รู้หรือไม่ว่า… จีนเป็นประเทศที่มีการบริโภครังนกมากที่สุดในโลก กว่าร้อยละ 90 ของรังนกที่ผลิตได้จากทั่วโลกถูกส่งไปจำหน่ายในประเทศจีน โดยเฉพาะ “รังนกบริสุทธิ์” ซึ่งผ่านการคัดแยกขนและทำความสะอาดแล้ว และรังนกที่ผ่านการแปรรูปเป็น “ผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูป” ซึ่งในอดีตมีแหล่งนำเข้าหลักที่จีนอนุญาตเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย (อนุญาตปี 2556) อินโดนีเซีย (ปี 2557) และไทย (ปี 2560)
ทั้งนี้ นอกจากรังนกบริสุทธิ์ และผลิตภัณฑ์รังนกพร้อมดื่มสำเร็จรูปแล้ว “มาเลเซีย” เป็นประเทศเดียวที่ได้รับสิทธิเหนือชาติอื่น ๆ ในการส่งออก “รังนกขน” (รังนกดิบที่ยังไม่ได้คัดขน) ไปยังตลาดจีนได้ โดยสามารถส่งออกไปที่ “เมืองชินโจว” (Qinzhou City/钦州市) ของเขตฯ กว่างซีจ้วงและเมืองเซี่ยเหมินของมณฑลฝูเจี้ยนได้เท่านั้น
จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ (17 พฤศจิกายน 2566) เวียดนามได้ส่งออกผลิตภัณฑ์รังนกนางแอ่นล็อตแรกไปยังประเทศจีนผ่านด่านสากลทางบกโหย่วอี้กวานในอำเภอระดับเมืองผิงเสียง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเป็นผลสำเร็จ
นับเป็นความสำเร็จครั้งใหม่ของประเทศเวียดนาม หลังจากใช้ความพยายามในการเจรจาเปิดตลาดรังนกเวียดนามไปจีนนานกว่า 3 ปี โดยเวียดนามเป็นประเทศที่ 4 ที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกรังนกบริสุทธิ์ รวมถึงผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูปพร้อมรับประทานไปยังประเทศจีนอย่างเป็นทางการ
ทำให้“รังนก”เป็นสินค้าเกษตรชนิดใหม่ที่ได้รับอนุญาตการส่งออกไปยังตลาดจีน ต่อจากแก้วมังกร ลำไย เงาะ มะม่วง ขนุน แตงโม กล้วย มังคุด ลิ้นจี่ เสาวรส และทุเรียน โดยพบว่าส่วนใหญ่มีลักษณะทับซ้อนกับสินค้าเกษตรไทยที่สามารถส่งออกไปจีน
สัญญาณไฟเขียวของการส่งออก “ผลิตภัณฑ์รังนกญวน” ไปจีนเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 เมื่อกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนามและสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนหรือ GACC (General Administration of Customs of the People’s Republic of China) ได้ร่วมลงนามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดด้านสุขอนามัยและการตรวจกักกันสินค้ารังนกจากเวียดนามที่นำเข้าสู่ประเทศจีน
หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนได้ออกประกาศเลขที่ 110/2565 ว่าด้วยข้อกำหนดเกี่ยวกับการตรวจสอบและกักกันโรคในผลิตภัณฑ์รังนกที่นำเข้าจากประเทศเวียดนามโดยอนุญาตให้ “รังนกและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากน้ำลายของนกนางแอ่นกินรัง (Aerodramusfuciphagus) หรือนกนางแอ่นประเภทเดียวกัน โดยจะต้องผ่านการคัดทำความสะอาดสิ่งสกปรกและขนนกออกแล้ว และเหมาะสำหรับการบริโภค” สามารถส่งออกไปยังจีนได้
และในที่สุด เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ผลิตภัณฑ์รังนกล็อตแรกของเวียดนาม โดยบริษัทห้างหุ้นส่วนจำกัด AVANEST Vietnam Nutrition ได้ส่งออกผ่านด่านสากลทางบกโหย่วอี้กวานของเขตฯ กว่างซีจ้วง น้ำหนัก 100 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าสินค้ารวม 907,000 หยวน
ตามรายงาน ในทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมรังนกในเวียดนามมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดตอนใต้ของเวียดนาม ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม ระบุว่า ในปี 2565 เวียดนามมีผู้ประกอบการธุรกิจรังนก 23,655 ราย มีกำลังการผลิตรังนกต่อปีราว 200 ตัน คิดเป็นมูลค่า 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูล ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ผู้ประกอบการรังนกในต่างประเทศที่ได้รับการขึ้นทะเบียนส่งออกไปจีน มีจำนวน 99 ราย แบ่งเป็น อินโดนีเซีย 40 ราย มาเลเซีย 49 ราย เวียดนาม 5 ราย และไทย 5 ราย
ปัจจุบัน การบริโภครังนกซึ่งถือเป็นสินค้าพรีเมียมไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะหมู่ชนชั้นสูงในสังคมจีนเหมือนในอดีต ชนชั้นกลางที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในสังคมจีนเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีอำนาจซื้อสูงมีความใส่ใจกับสุขภาพและความงามมากขึ้น กล้าใช้จ่ายเงินเพื่อเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพแม้ว่าราคาจะสูงเพราะบ่งบอกถึงรสนิยมและความพิเศษ จึงกล่าวได้ว่าตลาดรังนกในจีนเป็น “บ่อทอง” ที่ชาติสมาชิกอาเซียนต่างจับจ้องตาเป็นมัน
“รังนก”เป็นสินค้าที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงโดยมีการประเมินว่าตลาดรังนกดิบในจีนน่าจะมีมูลค่าแตะหลักแสนล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ดี รัฐบาลจีนมีมาตรการควบคุมการนำเข้ารังนกที่เข้มงวด โดยเฉพาะรังนกดิบที่ยังไม่ผ่านการแปรรูป ซึ่งประเทศไทยมีผู้ประกอบการส่งออกรังนกเพียง 5 รายที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก GACC การส่งออกรังนกของไทยส่วนใหญ่จึงเป็น “ผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูป” ซึ่งได้รับความนิยมในตลาดผู้บริโภคชาวจีนเช่นกันด้วยจำนวน‘ผู้เล่น’ในตลาดจีนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สถานการณ์การแข่งขันมีแนวโน้มดุเดือดมากขึ้นตามไปด้วย
ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์รังนกเพื่อตอกย้ำความเป็น Products of Thailand รวมถึงนวัตกรรมเพื่อพัฒนาตัวสินค้าและบริการให้เพิ่มมูลค่า การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่โดนใจ และการทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ (สื่อโซเชียลและ Live-streaming) เพื่อเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผลิตภัณฑ์รังนกเหนือคู่แข่ง
สำหรับผู้ประกอบการรังนกดิบไทยที่ประสงค์จะบุกตลาดจีนสามารถสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับระบบการผลิตสินค้ารังนกได้ที่สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ (สพส.) กรมปศุสัตว์ เพื่อประสานงานต่อไปยัง National Certification and Accreditation Administration ของจีน ในการขอขึ้นทะเบียนโรงงานต่อไป และผู้ที่สนใจทำธุรกิจรังนกบ้านสามารถศึกษาแนวปฏิบัติตามมาตรฐานการจัดการบ้านนกแอ่นกินรังตามข้อกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ https://cn.nhandan.vn วันที่27 พฤศจิกายน 2566
เว็บไซต์www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่18 พฤศจิกายน 2566
เว็บไซต์www.customs.gov.cn(海关总署)
ภาพข่าว www.pxszf.gov.cn