ปัจจุบัน จีนให้ความสำคัญกับการจัดการขยะในครัวเรือน โดยมีการประกาศใช้กฎหมายแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการป้องกันและควบคุมมลพิษจากขยะมูลฝอยและข้อกำหนดการจัดการเมืองและการจัดการสุขาภิบาล แต่ละเมืองต่างออกระเบียบส่งเสริมการจัดการขยะในครัวเรือนแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมในเมืองและในชนบท รักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน
ในส่วนของนครฉงชิ่ง เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการสภาประชาชนนครฉงชิ่งสมัยที่ 5 ครั้งที่ 29 ได้ออก “ข้อกำหนดว่าด้วยการจัดการขยะในครัวเรือนนครฉงชิ่ง” ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มีนาคม 2565 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมเทคโนโลยีในด้านการจัดการขยะในครัวเรือน และเก็บค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการขยะตามปริมาณขยะ
ที่ผ่านมา นครฉงชิ่งให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการขยะ โดยรณรงค์ให้แยกขยะตามประเภท และปรับปรุงบริการสาธารณะด้านการบริหารจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสนับสนุนอุตสาหกรรมการแปรรูปและกำจัดขยะจากเศษอาหารแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 2557
เมื่อปี 2561 เขตฝูหลิงในนครฉงชิ่งได้สร้างโรงงานแปรรูปขยะจากเศษอาหารแห่งแรกบนพื้นที่ประมาณ 2,315.72 ตารางเมตร โรงงานแห่งนี้สามารถแปรรูปขยะสูงสุด 150 ตันต่อวัน มีรถรวบรวมขยะจากเศษอาหาร 17 คัน มีถังเก็บขยะ 6,604 ใบ มีเจ้าหน้าที่ 52 คน เก็บรวบรวมขยะจากหน่วยงานภาครัฐ โรงเรียน และร้านอาหารในเขตฝูหลิงรวม 3,884 แห่ง
การดำเนินงานจัดเก็บและขนส่งขยะไปยังโรงงานแปรรูปได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวดทุกขั้นตอน มีการขนส่งขยะตรงเวลาทุกวัน มีระบบป้องกันการปนเปื้อนระหว่างการขนส่ง รถเก็บขยะทุกคันได้รับการติดตั้ง GPS เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเดินทางรวมถึงจำกัดความเร็วของรถ
เมื่อโรงงานแปรรูปฯ ได้รับขยะแล้วก็จะทำการปรับสภาพขยะและหมักขยะแบบไม่ใช้ออกซิเจน โดยสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ปีละ 1.70 ล้านลูกบาศก์เมตร และไบโอดีเซลได้ปีละ 1,300 ตัน ปี 2561 -ปัจจุบัน การแปรรูปขยะจากเศษอาหารสามารถสร้างรายได้ให้เขตฯ รวม 23 ล้านหยวน และในปี 2564 สามารถลดขยะจากเศษอาหารที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในเขตฯ เฉลี่ยวันละ 102 ตัน
โรงงานแปรรูปขยะฯ เขตฝูหลิงเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาแก้ไขปัญหาการจัดการขยะ และสร้างรายได้จากการแปรรูปขยะ รวมถึงการนำขยะมาผลิตพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับ “BCG Model” ของไทย โดยเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมพร้อมกัน 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่นำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน ในการนี้ ผู้ประกอบการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยอาจนำแนวทางการแปรรูปขยะจากเศษอาหารแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของเขตฝูหลิงมาปรับใช้ เพื่อทำให้เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : เว็บไซต์ cq.news (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564)
http://cq.news.cn/2021-12/16/c_1128168643.htm
เว็บไซต์ ifeng.com (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564)
https://i.ifeng.com/c/8Bg324JmP2t