ไฮไลท์
- “เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง” เป็นมณฑลที่ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ซึ่งเกิดขึ้นจากกระแสการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมจากภาคตะวันออกปัจจุบัน มณฑลแห่งนี้มีพื้นที่ปลูกหม่อนราว 1/4 ของทั้งประเทศ และมีปริมาณการผลิตรังไหมเกือบ 40% ของทั้งโลก โดยแซงหน้าประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตรังไหมอันดับ 2 ของโลกด้วย
- พื้นที่คลัสเตอร์อุตสาหกรรมหม่อนไหมของกว่างซีอยู่ที่ “เมืองเหอฉือ” ปัจจุบัน เมืองแห่งนี้มีห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่ค่อนข้างครบวงจร ตั้งแต่การปลูกหม่อน การเลี้ยงตัวไหม การผลิตรังไหม การสาวไหม การทอผ้าแพรไหม รวมถึงผลพลอยได้จากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมด้วย จนได้รับการขนานนามเป็น “เมืองแห่งการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของจีน”และ “เมืองใหม่แห่งแพรไหมของจีน”
- การที่อุตสาหกรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของกว่างซีเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและเป็น “อุตสาหกรรมต้นน้ำ” ที่เน้นผลิตวัตถุดิบเส้นใยและปั่นด้ายเป็นส่วนใหญ่ จึงเกิด “ช่องว่าง” ทางเทคโนโลยีและการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า เช่น กระบวนการฟอกย้อม การผลิตผ้าทอสำเร็จรูป ตลอดจนการออกแบบตัดเย็บและพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ จากแพรไหม จึงเป็นโอกาสที่ภาคธุรกิจ(ไทย)สามารถเข้ามาเติมเต็มในส่วนของการแปรรูป หรืออุตสาหกรรมกลางน้ำและอุตสาหกรรมปลายน้ำได้
- ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงและมีศักยภาพด้านผ้าไหม โดยหน่วยงานภาครัฐ/ภาคเอกชนสามารถพัฒนาความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกับเขตฯ กว่างซีจ้วง หรือเข้ามาขยายธุรกิจเกี่ยวกับแพรไหม โดยใช้จุดแข็งด้านทรัพยากรในท้องถิ่นของกว่างซี สอดผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความหลาหลายของไทย ทั้งในธุรกิจสายตรงอย่างสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม และธุรกิจสกินแคร์อย่างสารสกัดจากรังไหม มาร์สใยไหม ซึ่งเป็นที่นิยมและทำเงินได้มากในตลาดจีน
พื้นที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่สำคัญของจีนอยู่ทางภูมิภาคตะวันตกของประเทศ โดย “เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง” เป็นแหล่งปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจีน (ตามด้วยมณฑลเสฉวนและมณฑลยูนนาน) และอุตสาหกรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็น 1 ในอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จอย่างมากจากกระแสการเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรมจากภาคตะวันออก เนื่องจากต้นทุนแรงงานในภาคตะวันออกของประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรขาดแรงจูงใจในการประกอบอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม
ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้อุตสาหกรรมหม่อนไหมในเขตฯ กว่างซีจ้วงเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากปัจจัยทางกายภาพที่เอื้ออำนวย(ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ)แล้ว การที่รัฐบาลกว่างซีใช้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นเครื่องมือ “แก้จน” เป็นช่องทางการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ชนบท ทำให้เกษตรกรมีอาชีพที่มั่นคง และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงกล่าวได้ว่า การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอุตสาหกรรมเกษตรที่มีความสำคัญของมณฑล รองจากอุตสาหกรรมน้ำตาล
ข้อมูลปี 2564 เขตฯ กว่างซีจ้วง มีพื้นที่ปลูกหม่อน 31.25 ล้านไร่ สัดส่วน 1/4 ของทั้งประเทศ และมีปริมาณการผลิตรังไหม 4.074 แสนตัน สัดส่วน 55% ของทั้งประเทศ และเกือบ 40% ของทั้งโลก (แซงหน้าประเทศผู้ผลิตรังไหมอันดับ 2 ของโลกอย่างอินเดีย) พื้นที่คลัสเตอร์อุตสาหกรรมหม่อนไหมของเขตฯ กว่างซีจ้วงอยู่ในเมืองเหอฉือ (Hechi City/河池市) และเมืองไป่เซ่อ มีวิสาหกิจขนาดใหญ่ระดับมณฑล จำนวน 12 ราย โรงงานแปรรูปแพรไหม 93 ราย สหกรณ์เกษตรและเกษตรครัวเรือน 193 ราย
