เมื่อกลางเดือนธันวาคมของปี 2566 สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเมืองเซี่ยเหมินเผยแผนปฏิบัติการด้านคาร์บอนแบบคู่ขนาน (dual carbon) เพื่อส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสีเขียวและคาร์บอนต่ำ รวมถึงเทคโนโลยีคาร์บอนสีน้ำเงิน ภายในปี 2568 และ การสร้างระบบนิเวศ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และการสร้างระบบพลังงานที่สะอาดขึ้น ตลอดจนการพัฒนาเมืองสู่เมืองคาร์บอนต่ำ ภายในปี 2603 โดยมีมาตรการสำคัญ ได้แก่
(1) การเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพลังงาน โดยผลักดันให้ทุกภาคส่วนลดการปล่อยคาร์บอนและลดการใช้พลังงานแบบดั้งเดิมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลักดันพลังงานใหม่ให้มาทดแทนพลังงานดั้งเดิม เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล พลังงานทางทะเล พลังงานความร้อนใต้พิภพ และพลังงานไฮโดรเจนสีเขียว รวมทั้งการปฏิรูปอุปทานพลังงาน โดยเน้นการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน และการปฏิรูปเทคโนโลยีพลังงาน เพื่อผลักดันการวิจัยขั้นพื้นฐานด้านพลังงานและยกระดับอุปกรณ์เครื่องจักรในการผลิตพลังงาน
(2) เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำในภาคอุตสาหกรรม โดยมุ่งใช้ข้อได้เปรียบจากการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ มุ่งยกระดับสู่เมืองอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของจีน เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน กล่าวคือการส่งเสริมปูนซีเมนไฮดรอลิกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกงานก่อสร้าง การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานคาร์บอนต่ำด้วยการพัฒนาระบบการจัดการวัสดุเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งระบบรีไซเคิล เป็นต้น
(3) การพัฒนาระบบคมนาคมและขนส่งสำหรับเมืองคาร์บอนต่ำ จะให้ความสำคัญกับความสะดวกในการเดินทาง ระยะทางที่เหมาะสมในการเดินทาง ชนิดของยานพาหนะที่ใช้ในการเดินทาง และระบบที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการคมนาคมและขนส่ง การพัฒนาจะมุ่งเน้นให้เกิดการใช้งานยานพาหนะให้น้อยที่สุด และใช้ชนิดของยานพาหนะที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การส่งเสริมการเดินหรือการใช้จักรยานรวมถึงการใช้ระบบขนส่งมวลชนในการเดินทางประจำวันมากยิ่งขึ้น และการใช้ระบบบริหารจัดการจราจรที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำอีกด้วย
(4) ผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสีเขียวและคาร์บอนต่ำ โดยเน้นส่งเสริมการจัดการประชุมความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศด้านพลังงานทดแทน การจัดเก็บพลังงาน พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) การขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการลดมลพิษในเมือง เป็นต้น
แหล่งอ้างอิง https://www.investxiamen.org.cn/detail/8592.html https://www.investxiamen.org.cn/show/788.html