เชื่อว่า ผู้อ่านหลายท่านคงได้ยินข่าวที่สื่อชั้นนำทั่วโลกได้นำเสนอเกี่ยวกับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนจีนและต่างชาติออกจากจีนกันมาบ้าง
ผู้เขียนมีมุมมองว่า ภาคธุรกิจ “ตื่นตัวได้ แต่ไม่ตื่นตูม” เพราะในบริบทที่จีน ‘สิ้นยุคของถูก ค่าแรงถูก’ และในบริบท “สงครามการค้าจีน-สหรัฐ” (การกีดกันทางการค้าและเทคโนโลยี) ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2561 พออนุมานได้ว่า…บริษัทจีนและต่างชาติที่ใช้จีนเป็นฐานการผลิต/แปรรูปเพื่อการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบโดยตรงจนเป็นที่มาของกระแสข่าวการย้ายฐานการผลิตหรือหาแหล่งผลิตใหม่นอกจีนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบดังกล่าว
ขณะที่บริษัทจีนและต่างชาติในจีนที่มีตลาดเป้าหมายเป็นตลาดจีนในประเทศ (Made for China) อาจจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก ด้วยฐานประชากรกว่า 1,400 ล้านคน ขนาดเศรษฐกิจที่ยังคงรักษาระดับการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ และกำลังซื้อภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่อยากทิ้งจีน ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนมีการแก้ไขกฎระเบียบและประกาศใช้มาตรการใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
เพื่อตอบสนองต่อแนวทางการยกระดับการเปิดสู่ภายนอกของจีน ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจของนักลงทุนต่างชาติที่เสมอภาคและเป็นธรรม ผ่อนคลายการเข้าถึงตลาด (Market Access) และเสริมสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานข้ามพรมแดนที่มุ่งสู่อาเซียน ตลอดจนเพิ่มพูนพลวัตทางเศรษฐกิจ เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้แถลง “มาตรการว่าด้วยการเร่งดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ” (加大吸引外商投资力度若干措施)
มาตรการดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน เช่น การเปลี่ยนผ่านในโครงสร้างการผลิต (ที่มุ่งเน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น) การเคลื่อนย้ายการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในจีน (จากความอิ่มตัวทางภาคตะวันออกมายังภาคตะวันตกของประเทศ) การเปิดกว้างทางการลงทุน ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติให้ได้รับสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองการลงทุนในกว่างซี(จีน)
ทั้งนี้ รัฐบาลกว่างซีมุ่งสนับสนุนโครงการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในสาขาอุตสาหกรรมการผลิตที่ทันสมัย (Advanced Manufacturing) อาทิ การผลิตเครื่องจักร เทคโนโลยีสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตกระดาษขั้นสูง วัสดุโลหะไฮเอนด์ชนิดใหม่ ยานยนต์ (รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า) ชีวการแพทย์ เคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสาขาอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ (strategic Emerging Sectors) อาทิ อุปกรณ์อัจฉริยะ สุขภาพ พลังงานทดแทน วัสดุใหม่ และสาขาการบริการเชิงการผลิต (Producer Services) อาทิ วิทยาการและเทคโนโลยีสารสนเทศ การวิจัยพัฒนาและการออกแบบ
มาตรการส่งเสริมนักลงทุนต่างชาติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการเปิดกว้างเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงตลาดของนักลงทุนต่างชาติ เห็นได้จากการอนุญาตและส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาจัดตั้งศูนย์การวิจัยและพัฒนา (Research and Development Center) ทั้งในรูปแบบทุนต่างชาติ 100% และแบบร่วมทุน การให้การสนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ การยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าในอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการลงทุน การสนับสนุนด้านบุคลากร ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่าง ๆ
การสนับสนุนให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนด้านการศึกษาวิจัยทางเภสัชศาสตร์ชีวภาพและชีวเภสัชภัณฑ์ รวมถึงการทดลองทางคลินิก (Clinical Trials) ในผลิตภัณฑ์เซลล์และยีนบำบัด (Cell and Gene Therapy: CGT) ที่มีจำหน่ายแล้วในตลาดต่างประเทศ และการสนับสนุนการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่ผลิตในกว่างซี ซึ่งยาดังกล่าวมีการผลิตและจำหน่ายอยู่แล้วในต่างประเทศ
การเปิดกว้างนโยบายการนำเงินลงทุนเข้ามาในจีนของนักลงทุนต่างชาติ (Qualified Foreign Limited Partner – QFLP) และส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนส่วนบุคคล (Private Equity Funds – PE) เพื่อใช้ลงทุนในธุรกิจสำคัญในกว่างซี และการอนุญาตให้บริษัททุนต่างชาติเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล
มาตรการการดูแลและคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของนักลงทุนต่างชาติ และการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน (National Treatment) เป็นประเด็นที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญ มาตรการดังกล่าวระบุถึงการเฝ้าระวังและปราบปรามการเผยแพร่ข้อมูลเท็จบนอินเทอร์เน็ตที่เป็นการละเมิดสิทธิอันชอบธรรมของนักลงทุนต่างชาติ กลไกการร้องเรียนและไกล่เกลี่ยสำหรับนักลงทุนต่างชาติ (กระบวนการรับเรื่องร้องเรียน การจัดการข้อร้องเรียน และการแจ้งผลดำเนินการ) การบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และตราสินค้า และการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางเข้า-ออกและพำนักในประเทศจีน ระบบประกันสุขภาพ และมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ อาทิ เงินอุดหนุน ภาษี ที่พักอาศัย และการศึกษาของบุตรหลาน
บีไอซี เห็นว่า ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นทางการลงทุนของนักธุรกิจทั่วโลก อย่างไรก็ดี “จีน” ยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการลงทุนจากต่างชาติมากที่สุดในโลก และยังเป็น “โอกาส” ของนักลงทุนที่มีความพร้อม
สำหรับนักลงทุนไทยที่มอง “ตลาดจีน” เป็นตลาดหลัก ควรติดตามความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมจีนที่มักเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว เพื่อให้การลงทุนสามารถตอบโจทย์ของตลาดจีนได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการและเทคโนโลยี ตลอดจนแนวโน้มการเคลื่อนย้ายการลงทุนไปสู่ภาคตะวันตกของประเทศมากขึ้น
เขตฯ กว่างซีจ้วง เป็นมณฑลทางภาคตะวันตกที่มีข้อได้เปรียบทางทำเลที่ตั้งติดต่อกับอาเซียนทั้งทางบกและทางทะเล มีแพลตฟอร์มการลงทุนที่หลากหลาย (อาทิ เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีระดับมณฑล/ประเทศ เขตสินค้าทัณฑ์บนหลายแห่ง ย่านการเงินจีน-อาเซียน และเขตเทคโนโลยีขั้นสูงอีกเป็นจำนวนมาก) ล่าสุด ยังได้รับแรงเสริมจากมาตรการส่งเสริมนักลงทุนต่างชาติ เชื่อว่า… สำหรับนักธุรกิจที่กำลังแสวงหาโอกาสทางการค้าและกำลังวางแผนที่จะลงทุนในจีน —— “กว่างซี” เป็นหนึ่งใน “ตัวเลือกที่ใช่” ของคุณ !!!
สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับ “มาตรการว่าด้วยการเร่งดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ” ศูนย์ BIC จะนำมาเผยแพร่ให้ผู้ที่สนใจทราบในโอกาสต่อไป
จัดทำโดย : นางสาวฉิน อวี้อิ๋ง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://gx.people.com.cn (人民网) วันที่ 16 มกราคม 2567
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新网广西频道) วันที่ 12 มกราคม 2567
เว็บไซต์ http://swt.gxzf.gov.cn (广西商务厅) วันที่ 10 มกราคม 2567 และ 31 สิงหาคม 2566