เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศมณฑลหูหนานเปิดเผยศักยภาพอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าของมณฑลในปี 2564 ซึ่งมีมูลค่ารวมของอุตสาหกรรม 91,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30
ทั้งนี้ ในปี 2564 มณฑลหูหนานได้เร่งสร้างระบบอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าที่ทันสมัยและเปิดตัวศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลบิ๊กดาต้ามณฑลหูหนาน (Hunan Big Data Exchange: HBDE) ที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจเทียนซิน นครฉางซา ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ข้อมูลเพื่อการซื้อขาย 103 ชนิด และให้บริการหลากหลายสาขา เช่น การเงิน ประกันภัย โลจิสติกส์ และข้อมูลภูมิศาสตร์ นอกจากนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 สำนักงานบริหารทรัพยากรข้อมูลนครฉางซายังได้ร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมคลาวด์คอมพิวติ้งและบิ๊กดาต้าเจิ้งทงนครฉางซา (Changsha Zhengtong Cloud Computing and Big Data Industrial Park) และบริษัทหัวเหวย (Huawei) จัดตั้งห้องปฏิบัติการระบบคลาวด์ให้กับรัฐบาลนครฉางซา (Government Cloud) เพื่อสนับสนุนให้นครฉางซากลายเป็นเมืองต้นแบบ “เมืองอัจฉิรยะรูปแบบใหม่” ตามเป้าหมายที่รัฐบาลได้วางไว้ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 14 (2564-2568)
ขณะเดียวกัน ศูนย์บิ๊กดาต้าได้กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่สำคัญของมณฑลหูหนาน โดยเป็นแหล่งสนับสนุนพลังการประมวลผลเพื่อยกระดับความเป็นดิจิทัลให้กับธุรกิจหลายแห่งของมณฑล รวมถึงมีการประยุกต์ใช้บิ๊กดาต้าในหลายวงการมากขึ้น เช่น การแพทย์ พลังงาน และการเกษตร ปัจจุบัน หูหนานมีศูนย์บิ๊กดาต้าที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และอยู่ระหว่างการก่อสร้างรวม 47 แห่ง ในจำนวนนี้ เป็นศูนย์บิ๊กดาต้าขนาดใหญ่ 12 แห่ง เช่น ศูนย์บิ๊กดาต้าหยุนกู่ และศูนย์บิ๊กดาต้าตงเจียงหู ซึ่งศูนย์บิ๊กดาต้าทั้งสองแห่งได้รับอนุมัติให้เป็น “ศูนย์บิ๊กดาต้าสีเขียว (Green Data Center) แห่งชาติ” ของจีนอีกด้วย
สำหรับก้าวต่อไป มณฑลหูหนานได้วางแผนพัฒนาบิ๊กดาต้าใน 7 ด้าน ได้แก่
- ส่งเสริมการสร้างระบบศูนย์บิ๊กดาต้าแบบบูรณาการ รวมถึงการสร้างศูนย์บิ๊กดาต้าอินเทอร์เน็ตภาคอุตสาหกรรมแห่งชาติประจำมณฑลหูหนาน เพื่อรวบรวมและแบ่งปันข้อมูลด้านอุตสาหกรรม
- ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบเครือข่ายการสื่อสาร ทั้งระบบเครือข่าย 5G เครือข่ายอินเทอร์เน็ตภาคอุตสาหกรรม เครือข่ายอินเทอร์เน็ตยานยนต์ (Internet of Vehicles) และโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) เป็นต้น
- สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยและบริษัทดำเนินการสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกัน
- ดำเนินการยกระดับความเป็นดิจิทัลในอุตสาหกรรมการผลิต
- ส่งเสริมการบูรณาการและการประยุกต์ใช้บิ๊กดาต้าในทุกสาขา
- สร้างนิคมอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าระดับมณฑลเพิ่มอีก 12 แห่ง และส่งเสริมการรวมกลุ่มของธุรกิจให้เป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมบิ๊กดาต้า
- ปรับปรุงระบบความปลอดภัยของข้อมูล
ที่มา: http://www.achie.org/news/cygh/2022/0125/13691.html
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู