เมื่อพูดถึงอาณาจักรแห่งเทคโนโลยีและไอทีที่ก้าวล้ำและโด่งดังที่สุดของจีน คงหนีไม่พ้น “จงกวนชุน” (中关村) ย่านเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาจากย่านการค้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เล็กๆ ในกรุงปักกิ่งช่วงยุค 80’s จนกลายมาเป็น “เขตสาธิตการพัฒนานวัตกรรมด้วยตนเองระดับชาติ” และ “เขตพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทค” ในทุกวันนี้
ปี 2565 ในย่านจงกวนชุนมีบริษัทไฮเทคมากกว่า 24,000 ราย ในจำนวนนี้มีบริษัทที่จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ประมาณ 460 ราย และสตาร์ทอัปยูนิคอร์นมากกว่า 100 รายบริษัทในจงกวนชุนมีรายได้ผลประกอบการรวม 8.7 ล้านล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.67 ของเขตไฮเทคระดับชาติทั้งหมดในจีน
ปัจจุบัน จงกวนชุนได้พัฒนาความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับหน่วยงาน/องค์กร 77 แห่งใน 26 มณฑลทั่วประเทศจีน ซึ่งรวมถึงนครหนานหนิง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเริ่มตั้งแต่ปี 2559 ถือเป็นจงกวนชุนแห่งที่3 ที่จัดตั้งขึ้นนอกกรุงปักกิ่งโดยมุ่งส่งเสริมธุรกิจใน4 สาขาได้แก่ (1) เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ (2) การแพทย์และสุขภาพ (3) การผลิตอุปกรณ์ทันสมัย (4) การบริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา โมเดล “หนานหนิง · จงกวนชุน” กลายเป็นต้นแบบความร่วมมือทางนวัตกรรมระหว่างจงกวนชุนกับเมืองในลักษณะที่อาศัยข้อได้เปรียบของกันและกัน กล่าวคือนครหนานหนิงอาศัยอิทธิพล ทรัพยากร รูปแบบและแนวคิดการพัฒนาของจงกวนชุน ขณะที่จงกวนชุนใช้ประโยชน์จากที่ตั้งที่ใกล้กับประเทศสมาชิกอาเซียน และบทบาทการเป็น “ข้อต่อ” ที่เชื่อมโยงจีน-อาเซียนของนครหนานหนิง
“หนานหนิง · จงกวนชุน” ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ ฐานสาธิตนวัตกรรมหนานหนิง-จงกวนชุน (Nanning-Zhongguancun Innovation Demonstration Base/南宁-中关村创新示范基地) ที่จัดขึ้นในปี 2559 และอุทยานวิทยาศาสตร์หนานหนิง-จงกวนซุน (Nanning-Zhongguancun Science Park/南宁–中关村科技园) ที่เปิดป้ายในปี 2561 ซึ่งผู้อ่านสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์“หนานหนิง·จงกวนชุน” เวทีสร้างสรรค์นวัตกรรมของ Start-up ไทยเฉิดฉายในจีน
กล่าวได้ว่า “หนานหนิง · จงกวนชุน” มีบทบาทเป็น “แม่เหล็ก” ดึงดูดบริษัทด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามารวมตัวในจงกวนชุน ช่วยเพิ่มพลวัตให้กับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของนครหนานหนิง รวมถึงกว่างซีด้วย
ปี 2565 พบว่า หนานหนิง · จงกวนชุน มี pro-innovation entities รวม 832 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ มีบริษัทไฮเทคระดับชาติ 85 แห่ง มีบริษัท SMEs ด้านเทคโนโลยี 135 ราย บริษัทที่เข้ามาตั้งธุรกิจใน “หนานหนิง · จงกวนชุน” มีรายได้ผลประกอบการรวม 24,460 ล้ายหยวน มีการจดทะเบียนสิทธิบัตรแล้วราว 1,100 ฉบับ
ล่าสุด เมื่อไม่นานมานี้ “หนานหนิง · จงกวนชุน” ได้เปิดตัวโปรเจกต์ใหม่ที่มีชื่อว่า “อุทยานเทคโนโลยี GU จงกวนชุน” (GU Park/中关村信息谷科技园) ซึ่งเป็นอุทยานย่อยในอุทยานวิทยาศาสตร์หนานหนิง-จงกวนชุน เขตไฮเทคของนครหนานหนิง นับเป็น Landmarkใหม่ของ “หนานหนิง · จงกวนชุน”
