เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2566 ทีมงานของศาสตราจารย์ ดร. เซี่ย เหอผิง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเซินเจิ้นและมหาวิทยาลัยเสฉวน และบริษัท China Dongfang Electric Corporation จำกัด ผู้ผลิตเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และอุปกรณ์พลังงานรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของจีน ประสบความสำเร็จในการวิจัยเทคโนโลยี การผลิตไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) โดยตรงจากน้ำทะเลโดยไม่ต้องแยกเกลือออกจากน้ำทะเล (Desalination) เพื่อนำมาทดลองใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าที่ฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งอ่าวซิงหัว เมืองฝูชิง นครฝูโจว ซึ่งเป็นฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ากว่า 1.4 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งสามารถรองรับการใช้ไฟฟ้าตามปกติของ 700,000 ครัวเรือนที่มีสมาชิกจำนวน 3 คนต่อปี
ชุดอุปกรณ์ผลิตไฮโดรเจนสีเขียวโดยตรงจากน้ำทะเลของทีมงานศาสตราจารย์ ดร. เซี่ย เหอผิง ที่ฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งอ่าวซิงหัว ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีแหล่งพลังงานลมนอกชายฝั่งที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของจีน
เทคโนโลยีใหม่ดังกล่าวสามารถผลิตไฮโดรเจนโดยตรงจากน้ำทะเลอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยการใช้อุปกรณ์แยกน้ำทะเลด้วยไฟฟ้า (Seawater Electrolyzer) แบบ Membrane-based Electrolysis แทนวิธีการดั้งเดิมซึ่งอาศัยการปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อแยกน้ำทะเลด้วยแท่งประจุ (Electrode) ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการกัดเซาะแท่งเหล็กจากกรดไฮโดรเจนที่ได้จากการแยกน้ำทะเลด้วยไฟฟ้า อีกทั้งเทคโนโลยีใหม่ดังกล่าวช่วยต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนต่อลูกบาศก์เมตรประมาณ 0.3 หยวน หรือ 1.5 บาท ไม่ก่อให้เกิดคลอรีนในกระบวนการผลิตดังเช่นวิธีการเดิม และเหมาะสำหรับการนำไปใช้งานเชิงพาณิชย์ นับเป็นก้าวสำคัญในอุตสาหกรรมไฮโดรเจนสีเขียวของจีน
โดยสรุป นวัตกรรมการแยกน้ำทะเลด้วยไฟฟ้า เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งไทยสามารถติดตามพัฒนาการและศึกษานวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานใหม่ เพื่อประโยชน์ในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานพลังงานหมุนเวียนของไทยอย่างยั่งยืนต่อไปได้ แหล่งอ้างอิง https://local.cctv.com/2023/08/24/ARTIfmAnYKsFREW19IKXyyiP230824.shtml
zeng yuancheng Xiamen_editor