เขตการค้าเสรีนำร่องจีน (มณฑลยูนนาน) จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 มีพื้นที่รวม 119.86 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย
พื้นที่ย่อยคุนหมิง (Kunming Sub-area) ขนาด 76 ตารางกิโลเมตร ซึ่งรวมพื้นที่เขตปลอดอากรนครคุนหมิง (Kunming Free Trade Zone) และเขตเศรษฐกิจท่าอากาศยาน มุ่งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตระดับสูง โลจิสติกส์การบิน เศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงสร้างศูนย์กลางการเชื่อมโยง ศูนย์โลจิสติกส์และสารสนเทศ รวมทั้งศูนย์วัฒนธรรมและการศึกษา ที่มุ่งเชื่อมโยงกับภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พื้นที่ย่อยหงเหอ (Honghe Sub-area) มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอเหอโข่ว ขนาด 14.12 ตารางกิโลเมตร ซึ่งรวมพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมของเขตฯ หงเหอ เช่น เขตปลอดอากรหงเหอและเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีเหมิงจื้อ มุ่งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม อาทิ การแปรรูปและการค้า การบริการเพื่อสุขภาพ การท่องเที่ยวข้ามแดน และอีคอมเมิร์ซข้ามแดน รวมถึงสร้างฐานการผลิตและแปรรูป ศูนย์การค้าและโลจิสติกส์ รวมทั้งเขตสาธิตความร่วมมือด้านนวัตกรรมบนระเบียงเศรษฐกิจจีน-เวียดนามที่มุ่งเชื่อมโยงกับอาเซียน
พื้นที่ย่อยเต๋อหง (Dehong Sub-area) ขนาด 29.74 ตารางกิโลเมตร มุ่งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม อาทิ อีคอมเมิร์ซข้ามแดน ความร่วมมือด้านกำลังการผลิตข้ามแดน และการเงินข้ามแดน ที่มุ่งการเป็นประตูของระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา (China-Myanmar Economic Corridor: CMEC)
ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2563 เขตการค้าเสรีนำร่องยูนนานมีบริษัทจดทะเบียนใหม่จำนวน 16,029 บริษัท นอกจากนี้ ยังมีหน่วยธุรกิจ (Market Entity) เกิดขึ้นวันละ 160 ราย สามารถดึงดูดบริษัททุนต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ 1 รายในทุก 4 วัน โดยมีมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกรวม 48,790 ล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.6 ของมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกของมณฑลยูนนาน และมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ 87 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 58,830 ล้านหยวน
ในปี 2563 พื้นที่ย่อยคุนหมิงได้เริ่มเปิดบริการ “รัฐบาลรับผิดชอบค่าประทับตราสำหรับหน่วยธุรกิจทุกประเภท” โดยหน่วยธุรกิจสามารถขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจพร้อมตราประทับได้ภายในระยะเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2563 พื้นที่ย่อยคุนหมิงมีรายได้จากธุรกิจหลัก 204,500 ล้านหยวน และมีงบประมาณสนับสนุนอุตสาหกรรมหลัก 670 ล้านหยวน โดยนับจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 มีการลงทุนโครงการสำคัญ 113 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุน 56,500 ล้านหยวน
ขณะเดียวกันในปี 2563 พื้นที่ย่อยหงเหอสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างมณฑลได้ 3,256 ล้านหยวน และมีบริษัทเข้าจดทะเบียนในนิคมโลจิสติกส์อีคอมเมิร์ซข้ามแดนจีน (เหอโข่ว)-อาเซียน (China (Hekou)-ASEAN Cross-Border E-Commerce Logistics Park) 145 ราย มีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ 668 ล้านหยวน
ส่วนพื้นที่ย่อยเต๋อหงนั้น นับจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 มีแพลตฟอร์มสำหรับไลฟ์สดเพื่อจำหน่ายหยกจักรพรรดิ (Emperor Jade) 7 แพลตฟอร์ม มีศูนย์จำหน่ายหยกจักรพรรดิ 10 แห่ง มีแรงงานในอุตสาหกรรมหยกจักรพรรดิกว่า 60,000 คน โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2563 มีมูลค่ายอดขาย 9,221 ล้านหยวน นอกจากนี้ ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี จะมีผลไม้เมียนมาที่นำเข้าผ่านบริษัท Ruili Wanding Changhe Trading จำกัด (瑞丽市畹町长合贸易有限公司) เพื่อจัดส่งไปทั่วจีนวันละ 5,000 ตัน
อนึ่ง เขตการค้าเสรีนำร่องยูนนานเป็นเขตการค้าเสรีนำร่อง (Pilot Free Trade Zone: FTZ)[1] กลุ่มที่ 5 ซึ่งคณะรัฐมนตรีจีน (State Council) อนุมัติให้จัดตั้งเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 พร้อมกับอีก 5 มณฑล ได้แก่ มณฑลซานตง มณฑลเจียงซู มณฑลเหอเป่ย มณฑลเฮยหลงเจียง และเขตฯ กว่างซี โดยนับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีนำร่องในพื้นที่ชายแดนจีนที่เน้นการพัฒนารูปแบบความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามแดน (modes of cross-border economic cooperation) เพื่อเชื่อมโยงจีนกับภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ที่มา: http://yn.yunnan.cn/system/2021/01/14/031234986.shtml
[1] เขตการค้าเสรีนำร่อง (Pilot Free Trade Zone) ของจีนในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 21 แห่ง ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ (ปี 2556) กวางตุ้ง ฝูเจี้ยน เทียนจิน (ปี 2558) เหลียวหนิง เหอหนาน เจ้อเจียง หูเป่ย ฉงชิ่ง เสฉวน ส่านซี (ปี 2560) ไห่หนาน (ปี 2561) ซานตง เจียงซู เหอเป่ย เฮยหลงเจียง กว่างซี ยูนนาน (ปี 2562) ปักกิ่ง หูหนาน อันฮุย (ปี 2563) โดยเขตการค้าเสรีนำร่องนับเป็นพื้นที่ซึ่งรัฐบาลจีนเปิดให้ทดสอบระบบการจัดการการลงทุนของต่างชาติรูปแบบใหม่ ๆ การอำนวยความสะดวกทางการค้า ตลอดจนการปรับปรุงระบบการทำงานของภาครัฐ เพื่อส่งเสริมการปฏิรูปและการเปิดประเทศ ตลอดจนการบูรณาการเศรษฐกิจจีนกับมาตรฐานสากล