เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้จัดพิธีเปิดป้าย สำนักเลขาธิการร่วมสภาธุรกิจจีน-อาเซียนหรือ China-ASEAN Business Council Joint Secretariat (中国—东盟商务理事会联席秘书处) ที่นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง โดยมีนางสาวเบญจมาศ ตันเวทยานนท์ กงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง และคณะกงสุลอาเซียนประจำนครหนานหนิง เข้าร่วมเป็นสักขีพยานด้วย
รู้จัก… สภาธุรกิจจีน-อาเซียนหรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า CABC เป็น 1 ใน 5 กลไกความร่วมมือและการเจรจาทางธุรกิจการค้าระหว่างจีนกับอาเซียน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2544 ด้วยความร่วมมือของสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมของ 10 ชาติสมาชิกอาเซียน รวมถึงนักธุรกิจชั้นนำและผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงจากจีนและประเทศสมาชิกอาเซียนมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเจรจาทางธุรกิจและความร่วมมือทางการค้าการลงทุนระหว่างสองฝ่าย
การจัดตั้งสำนักเลขาธิการร่วมสภาธุรกิจจีน-อาเซียนที่นครหนานหนิง เป็นการยกระดับและขยายขอบเขตการดำเนินงานของสภาธุรกิจจีน-อาเซียน เพื่อให้ช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสนับสนุนการบริการด้านการค้าและการลงทุนสำหรับสมาชิกภาคธุรกิจจีน-อาเซียนได้อย่างครอบคลุมและเต็มที่มากยิ่งขึ้นและมีนัยสำคัญที่สะท้อนถึงการสนับสนุนจากส่วนกลางในการส่งเสริมการบทบาทการเป็น“ประตูสู่อาเซียน” (Gateway to ASEAN) ของเขตฯ กว่างซีจ้วงรวมทั้งผลักดันการอัปเกรดเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน (CAFTA) เวอร์ชัน 3.0 และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
นับตั้งแต่ปี 2552 ประเทศจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียนโดยในปี 2565 การค้าระหว่างอาเซียนกับจีน มีมูลค่า 715,156.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 6.70 จากปีก่อนหน้า (YoY) เป็นการส่งออกจากอาเซียนไปจีนมูลค่า 288,920.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอาเซียนนำเข้าจากจีน มูลค่า 426,235.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในส่วนของการค้าระหว่างไทยกับจีน ในปี 2565 มีมูลค่ารวม 105,404.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 1.53 (YoY) แบ่งเป็นไทยส่งออกไปจีน มูลค่า 34,389.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากจีนมูลค่า 71,014.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ ผลไม้สดผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิเครื่องจักรกลไฟฟ้าและอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ และเหล็กกล้า
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตลอดหลายปีมานี้ เขตฯ กว่างซีจ้วงมีความมุ่งมั่นในการพัฒนากลไก/แพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างกว่างซี(จีน)กับอาเซียนอย่างต่อเนื่อง อาทิ “ศูนย์ธุรกิจจีน-อาเซียน” (China-ASEAN Business Center – CABC / 中国-东盟经贸中心) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยงนครหนานหนิง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ช่วยตอบสนองความต้องการและเสริมประสิทธิภาพการให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจจีน-อาเซียนแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถของเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)พื้นที่ย่อยหนานหนิงในฐานะแหล่งรองรับการลงทุนที่มีศักยภาพสูงระหว่างจีนกับอาเซียน
ศูนย์ธุรกิจจีน-อาเซียนมีภารกิจการให้บริการครอบคลุมด้านการค้า การลงทุน การบริการด้านกฎหมาย การเงิน โลจิสติกส์ ข้อมูลดิจิทัล วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเกษตร ภาษาวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ทรัพยากรบุคคลโดยมีหลายภารกิจที่เปิดให้บริการแล้ว อาทิ ศูนย์บริการสำหรับนักลงทุนต่างชาติในเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) ศูนย์บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Country of Origin) ศูนย์บริการของ CCPIT ซึ่งมีบริการด้านอนุญาโตตุลาการและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการค้าอยู่ด้วย ศูนย์บริการด้านการเงินข้ามแดนจีน-อาเซียน ศูนย์ซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์จีน-อาเซียน ศูนย์ส่งเสริมโลจิสติกส์ข้ามแดนแบบครบวงจรจีน-อาเซียนและกลุ่มพันธมิตรธุรกิจขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบจีน-อาเซียน ศูนย์บริการผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาของประเทศสมาชิกอาเซียน
บีไอซี เห็นว่า นับตั้งแต่มีการสถาปนาความสัมพันธ์จีน – อาเซียนขึ้นเมื่อปี 2534 จีนและอาเซียนได้พัฒนาและยกระดับรูปแบบความร่วมมือที่มีความหลากหลาย มีความรอบด้านและมีขอบเขตที่กว้างขวาง การจัดตั้งกลไก/แพลตฟอร์มข้างต้นถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำหรับภาคธุรกิจไทยในการเลือกใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม/กลไกดังกล่าว เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับจีน
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่1 พฤศจิกายน 2566
เว็บไซต์ http://zqb.cyol.com(中国青年报)วันที่1 พฤศจิกายน 2566
เว็บไซต์ www.china-aseanbusiness.org.cn(中国-东盟商务理事会)