เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2566 เขตผิงถาน นครฝูโจว เปิดใช้งานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอัจฉริยะกลางทะเลสำหรับเพาะเลี้ยงปลาสายพันธุ์ดี ทั้งปลาต้าหวงหรือปลาเยโล โครกเกอร์ ปลาเก๋า ปลาแซลมอนแอตแลนติก เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ลดการทำประมงชายฝั่งและรักษาความสมดุลระบบนิเวศวิทยาทางทะเลยิ่งขึ้น
ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอัจฉริยะกลางทะเลที่เขตผิงถาน ส่งเสริมการประมงสีเขียวควบคู่กับการผลิตพลังงานสะอาด
ฟาร์มแห่งนี้ มีรูปร่างคล้ายรูปหกเหลี่ยม ที่มีกรงกระชังปลาทรงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 40 เมตรอยู่ด้านล่าง สามารถเพาะเลี้ยงปลาน้ำเค็มได้ถึงปีละ 2 แสนตัว มีผลผลิตสูงกว่า 1.5 แสนกิโลกรัม และ ยังมีการติดตั้งระบบกังหันลมเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ โดยไม่ต้องอาศัยการควบคุมของมนุษย์ และเอื้อต่อการตรวจสอบระยะไกลแบบเรียลไทม์ โดยกังหันลมดังกล่าวมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงกว่า 16 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งสามารถรองรับการใช้ไฟฟ้าตามปกติของ 6,000 ครอบครัวที่มีสมาชิก 3 คนต่อปีได้ ทั้งนี้ พลังงานไฟฟ้าจากกังหันลมที่เหลือใช้ จะถูกจัดส่งไปยังโครงข่ายไฟฟ้าบนชายฝั่งผ่านสายเคเบิลใต้น้ำทะเล
ขณะที่ฟาร์มแห่งนี้ ยังมีการติดตั้งระบบอัจฉริยะอย่างครบวงจรเพื่อควบคุมระบบน้ำ การให้อาหาร ปริมาณออกซิเจน แสงสว่าง และการจัดการสารพิษตกค้าง ผ่านระบบกล้องวงจรปิดและเซ็นเซอร์ และสามารถติดตามระบบการจัดการได้แบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังมีการติดตั้งระบบกำจัดขยะและน้ำเสียที่ทันสมัย เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อระบบนิเวศของมหาสมุทรด้วย
ทั้งนี้ รายงานจากโครงการ Blue Food Assessment[1] ได้คาดการณ์ว่า ความต้องการบริโภคสัตว์น้ำทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในช่วงประมาณ 3 ทศวรรษต่อจากนี้ ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคที่พุ่งทะยานแบบต่อเนื่อง รัฐบาลจีนจึงมุ่งใช้ประโยชน์จากการมีชายทะเลต่อเนื่องแผ่นดินใหญ่เป็นระยะทางยาวกว่า 18,000 กิโลเมตร คิดเป็นเนื้อที่ในน่านน้ำทะเลจำนวน 3 ล้านตารางกิโลเมตร มุ่งส่งเสริมและขยายการสร้างฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกลางทะเลเพื่อเลี้ยงปลาในทะเล ปัจจุบัน จีนได้สร้างฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกลางทะเลแล้วเสร็จ 300 แห่ง มีกำลังการผลิตสูงกว่า 393,000 ตันต่อปี และตั้งเป้าหมายการสร้างฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกลางทะเลแห่งชาติมากกว่า 200 แห่ง ภายในปี 2568 แหล่งอ้างอิง http://fj.people.com.cn/n2/2023/1212/c181466-40674772.html
[1] เป็นโครงการริเริ่มศึกษาและวิจัยร่วมด้านผลิตภัณฑ์จากทะเลระหว่างนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์มากกว่า 25 แห่งทั่วโลก อาทิ The Stockholm Resilience Centre มหาวิทยาลัยสต็อคโฮม และ Center for Ocean Solutions มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ฯลฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษาและวิจัยผลิตภัณฑ์ทางทะเลโดยเฉพาะประเภทอาหาร เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่ยั่งยืน