ทุกวันนี้ โลกของเราก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในแวดวงธุรกิจที่หลายคนคงอาจเคยได้ยินคำว่า ‘Digital Transformation’ โดยจีนแผ่นดินใหญ่เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญของประเทศที่มีความก้าวล้ำในการส่งเสริมและนำเทคโนโลยีเข้าไปเป็นปัจจัยหลักเพื่อขับเคลื่อนความก้าวหน้าและสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศ ผ่านกระบวนการ Digitization และ Digitalizationรวมทั้งหลุดพ้นจากกับดัก Digital Disruption และสงครามเทคโนโลยี
ความตื่นตัวที่มีต่อกระแส Digital Transformation ในจีน ทำให้รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นทยอยคลอดนโยบายการสนับสนุนความเป็นดิจิทัลของมณฑล รวมถึงเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง
ในบริบทของความใกล้ชิดกับอาเซียนและบทบาทการเป็น Gateway to ASEAN ของจีน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้ตีโจทย์การพัฒนาสู่ความเป็นดิจิทัลผ่านยุทธศาสตร์ ‘เส้นทางสายไหมดิจิทัล’ หรือ Digital Silk Road (DSR) ที่มุ่งสู่อาเซียน เป็นหนึ่งในปฏิบัติการ ‘Mission Possible’ ที่รัฐบาลกลางให้กับเขตฯ กว่างซีจ้วง
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้น รัฐบาลกว่างซีได้ประกาศนโยบาย Digital Guangxi เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนและยกระดับเศรษฐกิจและสังคมเชิงคุณภาพของกว่างซี มุ่งสร้างระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Ecosystem) ที่มีศักยภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลกับอาเซียน
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลกว่างซีได้ประกาศจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะให้การสนับสนุนการจัดตั้งพื้นที่เขตนำร่องเศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการสร้างสรรค์ด้านดิจิทัล รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาการเงินดิจิทัลและการค้าบริการด้านเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย
นอกจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศจีน-อาเซียน หรือ China-ASEAN Information Harbor – CAIH ซึ่งเป็นโปรเจกต์นำร่องสำคัญ (Key project) ที่ได้รับนโยบายจากรัฐบาลกลางให้เป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างจีนกับอาเซียนแล้ว รัฐบาลกว่างซีกำลังเร่งพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อรอบรับอีกหลายโครงการ เช่น ศูนย์การค้าดิจิทัลจีน-อาเซียน (China-ASEAN Digital Trade Center/中国-东盟数字贸易中心) ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศจีน-อาเซียน (China-ASEAN Information Harbor Research & Development Center/中国—东盟信息港小镇(研发中心) และนิคมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลจีน-อาเซียนด้วย
ล่าสุด รัฐบาลกว่างซี โดยสำนักพัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (Guangxi Big Data Development Bureau/广西壮族自治区大数据发展局) ได้ประกาศ “ข้อคิดเห็นว่าด้วยมาตรการสนับสนุนการก่อสร้างดิจิทัลที่มุ่งสู่อาเซียน” (Digital Construction) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของมณฑลกับประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2565 (วันประกาศ) ไปจนถึงสิ้นปี 2569 โดยมีสิทธิและประโยชน์ที่น่าสนใจดังนี้
1. โครงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ อาทิ อินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (Internet of things: IoT) ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) คลาวด์คอมพิวติ้ง เทคโนโลยี 5G ปัญญาประดิษฐ์ (AI) แฝดดิจิทัล (Digital Twin) บล็อกเชน (Block chain) ที่ได้รับการรับรองให้เป็นต้นแบบโครงการความร่วมมือด้านดิจิทัลระดับมณฑลที่มุ่งสู่อาเซียน จะได้รับเงินสนับสนุนปีละ 200,000 – 500,000 หยวน โดยในแต่ละปีจะมีผู้ได้รับคัดเลือกไม่เกิน 30 ราย
2. บริษัทหรือองค์กรที่ลงทุนก่อสร้างและดำเนินธุรกิจในเขตนิคมเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital economy) ที่เปิดดำเนินธุรกิจกับอาเซียน โดยกิจการ (entity) เป็นอุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัล
- ในกรณีที่มีธุรกิจที่เข้าจัดตั้งกิจการและมีการดำเนินธุรกิจจริงในเขตนิคมเศรษฐกิจดิจิทัลเกิน 30 ราย แต่ละปีได้รับคัดเลือกไม่เกิน 8 ราย แต่ละรายจะได้รับเงินสนับสนุน 500,000 หยวน
- ในกรณีที่มีธุรกิจที่เข้าจัดตั้งกิจการและมีการดำเนินธุรกิจจริงในเขตนิคมเศรษฐกิจดิจิทัลเกิน 50 ราย แต่ละปีได้รับคัดเลือกไม่เกิน 5 ราย แต่ละรายจะได้รับเงินสนับสนุน 800,000 หยวน
- ในกรณีที่มีธุรกิจที่เข้าจัดตั้งกิจการและมีการดำเนินธุรกิจจริงในเขตนิคมเศรษฐกิจดิจิทัลเกิน 100 ราย แต่ละปีได้รับคัดเลือกไม่เกิน 3 ราย แต่ละรายจะได้รับเงินสนับสนุน 1,000,000 หยวน
3. ธุรกิจประเภท Digital economy ที่ดำเนินงานบริการที่มุ่งสู่อาเซียน
- ในกรณีที่มีรายได้ผลประกอบการรายปีทะลุ 100 ล้านหยวนเป็นครั้งแรก จะได้รับเงินสนับสนุน 500,000 หยวน
- ในกรณีที่มีรายได้ผลประกอบการรายปีทะลุ 500 ล้านหยวนเป็นครั้งแรก จะได้รับเงินสนับสนุน 800,000 หยวน
- ในกรณีที่มีรายได้ผลประกอบการรายปีเกินกว่า 1,000 ล้านหยวนเป็นครั้งแรก จะได้รับเงินสนับสนุน 1,000,000 หยวน โดยจะจ่ายชำระในงวดเดียว
4. แพลตฟอร์มสาธารณะ ห้องปฏิบัติการ ศูนย์นวัตกรรม องค์กรด้านการวิจัยและพัฒนา ที่สนับสนุนงานบริการเชิงเทคนิคในสายธุรกิจ Digital economy ที่มุ่งสู่อาเซียน และได้รับการรับรองให้เป็นแพลตฟอร์มบริการเชิงสาธิตระดับมณฑล ได้รับคัดเลือกไม่เกิน 10 ราย แต่ละรายจะได้รับเงินสนับสนุนปีละ 200,000 – 500,000 หยวน
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทที่มีนวัตกรรมขั้นสูงในประเทศจีนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก อาทิ Alibaba, Tencent, Huawei, Baidu, Xiaomi, BYD รวมถึงสตาร์ทอัปละมั่ง (มีมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังไม่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์) และสตาร์ทอัปยูนิคอร์น (มีมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว) ชั้นนำอีกไม่น้อย บริษัทเหล่านี้กำลังสร้างอุตสาหกรรมดิจิทัลที่หลากหลาย ทั้งการประยุกต์เทคโนโลยีของโลกตะวันตกไปสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพเหมาะสม ราคาประหยัด และเข้ากับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของจีน ทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ในวงกว้าง
โดยเฉพาะในรายของสตาร์ทอัปละมั่ง สตาร์ทอัปยูนิคอร์น และบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ในประเทศจีน มีการลงทุน/ระดมทุนเป็นจำนวนมากผ่าน Venture Capital จากนักลงทุนรายใหญ่เพื่อสร้างระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัลให้สามารถเติบโตได้แบบทวีคูณ โดยการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจสตาร์ทอัปด้านดิจิทัลในจีน นอกจากจะได้รับการสนับสนุนด้านเงินลงทุนจากบริษัทขนาดใหญ่แล้ว ยังได้รับแรงหนุนจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับบริษัทผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ ที่ให้การสนับสนุนในการนำไอเดียของสตาร์ทอัปไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์
บีไอซี เห็นว่า การขับเคลื่อนนโยบาย Digital Guangxi กับการส่งเสริมการ ‘ก้าวออกไป’ ของธุรกิจด้านดิจิทัลของกว่างซีเพื่อไปแสวงหาความร่วมมือกับอาเซียน เป็นโอกาสของสตาร์ทอัปไทยที่จะร่วมพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างสองฝ่าย ซึ่งจะแรงขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเร่งฝีก้าวสู่เป้าหมายนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ตลอดจนกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยจากการปรับใช้เทคโนโลยีสำคัญ (core technology) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต คุณภาพสินค้า และการสร้างสรรค์นวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมหลัก ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยี ส่งเสริมความหลากหลายทางเทคโนโลยีแก่ภาคธุรกิจ สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ภาคธุรกิจในยุคหลังโควิด-19 และสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ในภาคธุรกิจที่สำคัญ (key sector) ทั้งภาคการเกษตร การผลิต และการบริการ
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 26 เมษายน 2565
เว็บไซต์ http://dsjfzj.gxzf.gov.cn (广西壮族自治区大数据发展局)