อุทยานเทคโนโลยี GU จงกวนชุน มีพื้นที่สิ่งปลูกสร้างรวม 84,000 ตารางเมตร ลงทุนโดยบริษัท ZGC Information Valley (北京中关村信息谷公司) จากกรุงปักกิ่ง และบริษัท CCCC Fourth Harbor Engineering Co.,Ltd. (中交四航局) จากนครกว่างโจว เริ่มดำเนินธุรกิจอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 หลังใช้เวลาการก่อสร้างนานกว่า 2 ปี
แนวคิดของการพัฒนาอุทยานเทคโนโลยี GU จงกวนซุน มุ่งเน้นการพัฒนาเชิงบูรณาการระหว่างอุตสาหกรรมกับการพัฒนาเมือง(City-Industry Integration) และการพัฒนาเชิงบูรณาการระหว่างอุตสาหกรรมกับการวิจัย (Research-Industry Integration)ปัจจุบัน มีบริษัทไฮเทคเข้าจัดตั้งธุรกิจแล้ว 22 ราย และยังเปิดรับนักลงทุนใหม่อยู่
อุทยานเทคโนโลยี GU จงกวนชุน ตั้งเป้าหมายที่จะดึงดูดให้ “เทค-คอมพานี” (Tech company) ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value added) จากพื้นที่เขตเศรษฐกิจกรุงปักกิ่ง-นครเทียนจิน-มณฑลเหอเป่ย และพื้นที่เขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area: GBA) เข้าไปจัดตั้งกิจการในอุทยานฯ
ในอนาคต อุทยานเทคโนโลยี GU จงกวนชุนจะแสดงบทบาทในการบ่มเพาะบริษัทเทคโนโลยีระดับชาติ เป็นสถานที่รวมศูนย์ของสำนักงานใหญ่ของบริษัทเทคโนโลยี เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยส่งเสริมการประยุกต์ใช้ผลงานเทคโนโลยี รวมถึงการให้บริการและสร้างระบบนิเวศให้กับบริษัทเทคโนโลยีจะเป็นนามบัตรใบใหม่ของอุทยานวิทยาศาสตร์หนานหนิง-จงกวนชุน ตลอดจนศูนย์กลางนวัตกรรมเทคโนโลยี และศูนย์รวบรวมอุตสาหกรรมไฮเทคของนครหนานหนิง
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในอนาคต อุทยานเทคโนโลยี GU จงกวนชุนจะเป็นศูนย์รวมของบริษัทเทคโนโลยีมากกว่า 100 ราย สร้างมูลค่าผลประกอบการได้มากกว่า 1,000 ล้านหยวน
บีไอซี เห็นว่า อุทยานเทคโนโลยี GU จงกวนชุนเป็นอีกแพลตฟอร์มสำคัญในกรอบความร่วมมือระหว่างจงกวนชุนและนครหนานหนิง(กว่างซี) ที่มีข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง (อยู่ใกล้อาเซียน) และทรัพยากรทางเทคโนโลยี (ทั้งภายในและภายนอกกว่างซี) ซึ่ง“เทค-สตาร์ทอัป” ของประเทศไทยก็สามารถใช้ประโยชน์ในการเข้าถึง เรียนรู้ และแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีทั้งในระดับภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหรือมีผลงานการวิจัยและพัฒนาที่นำไปสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้
อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของนักธุรกิจไทยที่กำลังวางแผนที่จะขยายธุรกิจในจีน หรือจัดหาช่องทางความร่วมมือด้านเทคโนโลยี เป็นการส่งเสริมการลงทุนรูปแบบใหม่ที่ให้คนรุ่นใหม่สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ง่ายขึ้นรวมทั้งเป็นเวทีให้ผู้สนใจเริ่มต้นธุรกิจมีโอกาสได้แสดงผลงาน ระดมทุนและพบปะผู้ร่วมทุนได้โดยตรง
จัดทำโดย : นางสาวฉิน ยวี่อิ๋ง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://gx.people.com.cn (人民网-广西频道) วันที่ 30 ตุลาคม 2566
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn(中国新闻网) วันที่ 28 ตุลาคม 2566
เว็บไซต์ http://kjt.gxzf.gov.cn(广西科技厅) วันที่ 4 กรกฎาคม 2566
เว็บไซต์ www.gov.cn(中国政府网) วันที่ 16 พฤษภาคม 2566
ภาพประกอบ http://gx.people.com.cn