เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 กรมศุลกากรนครฉงชิ่งเปิดเผยว่า ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2564 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของนครฉงชิ่งอยู่ที่ 720,490 ล้านหยวน สูงกว่ามูลค่ารวมทั้งปีของปี 2563 จำนวน 69,150 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563
มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 463,110 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.9 มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 257,380 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ในเดือนพฤศจิกายน 2564 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของนครฉงชิ่งอยู่ที่ 76,950 ล้านหยวน เป็นสถิติรายเดือนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์
ในช่วงเวลาดังกล่าว การค้าระหว่างนครฉงชิ่งและอาเซียนมีมูลค่า 114,230 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 โดยอาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของนครฉงชิ่งต่อเนื่อง 2 ปี
สินค้าส่งออกไปยังอาเซียน ได้แก่ รถจักรยานยนต์ รถยนต์ ของใช้ประจำวัน ของตกแต่งช่วงเทศกาลตรุษจีน มะนาว ฯลฯ สินค้านำเข้าจากอาเซียน ได้แก่ แร่ ยางพารา ข้าว ฯลฯ
ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 – ปัจจุบัน จำนวนรอบขนส่งไปยังต่างประเทศของขบวนรถไฟราง+เรือระหว่างประเทศ (ILSTC) ของนครฉงชิ่งทำสถิติขนส่งแล้วเกือบ 2,000 ขบวน คาดว่าปีนี้จะสามารถทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เส้นทาง ILSTC ได้กลายเป็นเส้นทางการขนส่งสำคัญของการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างนครฉงชิ่งและอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดเส้นทางรถไฟจีน-ลาวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ทำให้การค้าระหว่างฉงชิ่งและอาเซียนพัฒนาไปอย่างรวดเร็วขึ้น
ข้อมูลสถิติข้างต้นแสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและนโยบายการเปิดกว้างในการทำการค้าระหว่างนครฉงชิ่งกับต่างประเทศ รวมถึงศักยภาพของเส้นทาง ILSTC ซึ่งช่วยยกระดับประสิทธิภาพการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ระหว่างอาเซียนและจีน ในส่วนของผู้ประกอบการไทย ข้าวหอมมะลิไทยถือเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมและการยอมรับจากผู้บริโภคชาวจีน โดยเฉพาะชาวนครฉงชิ่งซึ่งประชาชนนิยมบริโภคสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ จึงเป็นตลาดที่น่าสนใจ รวมถึงอาจเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการส่งออกยางพาราไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าและแก้ไขปัญหาราคายางพาราในไทยตกต่ำ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่านครฉงชิ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง และยังเป็นฐานการผลิตรถยนต์ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของจีน ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของนครฉงชิ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดด นับเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีน โดยเฉพาะภูมิภาคตะวันตกของจีน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง: เว็บไซต์ baijiahao.baidu (เข้าถึงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564)
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1719400769428043920&wfr=spider&for=pc