เมื่อเดือนตุลาคมปี 2566 รัฐบาลเซี่ยเหมินประกาศแผนปฏิบัติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ระยะ 3 ปี (ปี 2566 – 2568) โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ระบบอัจฉริยะ ซึ่งรวมถึงเครือข่าย 5G Cloud Computing และ IoT โดยมีมาตรการสำคัญ ได้แก่
(1) โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เน้นปฏิบัติตามยุทธศาสตร์พัฒนา “ดิจิทัลเซี่ยเหมิน” โดยใช้ประโยชน์จากการที่เมืองเซี่ยเหมินเป็นฐานพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของมณฑลฝูเจี้ยน มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของเมืองให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของเซี่ยเหมิน 4.8 แสนล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 61.5 ของ GDP ทั้งเมือง
(2) โครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ มุ่งพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้ครอบคลุมหลายด้าน รวมถึงการพัฒนาการขนส่งทางเรือ ทางอากาศ และทางรางด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ การแพทย์อัจฉริยะ การศึกษาอัจฉริยะ การท่องเที่ยวอัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ พลังงานอัจฉริยะ และการประมงและเกษตรอัจฉริยะ โดยตั้งเป้าหมายสร้างฐานการผลิตอัจฉริยะระดับประเทศกว่า 5 แห่ง ภายในปี 2568
(3) โครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ เร่งก่อสร้างศูนย์ Cloud Computing ศูนย์ระบบประมวลผลข้อมูลความเร็วสูง (Edge Computing) และศูนย์คอมพิวเตอร์อัจฉริยะ Huawei Kunpeng Computing ของเมืองเซี่ยเหมิน โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังระบบประมวลผลคอมพิวเตอร์ของเมืองเซี่ยเหมินให้สูงกว่า 1.1 EFLOPS[1] หรือกำลังคำนวน 1.1 ล้านล้านล้านต่อวินาที ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในหลากหลายฟังก์ชัน เช่น การพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน การศึกษาการกำเนิดแผ่นดินไหว การศึกษาระบบประสาทมนุษย์ เพื่อส่งเสริมเมืองเซี่ยเหมินให้กลายเป็นหนึ่งในผู้นำในด้านโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ของจีน ภายในปี 2568
(4) สนับสนุนบทบาทของภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมในการลงทุน การก่อสร้าง และการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกในการพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรม และดึงดูดกลุ่มผู้ให้บริการคลาวด์ เครือข่าย 5G AI Metaverse อินเทอร์เนตผ่านดาวเทียม (Satellite Internet) และ IoT ต่างชาติทุ่มเม็ดเงินลงทุนที่เมืองเซี่ยเหมิน
ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจจีน (SASAC) เผยว่า รัฐวิสาหกิจจีนกำลังเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ โดยบริษัทกว่า 700 แห่งในเครือของรัฐวิสาหกิจที่บริหารโดยรัฐบาลกลางจีนกว่า 70 แห่ง ได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของเมืองเซี่ยเหมิน คิดเป็นมูลค่ากว่า 4 แสนล้านหยวน หรือ 5.96 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
แหล่งอ้างอิง https://www.investxiamen.org.cn/show/775.html https://www.investxiamen.org.cn/detail/8246.html
[1] FLOPS คือ เป็นมาตรวัดความเร็วของคอมพิวเตอร์ แบ่งเป็น KFLOPS MFLOPS GFLOPS TFLOPS PFLOPS EFLOPS ZFLOPS และ YFLOPS ตามลำดับ
zeng yuancheng Xiamen_editor