โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลฝูเจี้ยนออกนโยบายส่งเสริมการก่อสร้าง “หมู่บ้านดิจิทัล” เพื่อช่วยส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในเขตชนบท อาทิ โครงการข้อมูล “Agriculture Cloud 131” ซึ่งมีระบบบริการแบ่งปันข้อมูลทางการเกษตรโดยผู้เชี่ยวชาญผ่านระบบออนไลน์ให้แก่เกษตรกรทั่วมณฑล โดยปัจจุบัน มณฑลฝูเจี้ยนมีการก่อสร้างสำนักบริการข้อมูลทางการเกษตรในลักษณะดังกล่าว 11,000 แห่ง มีบุคลากรให้บริการข้อมูล 12,000 คน รวมทั้งมีการสร้างสวนอัจฉริยะทางการเกษตรที่ทันสมัย 50 แห่งเพื่อใช้เป็นฐานการประยุกต์ใช้ Internet of Things เพื่อการเกษต
ตัวอย่างการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร เช่น โครงการดอกฝ้ายอัจฉริยะซึ่งใช้เครื่องมือไฮเทคต่าง ๆ อย่างดาวเทียม โดรนและเซ็นเซอร์ในการผลิตฝ้ายตลอดทั้งกระบวนการและสามารถคำนวณและตรวจสอบข้อมูลการเพาะปลูกและพัฒนาการย้อนหลังได้ เพื่อควบคุมคุณภาพและความปลอดภัย และเพิ่มผลผลิต เป็นต้น หรือ “โครงการไก่วิ่ง JD” ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมเกษตรดิจิทัลระหว่างภาครัฐและเอกชนโดยบริษัท JD.com โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั้งระบบตั้งแต่กระบวนการเลี้ยงจนถึงการจำหน่ายซึ่งช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3,000 หยวนต่อครัวเรือน
สิ่งที่ไทยเรียนรู้ได้ การเกษตรอัจฉริยะเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาไปสู่ “เกษตรกรรม 4.0” ตามนโยบายของรัฐบาลไทย การใช้อากาศยานไร้คนขับหรือโดรน ระบบเซ็นเซอร์ และ Internet of Things (IoT) เป็นเทคโนโลยีทันสมัยที่ใช้อย่างแพร่หลายในภาคการเกษตรของจีนเพื่อควบคุมคุณภาพและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ แต่ยังมีใช้ในภาคเกษตรไทยไม่มากนัก โดยปัจจุบัน ภาครัฐโดยศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) ได้พัฒนาเซ็นเซอร์ด้านการเกษตร เช่น เซ็นเซอร์วัดความชื้น เซ็นเซอร์ความดันเพื่อควบคุมระบบน้ำหยด เซ็นเซอร์วัดธาตุอาหารพืช NPK เพื่อใช้ในระบบจ่ายปุ๋ยผ่านท่อ เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่า สิ่งสำคัญในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT ในภาคการเกษตร ภาครัฐจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยี IoT ให้แก่เกษตรกรไทยโดยเฉพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ด้วย นอกจากนั้น ภาครัฐยังต้องคำนึงถึงการส่งผ่านประสบการณ์และความรู้ด้านการเกษตรจากรุ่นสู่รุ่นของเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องผ่านการรวบรวมฐานข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data ในด้านนี้ ทั้งนี้ ปัจจุบันสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลได้จัดตั้งกองทุน “Depa Fund” เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการส่งเสริมเกษตรไทยให้ก้าวสู่ “เกษตรกรรม 4.0” ได้จริงต่อไป
แหล่งอ้างอิง http://fjnews.fjsen.com/2021-04/27/content_30712287.htm
http://fjnews.fjsen.com/2021-04/26/content_30712241.htm
https://www.depa.or.th/th/article-view/40-smart-farm-series-digital-transformation-agricultural-sector
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู