เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 มณฑลยูนนานได้ออกประกาศ “ความเห็นของคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลมณฑลยูนนานว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาแบบก้าวกระโดดที่มีคุณภาพสูงของทุกเมืองในมณฑลยูนนานตามแนวคิดการพัฒนาใหม่” สืบเนื่องมาจากทฤษฎี “สามใหม่” (三新) ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้แก่ “การคว้าโอกาสในการพัฒนาใหม่ การดำเนินตามแนวคิดการพัฒนาใหม่ และการสร้างรูปแบบการพัฒนาใหม่” (把握新发展阶段,贯彻新发展理念,构建新发展格局) โดยในส่วนของมณฑลยูนนานมีมูลค่า GDP เติบโตอย่างก้าวกระโดดจากอันดับที่ 23 ของจีนในปีสุดท้ายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 12 (2554-2558) ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 18 ในปีสุดท้ายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 (2559-2563) ด้วยมูลค่า GDP 2.45 ล้านล้านหยวน
เอกสารความเห็นดังกล่าวได้กำหนดเป้าหมายภาพรวมการพัฒนาของมณฑลยูนนาน 2 ระยะ ได้แก่ (1) เป้าหมายระยะใกล้ภายในปี 2568 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 (2564-2568) ยูนนานกำหนดเป้าหมายมูลค่า GDP 3.5 ล้านล้านหยวน มูลค่า GDP เฉลี่ยต่อหัวมากกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ มีเมืองที่มี GDP ระดับล้านล้านหยวน 1 แห่ง เมืองที่มี GDP ระดับ 5 แสนล้านหยวน 1 แห่ง และเมืองที่มี GDP ระดับแสนล้านหยวนอีกจำนวนหนึ่ง ขณะที่ (2) เป้าหมายระยะยาวภายในปี 2578 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 16 (2574-2578) ยูนนานกำหนดเป้าหมายมูลค่า GDP เฉลี่ยต่อหัวมากกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ มีเมืองที่มี GDP ระดับล้านล้านหยวน 3 แห่ง รวมถึงบรรลุเป้าหมายการสร้างสังคมนิยมที่ทันสมัย” พร้อมกันทั่วประเทศจีน
นอกจากนี้ เอกสารความเห็นดังกล่าวได้แบ่งพื้นที่และรูปแบบการพัฒนาของมณฑลยูนนานออกเป็น 4 ภูมิภาค ได้แก่ (1) การผงาดของภาคกลาง ได้แก่ นครคุนหมิงและปริมณฑล เพื่อเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาแบบก้าวกระโดดที่มีคุณภาพสูงของทั้งมณฑล รวมทั้งเป็นเขตศูนย์กลางการเชื่อมโยงกับเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2) การเปิดกว้างของชายแดน โดยใช้ประโยชน์จากจุดเด่นด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ชายแดนอย่างเต็มที่ เพื่อให้พื้นที่ชายแดนช่วยสนับสนุนและเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “สายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) เชื่อมโยงกับเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (3) การพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้ประโยชน์จากจุดเด่นด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ชายแดนเชื่อมโยงมณฑลยูนนาน-เสฉวน-กุ้ยโจว รวมถึงระเบียงเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี ระเบียงการค้าบก-ทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor: NILSTC) และวงเวียนเศรษฐกิจเฉิงตู-ฉงชิ่ง และ (4) การหลอมรวมภาคตะวันตก โดยใช้ประโยชน์จากจุดเด่นด้านระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ ธรรมชาติที่สวยงาม และทรัพยากรท่องเที่ยวที่หลากหลาย เพื่อผลักดันการปฏิรูปการท่องเที่ยวและการพัฒนาอย่างสมดุล
ในภาพรวม เพื่อบรรลุเป้าหมายระดับมณฑลข้างต้น เอกสารความเห็นดังกล่าวได้กำหนดเป้าหมายย่อยและภารกิจของเมืองและเขตปกครองตนเองทั้ง 16 แห่งของมณฑลยูนนาน ดังนี้
นครคุนหมิง ในฐานะเมืองเอกของมณฑล ได้รับการกำหนดเป้าหมายมูลค่า GDP 1 ล้านล้านหยวนในปี 2568 และมีประชากรที่มีภูมิลำเนาถาวร 10 ล้านคน ส่วนในปี 2578 มีเป้าหมายมูลค่า GDP 2.7 ล้านล้านหยวนและมีพื้นที่ความเป็นเมือง 1,000 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมประชากรที่มีภูมิลำเนาถาวรร้อยละ 70 โดยมีภารกิจในการพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดใหม่ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ได้แก่ วัสดุใหม่ สุขภาพ และดิจิทัล เพื่อเป็นเสาหลักในการพัฒนาของนครคุนหมิงในอีก 30 ปีข้างหน้า
เมืองฉวี่จิ้ง ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของมณฑลยูนนาน ได้รับการกำหนดเป้าหมายมูลค่า GDP 5 แสนล้านหยวนในปี 2568 และ 1.2 ล้านล้านหยวนในปี 2578 โดยมีภารกิจเป็นฐานการผลิต “พลังงานสีเขียว” ได้แก่ เซลล์แสงอาทิตย์ซิลิคอนสีเขียว อะลูมิเนียมแปรรูปสีเขียว แบตเตอรี่พลังงานใหม่ ฐานการเกษตรทันสมัย โดยเฉพาะ “อาหารสีเขียว” ได้แก่ ความมั่นคงด้านธัญพืช การแปรรูปเนื้อสัตว์ ตลอดจนผัก-ผลไม้คุณภาพสูง
เมืองยวี่ซี ซึ่งเป็นแหล่งสะสมน้ำจืดร้อยละ 9 ของจีน ได้รับการกำหนดเป้าหมายมูลค่า GDP 3.3 แสนล้านหยวนและมูลค่า GDP เฉลี่ยต่อหัวมากกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 และเป้าหมายมูลค่า GDP 6.2 แสนล้านหยวน และมูลค่า GDP เฉลี่ยต่อหัวมากกว่า 40,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2578 โดยมีภารกิจเป็นฐานการผลิตยาสูบอันดับหนึ่งของจีน ฐานการผลิตยาชีวภาพและวัคซีน รวมถึงฐานการผลิตผัก ผลไม้ และดอกไม้คุณภาพสูง
เมืองฉู่สง ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ของมณฑลยูนนาน ได้รับการกำหนดเป้าหมายมูลค่า GDP 2.5 แสนล้านหยวนในปี 2568 เป้าหมายมูลค่า GDP เฉลี่ยต่อหัว 20,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2573 และเป้าหมายมูลค่า GDP 6 แสนล้านหยวนในปี 2578 โดยมีภารกิจเป็นฐานการผลิต “พลังงานสีเขียว” ได้แก่ เซลล์แสงอาทิตย์ซิลิคอนสีเขียว ไทเทเนียมสีเขียว และวาเนเดียมไทเทเนียมสีเขียว ฐานการผลิตยาแผนจีน แหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ฐานการเกษตร ได้แก่ ผัก ดอกไม้ เห็ด และปศุสัตว์
เขตฯ หงเหอ ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามของมณฑลยูนนาน ได้รับการกำหนดเป้าหมายมูลค่า GDP 4.2 แสนล้านหยวนในปี 2568 และเป้าหมายมูลค่า GDP 1 ล้านล้านหยวนในปี 2578 โดยมีภารกิจตามยุทธศาสตร์ “ไพ่สามใบ” ของมณฑลยูนนาน ได้แก่ อาหารสีเขียว พลังงานสีเขียว และจุดหมายปลายทางรักษ์สุขภาพ ครอบคลุมอุตสาหกรรมข้าว ผัก ผลไม้ ดอกไม้ สมุนไพรจีน ปศุสัตว์ ยาสูบ สารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ ดีบุก อินเดียมดีบุกออกไซด์ การท่องเที่ยว และระเบียงเศรษฐกิจจีน-เวียดนาม
เมืองเป่าซาน ซึ่งเป็นเมืองชายแดนด้านตะวันตกที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของมณฑลยูนนาน ได้รับการกำหนดเป้าหมายมูลค่า GDP 1.6 แสนล้านหยวนในปี 2568 และเป้าหมายมูลค่า GDP 4 แสนล้านหยวนในปี 2578 โดยมีภารกิจเป็นเขตต้นแบบ “ไพ่สามใบ” ของมณฑลยูนนาน รวมทั้งเป็นฐานการผลิตข้าว กาแฟ ชาแดง กล้วยไม้เอื้องสายม่านพระอินทร์ โคเนื้อ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศและสุขภาพ และเซลล์แสงอาทิตย์ซิลิคอน
เขตฯ เหวินซาน ซึ่งเป็นเมืองประวัติศาสตร์เขตปลดแอกเก่าแก่ของมณฑลยูนนาน ได้รับการกำหนดเป้าหมายมูลค่า GDP 2.4 แสนล้านหยวนในปี 2568 และเป้าหมายมูลค่า GDP 5 แสนล้านหยวนในปี 2578 โดยมีภารกิจเป็นเขตต้นแบบ “ไพ่สามใบ” และเขตต้นแบบ “ชายแดนรุ่งเรือง ประชาชนมั่งคั่ง” ของมณฑลยูนนาน รวมทั้งเป็นฐานการผลิตแร่อะลูมิเนียม สมุนไพรซานชี ข้าว ผักอินทรีย์ สมุนไพรจีน พริก โคเนื้อ และการท่องเที่ยว
เมืองผูเอ่อร์ ซึ่งเป็นเมืองเดียวของมณฑลยูนนานที่มีชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมา ลาว และเวียดนาม ได้รับการกำหนดเป้าหมายมูลค่า GDP 1.5 แสนล้านหยวนในปี 2568 และเป้าหมายมูลค่า GDP 3.6 แสนล้านหยวน และมูลค่า GDP เฉลี่ยต่อหัว 20,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2578 โดยมีภารกิจเป็นเขตต้นแบบ “เศรษฐกิจสีเขียว” เป็นฐานการผลิตอาหารสีเขียว ได้แก่ ชาอินทรีย์ กาแฟ โคเนื้อ อ้อย สมุนไพรจีน ผลไม้ และผัก รวมทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศระดับนานาชาติ
เขตฯ สิบสองปันนา ซึ่งเป็นแกนหลักของระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว ได้รับการกำหนดเป้าหมายมูลค่า GDP 1 แสนล้านหยวน และมูลค่า GDP เฉลี่ยต่อหัวมากกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 และเป้าหมายมูลค่า GDP 2.6 แสนล้านหยวนและมูลค่า GDP เฉลี่ยต่อหัว 20,000 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2578 โดยมีภารกิจเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลกที่พึ่งพาและอนุรักษ์ป่าฝนเขตร้อนด้วยนโยบายการพัฒนาสีเขียวคาร์บอนต่ำ เป็นเขตต้นแบบชายแดนที่เปิดกว้าง โดยใช้ประโยชน์จากรถไฟจีน-ลาว ส่งเสริมการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจจีน-ลาว และใช้ประโยชน์จากเขตความร่วมมือเศรษฐกิจจีน (โม่ฮาน)-ลาว (บ่อเต็น) ตลอดจนเขตนำร่องพัฒนาและเปิดสู่ภายนอกอำเภอเหมิ่งล่า (โม่ฮาน) (Mengla (Mohan) Key Development and Opening-up Pilot Zone) ส่งเสริมการค้าชายแดน
เขตฯ เต๋อหง ซึ่งเป็นที่ตั้งของด่านรุ่ยลี่ที่มีมูลค่าการค้าจีน-เมียนมาสูงที่สุด ได้รับการกำหนดเป้าหมายมูลค่า GDP 1 แสนล้านหยวนในปี 2568 และเป้าหมายมูลค่า GDP 2.4 แสนล้านหยวนในปี 2578 โดยมีภารกิจเป็นแกนหลักของระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา เป็นฐานการเกษตรทันสมัย เป็นคลังอาหารในภาคตะวันตกของมณฑลยูนนาน เป็นฐานการผลิตผักในฤดูหนาว-ใบไม้ผลิ อ้อย ไหม และกาแฟ เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชายแดน เมืองการค้าชายแดน และเมืองเกษตรกึ่งเขตร้อน ส่งเสริมการพัฒนาเขตการค้าเสรีนำร่องจีน (มณฑลยูนนาน) พื้นที่ย่อยเต๋อหง เขตนำร่องพัฒนาและเปิดสู่ภายนอกเมืองรุ่ยลี่ (Ruili Key Development and Opening-up Pilot Zone) และเขตความร่วมมือเศรษฐกิจชายแดนจีน (รุ่ยลี่)-เมียนมา (มูเซ) เพื่อเป็นฮับทางบกของมณฑลยูนนานในการเปิดกว้างสู่พื้นที่มหาสมุทรอินเดีย
เขตฯ นู่เจียง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีแม่น้ำนานาชาติสามสาย (สาละวิน โขง แยงซี) ไหลผ่าน ได้รับการกำหนดเป้าหมายความมั่นคงด้านนิเวศ การพัฒนาเมืองและชนบทรูปแบบใหม่ ความมั่นคงชายแดน และความเป็นเมืองครอบคลุมประชากรที่มีภูมิลำเนาถาวรร้อยละ 60 ในปี 2568 และเป้าหมายมูลค่า GDP เฉลี่ยต่อหัวในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยของทั้งมณฑล ลดช่องว่าการพัฒนาและมาตรฐานการดำรงชีวิตระหว่างเขตเมืองกับชนบท และบรรลุเป้าหมายการสร้าง “สังคมนิยมที่ทันสมัย” พร้อมกันทั่วประเทศจีนในปี 2578 โดยมีภารกิจในการรักษาผลสำเร็จของนโยบายลดความยากจน ป้องกันการกลับไปยากจนซ้ำซ้อน มุ่งเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีเอกลักษณ์ เช่น ปศุสัตว์ภูมิประเทศแบบภูเขา เครื่องเทศสีเขียว อาหารอินทรีย์ รวมทั้ง การท่องเที่ยวภูมิประเทศแบบภูเขา
เมืองหลินชาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของด่านชิงสุ่ยเหอที่มีมูลค่าการค้าชายแดนจีน-เมียนมาสูงที่สุด ได้รับการกำหนดเป้าหมายมูลค่า GDP 1.3 แสนล้านหยวนในปี 2568 และเป้าหมายมูลค่า GDP 3.5 แสนล้านหยวน และมูลค่า GDP เฉลี่ยต่อหัวอยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยของทั้งมณฑลในปี 2578 โดยมีภารกิจในการรักษาผลสำเร็จของนโยบายลดความยากจน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประชากรจำนวนน้อย เพิ่มระดับการส่งเสริมอุตสาหกรรมชา อ้อย ถั่วเปลือกแข็ง โคเนื้อ ไฟฟ้าพลังน้ำ การท่องเที่ยวในลุ่มแม่น้ำล้านช้างตอนใต้ และพลังงาน รวมทั้งการพัฒนาเส้นทางการขนส่งหลากรูปแบบทางทะเล-ถนน-รางในพื้นที่ยูนนาน-เมียนมา-มหาสมุทรอินเดีย
เมืองจาวทง ซึ่งเป็นประตูของมณฑลยูนนานในการเชื่อมโยงกับมณฑลกุ้ยโจว-เสฉวน-ฉงชิ่ง ได้รับการกำหนดเป้าหมายมูลค่า GDP 2.3 แสนล้านหยวนในปี 2568 และเป้าหมายมูลค่า GDP 5.5 แสนล้านหยวนในปี 2578 โดยมีภารกิจเป็นเขตต้นแบบการลดความยากจน สร้างความมั่งคั่ง สร้างพื้นที่พัฒนาใหม่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลยูนนานเร่งพัฒนาฐานการเกษตรอินทรีย์สีเขียว รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมไฟฟ้า ซิลิคอนสีเขียว และอะลูมิเนียมสีเขียว
เขตฯ ต้าหลี่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและคมนาคมในภาคตะวันตกของมณฑลยูนนาน ได้รับการกำหนดเป้าหมายมูลค่า GDP 2.2 แสนล้านหยวนในปี 2568 และเป้าหมายมูลค่า GDP 6 แสนล้านหยวนในปี 2578 โดยมีภารกิจสร้างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับโลก อุตสาหกรรมอาหารสีเขียวระดับโลก อุตสาหกรรมแร่โลหะรีไซเคิล และอุตสาหกรรมสมุนไพรจีนและยาจีน
เมืองลี่เจียง ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลกของมณฑลยูนนาน ได้รับการกำหนดเป้าหมายมูลค่า GDP 1 แสนล้านหยวนในปี 2568 และเป้าหมายมูลค่า GDP 2 แสนล้านหยวนในปี 2578 โดยมีภารกิจสร้างเมืองท่องเที่ยวและวัฒนธรรมระดับโลกที่ได้มาตรฐานระดับโลก เป็นฐานการผลิตสมุนไพรจีน มันฝรั่ง มะม่วง และปศุสัตว์
เขตฯ ตี๋ชิ่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งของสวรรค์บนดิน “เมืองแชงกรีล่า” ได้รับการกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การปกครองชาติพันธุ์ธิเบต และบรรลุเป้าหมายการสร้าง “สังคมนิยมที่ทันสมัย” พร้อมกันทั่วประเทศจีนในปี 2578 โดยมีภารกิจในการการรักษาผลสำเร็จของนโยบายลดความยากจนและพัฒนาชนบท ผ่านการส่งเสริมอุตสาหกรรม การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ และการช่วยเหลือจ้างงาน เป็นฐานการผลิตสินค้าอินทรีย์สีเขียว ส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ที่มา: https://mp.weixin.qq.com/s/E4a3Aq6J586974ae2HZuDA