ไฮไลท์
- ปี 2563 เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงมียอดการผลิตรถยนต์มากเป็นอันดับที่ 5 ของประเทศจีน รวมจำนวน 1.74 ล้านคัน (ประเทศไทยผลิตได้ 1.42 ล้านคัน) ทำให้ “ยานยนต์” เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเสาหลักของมณฑลนี้ โดยเป็นตัวจักรช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของมณฑลให้ก้าวหน้ามากขึ้น
- “อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือก” เป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ของกว่างซี ล่าสุด “นครหนานหนิง” กำลังเร่งเดินหน้าผลักดันโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์พลังงานทางเลือก ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชานเมืองของนครหนานหนิง โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตรถยนต์ได้ภายในปลายปี 2564 นี้
- หากมองเฉพาะรถยนต์พลังงานทางเลือก พบว่า ปี 2563 เขตฯ กว่างซีจ้วง มีปริมาณการผลิตและจำหน่ายรถยนต์พลังงานทางเลือกสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศจีน โดยกุญแจสำคัญอยู่ที่การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์ที่ล้ำสมัย และการปรับตัวในทิศทางเดียวกันทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรม ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องของไทยสามารถศึกษารูปแบบการพัฒนาหรือแสวงหาความร่วมมือร่วมกับผู้ผลิตในเขตฯ กว่างซีจ้วง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยด้วย
“ยานยนต์” เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเสาหลัก (Key sector) ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นตัวจักรที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของมณฑลให้ก้าวหน้ามากขึ้น จากข้อมูลปี 2563 เขตฯ กว่างซีจ้วง มียอดการผลิตรถยนต์มากเป็นอันดับที่ 5 ของประเทศจีน รวมจำนวน 1.74 ล้านคัน (ประเทศไทยผลิตได้ 1.42 ล้านคัน) โดยมีเมืองหลิ่วโจว (Liuzhou City/柳州市) และเมืองกุ้ยก่าง (Guigang City/贵港市) เป็นเมืองอุตสาหกรรมรถยนต์ชั้นแนวหน้าของประเทศจีน
ในบริบทที่ “อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือก” เป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ของกว่างซี ล่าสุด “นครหนานหนิง” กำลังเร่งเดินหน้าผลักดันโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์พลังงานทางเลือก ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหลิงลี่ (Lingli Industrial Park/伶俐工业园) บริเวณชานเมืองของนครหนานหนิง โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตรถยนต์ได้ภายในปลายปี 2564 นี้
สำหรับโครงการดังกล่าวมีพื้นที่ 163,800 ตร.ม. ประกอบด้วยโรงงานผลิต 4 หลัง คลังสินค้า อาคารสำนักงาน และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น จุดบำบัดน้ำเสีย จุดรวมขยะอันตราย จุดรวมขยะของแข็ง โดยจะมีกำลังการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลปีละ 100,000 คัน สร้างมูลค่าการผลิตได้ปีละ 10,000 – 15,000 ล้านหยวน และสร้างรายได้ภาษีให้แก่ภาครัฐได้ปีละ 1,000 ล้านหยวน
คาดหมายว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาเชิงคุณภาพในภาคอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์สมัยใหม่ให้แก่นครหนานหนิง ช่วยกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค ช่วยส่งเสริมการจ้างงานในพื้นที่ และช่วยส่งเสริมแนวคิด Go Green กับพฤติกรรมการเดินทางด้วยรถยนต์พลังงานทางเลือก
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หากมองเฉพาะรถยนต์พลังงานทางเลือก ปี 2563 เขตฯ กว่างซีจ้วง มีปริมาณการผลิตและจำหน่ายรถยนต์พลังงานทางเลือกสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศจีน นับตั้งแต่มีการส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานทางเลือกเมื่อ 1 ตุลาคม 2562 จนถึง 31 ธันวาคม 2563 ยอดการผลิตและจำหน่ายรถยนต์พลังงานทางเลือกของกว่างซีมีแนวโน้มขยายตัวสูง
โดยในปี 2563 มียอดการผลิต 182,344 คัน ขยายตัว 190.58% YoY (ปี 2562 ยอดผลิต 62,752 คัน) คิดเป็นสัดส่วน 13.3% ของทั้งประเทศ และยอดจำหน่าย 181,821 คัน ขยายตัว 173.75% YoY (ปี 2562 ยอดจำหน่าย 66,419 คัน) คิดเป็นสัดส่วน 13.3% ของทั้งประเทศ ทั้งนี้ ประเทศจีนมียอดผลิตและจำหน่ายรถยนต์พลังงานทางเลือก 1.366 ล้านคัน และ 1.367 ล้านคัน ตามลำดับ
การพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานทางเลือกในเขตฯ กว่างซีจ้วง นอกจากพื้นฐานที่แข็งแกร่งจากการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของประเทศจีน การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการใช้งานรถยนต์พลังงานทางเลือก รวมถึงการสนับสนุนของนโยบายภาครัฐแล้ว กุญแจสำคัญอยู่ที่การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์ที่ล้ำหน้า มีการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้งานตามยุคตามสมัย การปรับตัวในทิศทางเดียวกันในห่วงโซ่อุตสาหกรรม ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ได้ปรับตัวมาเป็นซัพพลายเออร์ให้กับยานยนต์สมัยใหม่ และเข้าร่วมพัฒนาชิ้นส่วนและเทคโนโลยีร่วมกับผู้ประกอบรถยนต์ รวมทั้งปรับเปลี่ยนสายการผลิตให้เหมาะสมกับเทรนด์ในอนาคต ซึ่งภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องของไทยสามารถศึกษารูปแบบการพัฒนาหรือแสวงหาความร่วมมือร่วมกับผู้ผลิตในเขตฯ กว่างซีจ้วง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยต่อไปด้วย
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) วันที่ 31 พฤษภาคม 2564
เว็บไซต์ https://new.qq.com (中新社广西) วันที่ 30 พฤษภาคม 2564