มณฑลเจียงซีให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นหนึ่งในเครื่องจักรสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของมณฑลเจียงซี โดยปัจจุบันมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลคิดเป็นร้อยละ 35 ของมูลค่า GDP ทั้งมณฑล และมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของนครหนานชางคิดเป็นร้อยละ 40 ของมูลค่า GDP ทั้งเมือง โดยรัฐบาลเจียงซีได้ออกแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรม 5G ระยะ 3 ปี (ปี 2566 – 2568) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสู่การเป็นมณฑลแห่งอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง ภายในปี 2568 โดยมีมาตรการสำคัญ ได้แก่
5.1 ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เร่งส่งเสริมการดำเนินโครงการ “ทุกหมู่บ้านเชื่อมต่อกัน” เพื่อวางรากฐานระบบเครือข่าย 5G ในบริเวณพื้นที่ที่อยู่อาศัยและเขตชนบท โดยตั้งเป้าหมายการเปิดใช้บริการสถานีส่งสัญญาณ 5G มากกว่า 21,000 แห่ง การจัดตั้งสถานี 5G ใหม่มากกว่า 18,000 แห่ง และการขยายสถานีส่งสัญญาณ 5G รวมทั้งหมดกว่า 83,000 แห่งภายในปี 2566 นอกจากนี้ มณฑลเจียงซียังเร่งส่งเสริมการดำเนินโครงการพัฒนา “Dual Gigabit City” โดยสนับสนุนการใช้งานเครือข่าย 5G (SA)[1] ให้ครอบคลุมพื้นที่ในมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ปัจจุบัน เจียงซีมีการจัดตั้งสถานีส่งสัญญาณ 5G แล้วทั้งหมด 62,000 แห่ง และมีสถานีส่งสัญญาณ 5G เฉลี่ยประมาณ 18 สถานีต่อประชากร 10,000 คน
5.2 ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G โดยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจชั้นนำ มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัย เพื่อดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลัก 5G อาทิ ชิป โมดูล และเสาอากาศ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมสำหรับประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ร่วมกับอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ โดรน หุ่นยนต์อัจฉริยะ และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ตัวอย่างความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาระหว่างวิสาหกิจและมหาวิทยาลัย อาทิ บริษัท China Mobile Communications Group จำกัด ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหนานชางเพื่อดำเนินโครงการ Smart Campus ด้วยเทคโนโลยี 5G อาทิ การพัฒนาห้องเรียน Intelligent Hybrid Classroom และระบบวิเคราะห์ Attention & Learning Engagement เป็นต้น
5.3 การพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี 5G 1) การเสริมสร้างการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในอุตสาหกรรมการผลิตด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5Gโดยสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี 5G ทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมตั้งแต่การควบคุมการผลิตระยะไกล กระบวนการประกอบ การควบคุมคุณภาพ การจัดการโลจิสติกส์ การตรวจสอบความปลอดภัย และ 2) สนับสนุนการพัฒนาและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในอุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ การผลิตวัสดุอัจฉริยะ ปิโตรเคมีอัจฉริยะ การแพทย์และเวชภัณฑ์ โลจิสติกส์อัจฉริยะ ท่าเรืออัจฉริยะ การทำเหมืองอัจฉริยะ เกษตรอัจฉริยะ และพลังงานอัจฉริยะ เป็นต้น
5.4 การดึงดูดการลงทุนจากวิสาหกิจขึ้นสูง โดยส่งเสริมการลงทุนจากวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในสาขาอุตสาหกรรม 5G จากในจีนและต่างประเทศ เพื่อขยายห่วงโซ่อุตสาหกรรม 5G ให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีวิสาหกิจชั้นนำที่ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน 5G ในเจียงซี อาทิ บริษัท Huawei / Zhongxing Telecommunication Equipment Corporation / China Mobile / China United / China Telecom เป็นต้น
โดยสรุป ปัจจุบัน จีนขึ้นแท่นผู้นำด้านเทคโนโลยี 5G ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ สถานีส่งสัญญาณและใยแก้วนำแสงให้บริการ 5G ความเร็วระดับกิกะบิตในกว่า 110 เมืองทั่วประเทศ โดยมีสถานี ส่งสัญญาณ 5G ครอบคลุม 22.2 สถานีต่อประชากร 10,000 คน ขณะที่มณฑลเจียงซีมุ่งส่งเสริมใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี 5G ล้ำสมัย เช่น 5G (SA) ซึ่งมีคุณสมบัติสำหรับการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตโดยเฉพาะ เพื่อส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของมณฑล อาทิ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เกษตรอัจฉริยะ การทำเหมืองแร่ และยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไทยสามารถแสวงหาความร่วมมือกับภาคเอกชนจีนที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น บริษัท Jiangxi Tianli Technology, Inc. ผู้ดำเนินธุรกิจการเป็นที่ปรึกษา ออกแบบ จัดหาอุปกรณ์ ติดตั้ง และบำรุงรักษาด้านระบบสื่อสารโทรคมนาคมที่ทันสมัยแบบครบวงจร เพื่อพัฒนาการประยุกต์เทคโนโลยี 5G ซึ่งจะช่วยการพัฒนาขีดความสามารถสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยได้
แหล่งอ้างอิง http://www.tvoao.com/a/214976.aspx http://tjj.jiangxi.gov.cn/art/2023/3/28/art_40939_4403078.html
[1] เครือข่าย 5G (SA) เป็นระบบ 5G ขั้นสูงที่มีความเร็วและความเสถียรสูงเหมาะสำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต