ไฮไลท์
- ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ผู้ค้าได้หันมาใช้รถไฟเพื่อการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ “รถไฟจีน(กว่างซี)-เวียดนาม” มีปริมาณการขนส่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี จึงกล่าวได้ว่า “ด่านรถไฟผิงเสียง” เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยสินค้าไทยสามารถใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อกระจายต่อไปยังพื้นที่อื่นทั่วประเทศจีนด้วย (1) การขนถ่ายขึ้นรถบรรทุก (2) การใช้โครงข่ายรถไฟในจีน หรือโครงข่ายรถไฟ China- Europe Railway เพื่อลำเลียงสินค้าไปเจาะตลาดเอเชียกลาง และยุโรปได้
- เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานศุลกากรได้พัฒนาระบบขนส่งด้านศุลกากร (Customs Transit System) และนำไปทดลองใช้ที่ “ด่านรถไฟผิงเสียง” เป็นที่แรกในประเทศจีน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้นำเข้า-ส่งออกทางรถไฟ ลดขั้นตอนในการยื่นพิธีการศุลกากร ช่วยให้ผู้ค้าได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ในการเคลื่อนย้ายสินค้า เป็นการลดระยะเวลา ค่าใช้จ่าย รวมทั้งส่งเสริมระบบโลจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศ
- กระบวนการขนส่งสินค้าไทยไปจีนด้วยขบวนรถไฟจีนดังกล่าว (ขาขึ้น) จะเป็นโมเดลการขนส่ง “รถ+ราง” สำหรับสินค้าทั่วไป จะใช้รถบรรทุกจากภาคอีสานไทย และเปลี่ยนถ่ายขึ้นรถไฟที่สถานี Yên Viên ในกรุงฮานอย เพื่อลำเลียงผ่านด่านรถไฟผิงเสียงไปที่นครหนานหนิง แต่ในกรณีของ “ผลไม้ไทย” รถบรรทุกจะวิ่งผ่านกรุงฮานอยไปที่จังหวัดล่างเซิน (Lang Son) เพื่อเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าขึ้นรถไฟที่สถานีด่งดัง (Dong Dang) ก่อนจะวิ่งเข้าสู่ด่านรถไฟผิงเสียง และกระจายต่อไปยังพื้นที่ในประเทศจีน
- ในส่วนของการขนส่งสินค้าจากจีนไปยังประเทศสมาชิกอาเซียน (ขาล่อง) ก็สามารถใช้โมเดลการขนส่ง “ราง+รถ” ได้เช่นกัน มีการใช้งานครั้งแรกในเส้นทางจีน – เวียดนาม – สปป.ลาว ในการลำเลียงสินค้าที่ใช้ทางการเกษตร (ปุ๋ยเคมี เครื่องจักรทางการเกษตร) ด้วยรถไฟจากจีน(นครหนานหนิง) และไปถ่ายตู้ขึ้นรถบรรทุกในเวียดนาม ก่อนจะวิ่งไปยังปลายทางใน สปป.ลาว ระยะทาง 1,300 กิโลเมตร ใช้เวลาขนส่งเพียง 4 วัน เมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งทางเรือ สามารถร่นเวลาได้มากกว่า 10 วัน
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ผู้ค้าได้หันมาใช้รถไฟเพื่อการนำเข้า-ส่งออกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ “รถไฟจีน(กว่างซี)-เวียดนาม” มีปริมาณการขนส่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี จากข้อมูลสถิติของ China Railway Nanning Group ระบุว่า ในช่วง 9 เดือน ปี 2564 ขบวนรถไฟจีน(กว่างซี)-เวียดนาม วิ่งให้บริการแล้ว 235 เที่ยว เพิ่มขึ้น 117% (YoY) และคาดการณ์ว่า ปีนี้จะมีรถไฟจีน-เวียดนาม วิ่งให้บริการ 300 เที่ยว คิดเป็นปริมาณตู้สินค้าที่ขนส่ง 6,772 TEUs
ทั้งนี้ ตัวเลขข้างต้น ไม่นับรวมเที่ยวขบวนรถไฟจากหัวเมืองเศรษฐกิจสำคัญอื่นที่ใช้“ด่านรถไฟผิงเสียง” เพื่อการนำเข้า-ส่งออกกับเวียดนาม ซึ่งมีอยู่ 10 เส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นนครกว่างโจว นครฉางซา นครเจิ้งโจว โดยสถิติช่วง 7 เดือนแรก ปี 2564 มีขบวนรถไฟวิ่งให้บริการมากถึง 400 เที่ยวขบวน เพิ่มขึ้น 80.2% YoY แบ่งเป็น เที่ยวขบวนขาออกไปเวียดนาม 185 เที่ยว เพิ่มขึ้น 110% YoY และเที่ยวขบวนขาเข้า 215 เที่ยว เพิ่มขึ้น 59.3% YoY รวมจำนวนตู้สินค้า 12,286 TEUs เพิ่มขึ้น 200% YoY)
นับตั้งแต่เปิดให้บริการขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจีน-เวียดนามเมื่อปี 2550 สินค้าที่นำเข้า-ส่งออกด้วยขบวนรถไฟดังกล่าวมีความหลากหลายเพิ่มขึ้น ทั้งสินค้าเกษตร (ผลไม้ ไม้ซุง ยาสมุนไพรจีน) สินค้าอุตสาหกรรม (อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มอเตอร์ ปุ๋ยเคมี สังกะสีออกไซด์ กระจก เครื่องจักรทางการเกษตร ชิ้นส่วนยานยนต์) รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน (เกลือ เบียร์ กระดาษ สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ ของใช้ที่ทำจากพลาสติก)
เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้นำเข้า-ส่งออกทางรถไฟ เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานศุลกากรได้พัฒนาระบบขนส่งด้านศุลกากร (Customs Transit System) และนำไปทดลองใช้ที่ “ด่านรถไฟผิงเสียง” เป็นที่แรกในประเทศจีน ทำให้สามารถลดขั้นตอนในการยื่นพิธีการศุลกากร ช่วยให้ผู้ค้าได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ในการเคลื่อนย้ายสินค้า เป็นการลดระยะเวลา ค่าใช้จ่าย รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถของระบบโลจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศ
ระบบขนส่งด้านศุลกากร (Customs Transit System) คืออะไร ระบบงานศุลกากรที่ออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกการค้าสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกอาเซียน (เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ผ่าน “ด่านรถไฟผิงเสียง” กับประเทศเวียดนาม) โดยผู้นำเข้า-ส่งออกสามารถปฏิบัติพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์เพียงครั้งเดียวสำหรับการขนส่งสินค้า โดยตู้สินค้าที่ลำเลียงมาถึงที่ “ด่านรถไฟผิงเสียง” ไม่ต้องเปิดตรวจ และไม่จำเป็นต้องแจ้งถ่ายลำ/ข้ามแดนซ้ำที่ด่านรถไฟผิงเสียง ก็สามารถขนส่งต่อไปเพื่อดำเนินพิธีการศุลกากรที่ด่านปลายทางได้โดยตรง
ระบบดังกล่าวช่วยลดขั้นตอนการดำเนินพิธีการศุลกากร ลดความแออัดของสินค้าในด่านรถไฟผิงเสียง เร่งการเคลื่อนย้ายสินค้าให้ไวขึ้น หลีกเลี่ยงปัญหาการคั่งค้างของตู้สินค้าในด่านรถไฟ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง เพิ่มปริมาณการค้าและเครือข่ายการผลิตในภูมิภาค สิ่งสำคัญที่สุด คือ การลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง (ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 200-350 หยวนต่อใบขนสินค้า)
บีไอซี เห็นว่า การขนส่งสินค้าทางรถไฟผ่าน “ด่านรถไฟผิงเสียง” เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยสินค้าที่ลำเลียงผ่านขบวนรถไฟจีน(กว่างซี)-เวียดนาม ส่วนใหญ่จะไปวิ่งต่อไปที่ “ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนานหนิง” เพื่อกระจายต่อไปยังพื้นที่อื่นทั่วประเทศจีนด้วย (1) การขนถ่ายขึ้นรถบรรทุก (2) การใช้โครงข่ายรถไฟในจีน หรือโครงข่ายรถไฟ China- Europe Railway เพื่อลำเลียงสินค้าไปเจาะตลาดเอเชียกลาง และยุโรปได้
สำหรับประเทศไทย “ด่านรถไฟผิงเสียง” เป็นช่องทางการค้าที่บทบาทสำคัญในการช่วยระบายผลไม้ในช่วงที่ผลผลิตกระจุกตัวออกสู่ตลาด เป็นด่านทางเลือกที่ผู้ค้าให้ความสนใจใช้ประโยชน์ เนื่องจากสามารถช่วยแบ่งเบาภาระความแออัดของรถบรรทุกที่ด่านทางบกโหย่วอี้กวาน หลีกเลี่ยงความเสียหายของผลไม้สดที่รอคิวหรือติดค้างอยู่นอกด่านโหย่วอี้กวานได้อย่างมาก ที่สำคัญ ยังช่วยลดการสัมผัสใกล้ชิดของบุคคลและสินค้าในช่วง COVID-19 ได้ด้วย
แม้ว่าขบวนรถไฟจีน(กว่างซี)-เวียดนามจะใช้สำหรับขนส่งสินค้าทุกประเภท (ไม่ได้จำกัดเฉพาะผลไม้) แต่การเพิ่มขึ้นของเที่ยวขบวนรถไฟขนส่งสินค้าในช่วงไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 3 ของปี 2564 ซึ่งตรงกับช่วงฤดูผลไม้ของประเทศไทย โดยเพิ่มขึ้นจาก 128 เที่ยว เป็น 235 เที่ยว เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (ช่วง 6 เดือนแรก ปี 2564 ผลไม้ที่ลำเลียงผ่านขบวนรถไฟจีน-เวียดนาม มีปริมาณรวม 15,780 ตัน เพิ่มขึ้น 36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน)
กระบวนการขนส่งสินค้าไทยไปจีนด้วยขบวนรถไฟจีน(กว่างซี)-เวียดนาม (ขาขึ้น) จะเป็นโมเดลการขนส่ง “รถ+ราง” โดยรถบรรทุกจากภาคอีสานไทย และเปลี่ยนถ่ายขึ้นรถไฟที่สถานี Yên Viên ในกรุงฮานอย เพื่อลำเลียงผ่านด่านรถไฟผิงเสียงไปที่นครหนานหนิง และใช้ประโยชน์จากโครงข่ายรถไฟในการกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคอื่นของประเทศจีน แต่สำหรับการขนส่ง “ผลไม้ไทย” รถบรรทุกจากภาคอีสานไทย ผ่านกรุงฮานอยไปที่จังหวัดล่างเซิน (Lang Son) เพื่อเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าขึ้นรถไฟที่สถานีด่งดัง (Dong Dang) ก่อนจะวิ่งเข้าสู่ด่านรถไฟผิงเสียง และกระจายต่อไปยังพื้นที่ในประเทศจีน
ในส่วนของการขนส่งสินค้าจากจีนไปยังประเทศสมาชิกอาเซียน (ขาล่อง) ก็สามารถใช้โมเดลการขนส่ง “ราง+รถ” ได้เช่นกัน โดยมีการใช้งานครั้งแรกในเส้นทางจีน – เวียดนาม – สปป.ลาว ในการลำเลียงสินค้าที่ใช้ทางการเกษตร (ปุ๋ยเคมี เครื่องจักรทางการเกษตร) ด้วยรถไฟจากจีน(นครหนานหนิง) และไปเปลี่ยนถ่ายขึ้นรถบรรทุกในประเทศเวียดนาม ก่อนจะส่งไปยังปลายทางใน สปป.ลาว ระยะทาง 1,300 กิโลเมตร ใช้เวลาขนส่งเพียง 4 วัน เมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งทางเรือ สามารถร่นเวลาได้มากกว่า 10 วัน
ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการค้าสองทาง และจัดสรรตู้สินค้าหมุนเวียน (บรรจุสินค้าขนกลับแทนการขนตู้สินค้าเปล่ากลับไทย) ผู้ค้าไทยก็สามารถใช้โมเดลการขนส่งดังกล่าวในการลำเลียงสินค้าขาล่องจากจีนกลับประเทศไทยได้เช่นเดียวกัน
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 01, 14, 19 ตุลาคม 2564 / 19 สิงหาคม 2564
หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ (广西日报) วันที่ 19 สิงหาคม 2564 / 06 กรกฎาคม 2564 / 14 พฤษภาคม 2564
เว็บไซต์ www.chnrailway.com (中华铁道网) วันที่ 04 สิงหาคม 2564