โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
เมื่อ 20 ปีที่แล้ว อำเภอหนานชาง นครหนานชางเป็นพื้นที่ด้อยพัฒนาทางอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งของมณฑลเจียงซี อย่างไรก็ตาม ขนาดความเป็นเมืองของอำเภอหนานชางขยายพื้นที่จาก 4.5 ตารางกิโลเมตรกลายเป็น 65 ตารางกิโลเมตรในปัจจุบัน หรือเพิ่มขึ้น 14 เท่า หลังจากรัฐบาลท้องถิ่นได้ออกนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมของอำเภอหนานชางจำนวนมากโดยเฉพาะการส่งเสริมเขตพัฒนาเทคโนโลยีเศรษฐกิจเสียวหลานซึ่งเริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2545 และได้ก้าวสู่การเป็นเขตพัฒนาเทคโนโลยีเศรษฐกิจสำคัญระดับชาติของจีนในปี 2555
เขตพัฒนาเสียวหลานเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอำเภอหนานชางโดยได้ส่งเสริมอำเภอหนานชางได้ก้าวขึ้นเป็นอำเภอแข็งแกร่ง 100 อันดับแรกของจีนในปี 2551 เป็นครั้งแรก และต่อมา ในปี 2563 อำเภอหนานชางได้ก้าวขึ้นเป็นอำเภอแข็งแกร่งติดอันดับ 21 ของจีน โดยในปี 2563 เขตพัฒนาเสียวหลานมีมูลค่ารายได้กว่า 1.2 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 และมีมูลค่าการผลิตกว่า 1.2 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9
ปัจจัยสำคัญในการประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของอำเภอหนานชางคือ รัฐบาลส่งเสริมนโยบาย “1 เขตนำ 3 สวน” กล่าวคือ เขตพัฒนาเสียวหลานเป็นแกนนำเศรษฐกิจ ควบคู่กับการพัฒนาสวนโลจิสติกส์เซี่ยงถาง สวนวิสาหกิจ SMEs อู๋หยาง และสวนอุตสาหกรรมปิงเจียง โดยเขตพัฒนาเสียวหลานได้รับการส่งเสริมเป็นฐานอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของมณฑลเจียงซี ตามสมญานามว่า “ยานยนต์ของเจียงซีต้องมองหนานชาง ยานยนต์ของหนานชางต้องมองเสียวหลาน” รวมทั้งเป็นฐานอุตสาหกรรมอาหารของมณฑลเจียงซี ฐานอุตสาหกรรมยาและการแพทย์ของมณฑลเจียงซี นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศกลุ่มแรกของมณฑล เจียงซี และเขตสาธิตการสร้างแบรนด์ที่มีชื่อเสียงสำหรับรถยนต์ดีเซลขนาดเบาแห่งชาติจีน รวมถึงเป็นฐานอุตสาหกรรมเกิดใหม่ อาทิ วัสดุใหม่ พลังงานใหม่และเทคโนโลยีใหม่ เป็นต้น
ปัจจุบัน เขตพัฒนาเสียวหลานมีพื้นที่กว่า 61 ตารางกิโลเมตร และมีวิสาหกิจเข้ามาจัดตั้งฐานการผลิตกว่า 730 แห่ง ซึ่งมีวิสาหกิจที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มากกว่า 30 แห่ง และวิสาหกิจแข็งแกร่ง 500 อันดับแรกของโลกทั้งหมด 14 แห่ง อาทิ บริษัท Ford ของสหรัฐฯ บริษัท Jiangxi Jiangling Lear Interior System Co., Ltd. บริษัท Jiangxi-Isuzu Motors Co., Ltd. บริษัท Coca-Cola บริษัท Pepsi-Cola บริษัท China National Cereals, Oils & Foodstuffs Corp. (COFCO) เป็นต้น
นอกจากนี้ อำเภอหนานชางยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเกษตร โดยออกนโยบาย “สหกรณ์หุ้นที่ดิน” ซึ่งเกษตรกรใช้ “สิทธิ์จัดการและรับเหมาที่ดินในชนบท” ที่มีอยู่เดิมเปลี่ยนเป็นหุ้นส่วนสหกรณ์ฯ ทำให้เกษตรกรนอกจากมีรายได้จากการใช้แรงงานแล้ว ยังมีสิทธิ์รับโบนัสปลายปีจากสหกรณ์หุ้นที่ดินนี้ และรัฐบาลอำเภอหนานชางยังจัดตั้งกองทุนรางวัลพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมการเกษตร 10 ล้านหยวนเพื่อกระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรของอำเภอหนานชาง ความก้าวหน้าดังกล่าวทำให้อำเภอหนานชางได้รับการขนานนามว่าเป็น “คลังอาหารทางใต้แยงซี”
แบบอย่างการเรียนรู้ ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่กับเกษตรกรรมของอำเภอหนานชางถูกนำมาใช้เพื่อขจัดปัญหาความยากจนในพื้นที่โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและความแข็งแกร่งด้านเกษตรกรรมดั้งเดิมในท้องถิ่นเพื่อพัฒนาอาชีพของประชาชน รวมทั้งเพิ่มสิทธิ์ความเป็นเจ้าของที่ดินให้แก่เกษตรกรในรูปแบบสหกรณ์หุ้นที่ดินเพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความหวงแหนในผืนดินทำกิน ขณะเดียวกัน ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมที่ได้เปรียบของท้องถิ่นนั้น ๆ และส่งเสริมความทันสมัยของภาคการเกษตร แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นของอำเภอหนานชางเป็นตัวอย่างที่สำหรับไทยในการกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ควบคู่การส่งเสริมภาคเกษตรกรรมที่เป็นจุดแข็งของไทย
แหล่งอ้างอิง http://www.jx.xinhuanet.com/2021-02/02/c_1127052611.htm
http://www.jxxl.gov.cn/7585.html
**********
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู