ศุลกากรนครเฉิงตูให้ความช่วยเหลือเชิงรุกแก่ผู้ประกอบการและบริษัท โดยนำข้อมูลและปัญหาที่ภาคเอกชนประสบมาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดแบบบูรณาการที่สำคัญดังนี้
1. หาจุดอ่อนเพื่อปรับให้เป็นจุดแข็ง เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 เขตปลอดภาษี Nanchong Bonded Logistics Center (สินค้าประเภท B) ตรวจสอบพบว่าภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ มีรายการนำเข้าส่งออกเพียง 3 รายการ จากเดิม ที่มีการคำนวณมูลค่าการนำเข้าส่งออกในเขตฯ สูงสุด 200 ล้านหยวนต่อปี ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องหาทางปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ธุรกิจสามารถเปิดดำเนินการในเขตปลอดภาษีเพิ่มจำนวนมากขึ้น
ศุลกากรนครเฉิงตูจึงมีนโยบายแก้ปัญหา โดยการลดความซับซ้อนและเพิ่มความรวดเร็วของการยื่นขอเปิดบริษัทในเขตฯ เพิ่มช่องทางออนไลน์ในการยื่นเอกสาร เพิ่มความเร็วในการตรวจสอบเอกสารให้เสร็จภายใน 24 ชม. หาช่องทางช่วยลดต้นทุนของบริษัทที่จะขอเปิด และส่งเสริมให้บริษัทเน้นส่งสินค้าแบบแชร์พื้นที่ในตู้คอนเทนเนอร์ (LCL) ทั้งนี้ หลังจากการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวในเดือนเมษายน 2564 เขตฯ มีการนำเข้าส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 163 รายการ มูลค่า 20.57 ล้านหยวน และบริษัทชั้นนำมากกว่า 10 แห่งมีการวางแผนจะมาเปิดในเขตฯ ในอนาคต
2. รู้ให้ลึก มองให้ขาด สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ประกอบคอมพิวเตอร์จัดว่าเป็นสินค้าส่วนใหญ่ที่ถูกส่งผ่าน เขตปลอดภาษี High-tech Zone แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานของทั่วโลกเกิดความไม่แน่นอน ระยะเวลาในการจัดส่งที่ไม่ตรงตามกำหนด รวมถึงอุตสาหกรรมของโลกเกิดการแย่งชิงวัตถุดิบในการสร้างซิปของคอมพิวเตอร์
หลังจากที่ศุลกากรทราบถึงสถานการณ์และปัญหา จึงได้ประสานงานกับบริษัทเพื่อเพิ่มความเร็วในการนำสินค้าเข้าและออกในเขตฯ ลดปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต นอกจากนี้ เมื่อสินค้าผลิตพร้อมส่งออก ศุลกากรจะช่วยจัดการด้านเอกสารเพื่อให้บริษัทสามารถจัดส่งสินค้าได้ตรงเวลา ด้วยเหตุนี้ในเดือนพฤษภาคม 2564 จึงมีการนำเข้าซิปมูลค่า 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกระจายให้แก่สายการผลิตของบริษัทต่าง ๆ ได้สำเร็จและทันท่วงที
3. ปกป้องสิทธิ์และช่วยให้ถูกจุด เมื่อเดือนเมษายน 2564 ศุลกากรเขตชิงปายเจียง ได้รับการร้องขอความช่วยเหลือจากบริษัทรองเท้าสตรีแห่งหนึ่งที่ประสบปัญหาไม่สามารถจัดส่งสินค้าไปรัสเซียได้ตรงตามที่วางแผน และจะทำให้บริษัทพลาดรถไฟเที่ยว China-Europe Express ที่จะเดินทางออกในวันถัดไป การล่าช้านี้จะทำให้บริษัทต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนและจะสูญเสียคำสั่งซื้อในอนาคต
เมื่อศุลกากรทราบถึงปัญหา จึงเริ่มแผนฉุกเฉินสำหรับการดำเนินพิธีศุลกากร โดยได้ติดตามสถานะของสินค้าทุกๆ ครึ่งชั่วโมงเพื่อเตรียมความพร้อมในการตรวจสอบสินค้า และเมื่อสินค้ามาถึง จนท. ศุลกากรได้ตรวจสอบสินค้าและ ดำเนินการทางพิธีการศุลกากรด้วยความรวดเร็วเพื่อให้สินค้าสามารถส่งออกไปยังรัสเซียได้ตามกำหนดเดิม ความสำเร็จในการช่วยเหลือดังกล่าวทำให้บริษัทเกิดความเชื่อมั่นในศุลกากรนครเฉิงตูและได้นำคำสั่งซื้อทั้งหมดภายในปี 2564 ของบริษัทประมาณ 400 ตู้คอนเทนเนอร์ส่งผ่านเส้นทาง Chengdu China-Europe Express
จากตัวอย่างการทำงานเชิงรุกข้างต้น ศุลกากรจึงไม่เพียงแต่เป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติงานด้านพิธีการศุลกากรเท่านั้น แต่เป็นหน่วยงานที่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับตลาดด้วย
แหล่งที่มา Chengdu Customs District P.R.CHINA
http://chengdu.customs.gov.cn/chengdu_customs/519400/519403/3706137/index.html