โดยเฉพาะเมืองเหอฉือถือว่า ‘ยืนหนึ่ง’ ด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของประเทศจีน มีพื้นที่ปลูกหม่อน 3.88 แสนไร่ สัดส่วน 31.23% ของมณฑล และมีปริมาณการผลิตรังไหม 1.39 แสนตัน คิดเป็น 37.13% ของทั้งมณฑล จนได้รับการขนานนามเป็น “เมืองแห่งการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของจีน” และ “เมืองใหม่แห่งแพรไหมของจีน”
เมืองเหอฉือ มีห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่ค่อนข้างครบวงจร ตั้งแต่การปลูกหม่อน การเลี้ยงตัวไหม การผลิตรังไหม การสาวไหม การทอผ้าแพรไหม รวมถึงผลพลอยได้จากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมด้วย อาทิ การเพาะเห็ดจากกิ่งหม่อน การผลิตไฟฟ้าด้วยการเผากิ่งหม่อน การผลิตปุ๋ยจากมูลไหมซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจให้สูงขึ้นอีกด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้ บนเว็บไซต์กระทรวงเกษตรและชนบทแห่งชาติจีน ได้ประกาศรายชื่อโครงการพัฒนาแบบผสมผสานระหว่างภาคการเกษตรกับอุตสาหกรรม ประจำปี 2565 โดยคลัสเตอร์อุตสาหกรรมหม่อนไหมเป็น 1 ใน 2 คลัสเตอร์ที่ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงฯ ให้เข้าไปอยู่ในบัญชีรายชื่อคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่มีอัตลักษณ์ ประจำปีนี้ด้วย (อีกคลัสเตอร์ คือ อ้อยที่ใช้ผลิตน้ำตาล) โดย “เมืองเหอฉือ” เป็นพื้นที่หลักของการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมหม่อนไหม โดยส่วนกลางจะจัดสรรเงินงบประมาณสนับสนุนมากกว่า 140 ล้านหยวนตลอดระยะเวลา 3 ปีจากนี้
ตามรายงาน คลัสเตอร์อุตสาหกรรมหม่อนไหมจะมีภาคเอกชนเป็นผู้เล่นหลัก และมีภาครัฐเป็นกุนซือที่คอยชี้แนะแนวทาง โดยมุ่งผลักดันการพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมหม่อนไหมให้สมบูรณ์แบบ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น (โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขั้นกลาง-ปลายน้ำ) และส่งเสริมการพัฒนาแบบผสมผสานระหว่างการเกษตรกับอุตสาหกรรรม เพื่อให้เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นพื้นที่คลัสเตอร์ห่วงโซ่อุตสาหกรรมหม่อนไหมและแพรไหมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศจีน เป็นพื้นที่นำร่องการพัฒนาอุตสาหกรรมหม่อมไหมสู่ความหลากหลาย พื้นที่สาธิตการปรับปรุงฟื้นฟูระบบนิเวศและดิน
โอกาสการลงทุนอุตสาหกรรมหม่อนไหมในกว่างซี ในภาพรวม อุตสาหกรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของกว่างซีมีโอกาสเติบโตได้ดีแต่การที่อุตสาหกรรมปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของกว่างซีเป็น “อุตสาหกรรมต้นน้ำ” ที่เน้นผลิตวัตถุดิบเส้นใยและปั่นด้ายโดยมากจึงเกิด “ช่องว่าง” ทางเทคโนโลยีและการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า เช่น กระบวนการฟอกย้อม การผลิตผ้าทอสำเร็จรูป ตลอดจนการออกแบบตัดเย็บและพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ จากแพรไหม จึงเป็นโอกาสที่ภาคธุรกิจ(ไทย)สามารถเข้ามาเติมเต็มในส่วนของการแปรรูป หรืออุตสาหกรรมกลางน้ำและอุตสาหกรรมปลายน้ำได้
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงและมีศักยภาพด้านผ้าไหม โดยหน่วยงานภาครัฐ/ภาคเอกชนสามารถพัฒนาความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกับเขตฯ กว่างซีจ้วง หรือเข้ามาขยายธุรกิจเกี่ยวกับแพรไหม โดยใช้จุดแข็งด้านทรัพยากรในท้องถิ่นของกว่างซี สอดผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายของไทย ทั้งในธุรกิจสายตรงอย่างสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม และธุรกิจที่เกี่ยวข้องทางอ้อม โดยเฉพาะกลุ่มสกินแครอย่างสารสกัดจากรังไหม มาร์สใยไหม ซึ่งเป็นที่นิยมและทำเงินได้มากในตลาดจีน
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา หนังสือกว่างซี เดลี (广西日报) วันที่ 11 เมษายน 2565