เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2564 จีนเปิดฉากการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ชุดที่ 13 ครั้งที่ 4 ณ กรุงปักกิ่ง ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายทางเศรษฐกิจของปี 2564 รวมทั้งกำหนดเป้าหมายหลักในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี (ค.ศ. 2021-2025) ฉบับที่ 14
เป้าหมายทางเศรษฐกิจของปี 2564
(1) GDP เติบโตมากกว่าร้อยละ 6 (2) การสร้างงานใหม่กว่า 11 ล้านตำแหน่งในเขตเมือง (3) อัตราการว่างงานอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 (4) CPI เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3 (5) ยกระดับคุณภาพการนำเข้าและการส่งออก (6) รายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (7) คุณภาพของสิ่งแวดล้อมจะมีการปรับตัวดีขึ้นเพิ่มเติม (8) ปริมาณการใช้พลังงานต่อหน่วย GDP ลดลงประมาณร้อยละ 3 และการปล่อยสารมลพิษหลักจะลดลงอย่างต่อเนื่อง และ (9) ปริมาณการผลิตธัญพืชมากกว่า 6.5 แสนล้านกิโลกรัม
เป้าหมายหลักในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 (ค.ศ. 2021-2025)
(1) ยกระดับคุณภาพของการพัฒนาเศรษฐกิจ (2) อัตราการว่างงานอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.5 (3) เน้นนวัตกรรมในการขับเคลื่อนการพัฒนาโดยเฉพาะการวิจัยเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานและเร่งพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (4) การสร้างตลาดภายในประเทศที่แข็งเกร่งตามนโยบายเศรษฐกิจวงครคู่ “dual circulation” (5) การผลักดันการฟื้นฟูชนบทในรอบด้านหลังบรรลุเป้าหมายการบรรเทาความยากจนแล้ว (6) การปรับสภาพแวดล้อมการประกอบธุรกิจให้ดีขึ้น รวมทั้งพัฒนาเครือข่ายเขตการค้าเสรีระดับสูงที่เปิดตัวสู่โลก ตลอดจนผลักดันการร่วมกันสร้าง BRI ที่มีคุณภาพสูง (7) ปริมาณการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วย GDP ลดลงร้อยละ 13.5 และร้อยละ 18 ตามลำดับ และ (8) เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและธัญพืช โดยจะสามารถผลิตธัญพืชเฉลี่ย 6.5 แสนล้านกิโลกรัมต่อปี
เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในปี 2563 ส่งผลให้จีนไม่ได้ตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา สำหรับปี 2564 จีนได้กลับมาตั้งเป้าหมายอีกครั้งที่ร้อยละ 6 ซึ่งต่างจากที่นักวิเคราะห์บางส่วนคาดว่าจีนจะยังไม่ตั้งเป้าการเติบโตของ GDP ในปีนี้เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งนี้ เป้าหมายของปีนี้เป็นระดับเดียวกันกับเป้าหมายของปี 2562 (ร้อยละ 6-6.5) ส่วนเป้าหมายด้านการจ้างงานก็กลับสู่ระดับเดียวกันของช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรค COVID-19
จัดทำโดย: นายเหวิน ปิน ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ กรุงปักกิ่ง
แหล่งข้อมูล:
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู