เมื่อเดือนตุลาคม 2559 คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติและสำนักงานการบินพลเรือนของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้อนุมัติให้เขตสาธิตเศรษฐกิจท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่ง ท่าอากาศยานนานาชาติเมืองชิงต่าว และท่าอากาศยานนานาชาตินครฉงชิ่งเป็นเขตสาธิตเศรษฐกิจท่าอากาศยานแห่งชาติชุดแรกของประเทศ โดยในส่วนของนครฉงชิ่ง มีการประกาศ “แผนรวมการก่อสร้างเขตสาธิตเศรษฐกิจท่าอากาศยานนานาชาตินครฉงชิ่ง” เพื่อพัฒนาเขตสาธิตฯ บนพื้นที่รวม 147.48 ตารางกิโลเมตร
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปนครฉงชิ่งเปิดเผยว่า ผลผลิตทางเศรษฐกิจทั้งหมดของเขตสาธิตเศรษฐกิจท่าอากาศยานนานาชาตินครฉงชิ่งเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว โดยเมื่อปี 2563 เขตสาธิตฯ มีผลผลิตภัณฑ์มวลรวม 6.85 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของปี 2559 สัดส่วนของอุตสาหกรรมสนามบินคิดเป็นร้อยละ 41.6
นายจู เจียง รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปนครฉงชิ่งเปิดเผยว่า ภายใต้การขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจท่าอากาศยานฯ เมื่อปี 2563 มีการลงทุนสินทรัพย์ถาวรมูลค่ากว่า 7.24 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.7 และอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 อยู่ที่ร้อยละ 16.9 มูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 21.9 ของมูลค่าส่งออกอุตสาหกรรม ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนด และเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ถึงร้อยละ 17.6 ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจท่าอากาศยานคุณภาพสูง
เมื่อปี 2563 ท่าอากาศยานนานาชาติเจียงเป่ยเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนเขตสาธิตฯ โดยมีปริมาณการขนส่งสินค้ารวม 411,000 ตัน และเป็นการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ 134,000 ตัน เป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคจีนตะวันตก จำนวนเส้นทางการขนส่งภายในประเทศและระหว่างประเทศมีจำนวนรวม 372 เส้นทาง (เพิ่มขึ้น 114 เส้นทางเมื่อเทียบกับเมื่อปี 2559) มีเส้นทางระหว่างประเทศอยู่ 101 เส้นทาง (เพิ่มขึ้นจากปี 2559 รวม 42 เส้นทาง) ในจำนวนนี้เป็นเส้นทางบนพื้นที่ภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางรวม 68 เส้นทาง
นายจูฯ ระบุว่า นักลงทุนด้านโลจิสติกส์ 5 อันดับแรกของโลกและบริษัทขนส่ง 91 แห่งได้เข้าลงทุนในเขตสาธิตฯ ปัจจุบัน เขตสาธิตฯ กำลังผลักดันการสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเทอร์มินัลอัจฉริยะและคลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์อย่างเต็มที่
ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2564-2568) เขตสาธิตฯ จะผลักดันความก้าวหน้าด้านนวัตกรรม การค้าระหว่างประเทศ และรูปแบบห่วงโซ่อุตสาหกรรม เพื่อนำไปสู่การเปิดกว้างและสะดวกต่อการใช้งาน รวมถึงการสร้างศูนย์กลางการบินระหว่างประเทศแบบคู่ขนานตามรูปแบบนวัตกรรม ‘กองบินฐานหลัก+ขยายธุรกิจการขนส่ง’ ยกระดับเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เร่งสร้างเขตมหานครท่าอากาศยานนานาชาติคาร์บอนต่ำ พัฒนาอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงกลยุทธ์อย่างจริงจังโดยเน้นที่เทอร์มินัลอัจฉริยะ ชิ้นส่วนรถยนต์ ข้อมูลซอฟต์แวร์ วงจรรวม ฯลฯ
เมื่อพิจารณาจากการเติบโตของเขตสาธิตเศรษฐกิจท่าอากาศยานนานาชาตินครฉงชิ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเส้นทางขนส่งทางอากาศที่มีมากกว่า 372 เส้นทาง เขตสาธิตเศรษฐกิจท่าอากาศยานนานาชาตินครฉงชิ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยที่มีการขนส่งสินค้าทางอากาศมายังประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกมายังจีนโดยตรง หรือการใช้จีนเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายเพื่อขนส่งไปยังประเทศที่สาม อย่างไรก็ดี แม้การขนส่งทางอากาศจะมีข้อดีที่สามารถลดระยะเวลาขนส่งได้มากเมื่อเทียบกับการขนส่งทางบกหรือทางเรือ แต่ความรวดเร็วดังกล่าวก็มาพร้อมกับต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้ประกอบการไทยจึงควรพิจารณาเลือกรูปแบบการขนส่งที่เหมาะสมกับประเภทสินค้าและสถานการณ์
แหล่งอ้างอิง (ข้อมูล)
- http://cq.news.cn/2021-12/01/c_1128120902.htm
- http://www.cq.gov.cn/hdjl/xwfbh/detail.html?siteId=589&interviewId=1774
- http://m.news.cn/cq/2021-12/02/c_1128122154.htm
- https://zh.wikipedia.org/wiki/%E5%9B%BD%E5%AE%B6%E7%BA%A7%E4%B8%B4%E7%A9%BA%E7%BB%8F%E6%B5%8E%E7%A4%BA%E8%8C%83%E5%8C%BA
- https://baike.baidu.com/item/%E9%87%8D%E5%BA%86%E4%B8%B4%E7%A9%BA%E7%BB%8F%E6%B5%8E%E7%A4%BA%E8%8C%83%E5%8C%BA/52711926
แหล่งอ้างอิง (ภาพ)