าเกษตร (ตรวจก่อน ปล่อยก่อน) ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการตรวจสอบรถสินค้าผ่านเข้า-ออกได้เฉลี่ยมากกว่าวันละ 1,400 คัน/ครั้ง
การค้ากับประเทศไทย
ปี 2566 ประเทศไทยยังคงรักษาตำแหน่งคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของเขตฯ กว่างซีจ้วง สองฝ่ายมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 40,317 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.36 (YoY) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.88 ของมูลค้าการค้ากับอาเซียน และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.81 ของมูลค่ารวมการค้าต่างประเทศทั้งกว่างซี โดยประเทศไทยเกินดุลการค้าเขตฯ กว่างซีจ้วง 3,486 ล้านหยวน
ปี 2566 การค้าระหว่างเขตฯ กว่างซีจ้วงกับประเทศไทยมีมูลค่ารวมมากเป็นอันดับที่ 7 จากทั้งหมด 31 มณฑลในจีนแผ่นดินใหญ่ ด้วยสัดส่วนร้อยละ 4.54 ของทั้งประเทศ (รองจากมณฑลกวางตุ้ง ร้อยละ 24.12 / มณฑลเจียงซูร้อยละ 14.12 / มณฑลเจ้อเจียง ร้อยละ 12.60 / นครเซี่ยงไฮ้ ร้อยละ 9.54 / มณฑลซานตง ร้อยละ 7.58 และมณฑลฝูเจี้ยน ร้อยละ 5.42)
หากพิจารณาเฉพาะ 12 มณฑลทางภาคตะวันตก พบว่า การค้าระหว่างเขตฯ กว่างซีจ้วงกับประเทศไทยมีสัดส่วนนำเป็นอันดับ 1 ในจีน อันดับรองลงมา อาทิ นครฉงชิ่ง (สัดส่วนร้อยละ 1.82) มณฑลเสฉวน (สัดส่วนร้อยละ 1.64) มณฑลยูนนาน (สัดส่วนร้อยละ 1.53) มณฑลส่านซี (สัดส่วนร้อยละ 0.40)
หากพิจารณาเฉพาะการนำเข้าจากไทย เขตฯ กว่างซีจ้วงอยู่อันดับที่ 6 ของประเทศ (รองจากมณฑลกวางตุ้ง นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจ้อเจียง มณฑลเจียงซู และมณฑลซานตง) และการส่งออกไปไทย เขตฯ กว่างซีจ้วงอยู่อันดับที่ 7 ของประเทศ ขยับขึ้น 2 อันดับจากช่วงเดือนกันของปีก่อนหน้า (รองจากมณฑลกวางตุ้ง มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลซานตง และมณฑลฝูเจี้ยน)
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 02 และ 16 มกราคม 2567
หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ (广西日报) วันที่ 16 มกราคม 2567
เว็บไซต์ https://paper.people.com.cn (人民日报海外版) วันที่ 10 มกราคม 2567
เว็บไซต์ http://stats.customs.gov.cn