เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลกว่างซีมีมติให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกพื้นที่ในมณฑล เฉลี่ยเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 14.8 โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป โดยค่าแรงขั้นต่ำดังกล่าวถือเป็นเงินรายได้ขั้นต่ำสุดที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้กับลูกจ้าง ซึ่งไม่ครอบคลุมเงินค่าล่วงเวลาและสวัสดิการอื่นๆ เช่น เงินประกันสังคม (ในส่วนของนายจ้าง) เงินอุดหนุน เงินรางวัล และรายรับที่มิใช่เงินตรา (เสื้อผ้า อาหาร)
นับตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา กว่างซีได้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาแล้ว 14 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดปรับขึ้นเมื่อปี 2563 สำหรับการปรับขึ้นในครั้งนี้ รัฐบาลกว่างซีใช้เกณฑ์การพิจารณาจาก (1) อัตราค่าครองชีพ โดยเฉพาะรายจ่ายในการดำรงชีพของประชาชนเขตเมือง (2) สัดส่วนการนำส่งเงินประกันสังคมของพนักงาน (3) เงินกองทุนเพื่อที่อยู่อาศัย (4) เงินเดือนเฉลี่ยของพนักงาน และ (5) ระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสอดคล้องกับ “แผนการเพิ่มรายได้เฉลี่ยที่ใช้จ่ายได้เป็นเท่าตัวของประชากรเขตเมือง” ที่ระบุถึงการปรับเกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำอย่างน้อยทุก 2-3 ปี เพื่อสร้างหลักประกันการดำรงชีวิตของผู้ที่มีรายได้ต่ำให้เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แม้ว่าครั้งนี้จะมีการปรับขึ้นต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15
ความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ นอกจากจะเป็นไปเพื่อให้รายได้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจและการดำรงชีพในปัจจุบันแล้ว ยังช่วยให้ผลิตภาพแรงงานเพิ่มสูงขึ้น สร้างแรงจูงใจให้แรงงานพัฒนาทักษะของตนเองเพิ่มขึ้น
อีกทั้ง เป็นการสนับสนุนแผนการเคลื่อนย้ายกลุ่มแรงงานอพยพจากชนบทเข้าสู่เมือง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภค ลดช่องว่างทางสังคม รวมทั้งยังช่วยดึงดูดแรงงานพลัดถิ่นให้กลับมาทำงานในกว่างซี ซึ่งถือเป็นตัวจักรสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวกว่างซี
บีไอซี เห็นว่า นักลงทุนไทยที่สนใจจะไปปักธงลงทุนที่จีนแผ่นดินใหญ่ควรติดตามแนวโน้มตลาดแรงงานในจีนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากต้นทุนในการจ้างงานเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ใช้ประกอบการพิจารณาก่อตั้งธุรกิจ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่า ประเทศจีนในวันนี้ได้สิ้นสุดยุคสินค้าและค่าแรงถูกไปแล้ว อุตสาหกรรมการผลิตในจีนแผ่นดินใหญ่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ยุคสมัยที่การผลิตมุ่งเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยุคสมัยที่ธุรกิจ(ต่างชาติ)ต้องหันมามองจีนในฐานะ “ตลาดผู้บริโภค” ขนาดใหญ่มากกว่าการมองว่าจีนเป็น “โรงงานโลก” อย่างเช่นในอดีต
ทั้งนี้ บีไอซี ขอให้ข้อสังเกตว่า พื้นที่เศรษฐกิจเกิดใหม่ทางภาคตะวันตกของจีนยังมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการประกอบธุรกิจที่ต่ำกว่าภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีต้นทุนการประกอบธุรกิจและการแข่งขันกันที่ค่อนข้างสูง (นครเซี่ยงไฮ้ มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่เดือนละ 2,690 หยวน เริ่มบังคับใช้ 1 กรกฎาคม 2566) ดังนั้น นักธุรกิจไทยที่สนใจจะเข้าไปจัดตั้งธุรกิจในจีน สามารถพิจารณามณฑลทางภาคตะวันตกและภาคกลางตอนล่างของจีนเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจได้
จัดทำโดย : นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
แหล่งที่มา : เว็บไซต์ www.gxzf.gov.cn (广西政府网) ประจำวันที่ 13 ตุลาคม 2566