เศรษฐกิจดิจิทัลของมณฑลกุ้ยโจวเริ่มต้นปี 65 อย่างแข็งแกร่ง – thaibizchina

สำนักงานพัฒนาและบริหารบิ๊กดาต้ามณฑลกุ้ยโจวเปิดเผยถึงพัฒนาการของเศรษฐกิจดิจิทัลของมณฑลในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ซึ่งยังคงเติบโตด้วยดี โดยมีจุดเด่น 4 ด้าน ได้แก่

  1. ธุรกิจให้บริการซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีสารสนเทศของมณฑลเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย (1) อัตราการขยายตัวของธุรกิจให้บริการซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีสารสนเทศของมณฑลครองอันดับหนึ่งในจีนติดต่อกัน 8 เดือน ระหว่างเดือนสิงหาคม 2564 จนถึงเดือนมีนาคม 2565 และอัตราการขยายตัวยังเกินกว่าเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 25 (2) รายได้ของธุรกิจซอฟต์แวร์ติดอันดับที่ 15 ของประเทศ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ และ (3) กำไรรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.9
  2. ธุรกิจขนาดใหญ่มีทิศทางการเติบโตที่ดี ปัจจุบัน มณฑลกุ้ยโจวมีธุรกิจให้บริการซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ 241 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงสิ้นปี 2564 จำนวน 13 ราย โดยในจำนวน 241 รายนี้ บริษัทหัวเหวย คลาวด์ (Huawei Cloud) ซึ่งมีศูนย์บิ๊กดาต้าตั้งอยู่ในเขตเมืองใหม่กุ้ยอัน ครองแชมป์รายได้สูงสุด ส่วนบริษัทที่มีรายได้มากกว่าร้อยล้านหยวนมีจำนวน 16 บริษัท เช่น บริษัท Guizhou-Cloud Big Data Industry Development และบริษัท Aipo Cloud (Guizhou) Technology ส่วนบริษัทที่มีอัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 50 มีจำนวนถึง 64 บริษัท นอกจากนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ศูนย์บิ๊กดาต้าของไชน่ายูนิคอม (China Unicom) และสวนข้อมูลและคลาวด์คอมพิวติ้งของไชน่าเทเลคอม (China Telecom) ได้รับคัดเลือกเป็นต้นแบบศูนย์ข้อมูลรูปแบบใหม่ระดับประเทศประจำปี 2564 จากกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีน
  3. โครงการขนาดใหญ่เร่งขยายการลงทุน โดยโครงการเมืองนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบิ๊กดาต้านครกุ้ยหยาง (Guiyang Big Data Sci-Tech Innovation City) ซึ่งตั้งอยู่ที่เขตเมืองใหม่กุ้ยอัน ได้รับอนุมัติการก่อสร้างจากรัฐบาลมณฑลกุ้ยโจวเมื่อเดือนธันวาคม 2564 มีขนาดพื้นที่ตามแผนที่วางไว้ประมาณ 54 ตารางกิโลเมตร โดยในระยะแรกจะใช้พื้นที่ 11.9 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบัน มีบริษัทด้านบิ๊กดาต้าเข้าไปลงทุนแล้ว 100 ราย และโครงการขนาดใหญ่ 8 โครงการได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 6,500 ล้านหยวน
  4. การเพิ่มขีดความสามารถในการบูรณาการ เช่น (1) มีจำนวนผู้ประกอบการเข้าร่วม “โครงการผนวกดิจิทัลเข้ากับการดำเนินงานของธุรกิจ” เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและบรรลุเป้าหมายในช่วงไตรมาสแรกที่ตั้งไว้ (2) เมื่อเดือนมีนาคม 2565 “แนวทางการจัดการห่วงโซ่อุปทานให้มีความเป็นดิจิทัล” ได้รับการเผยแพร่อย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นมาตรฐานท้องถิ่นฉบับแรกของมณฑลกุ้ยโจวในด้านซัพพลายเชนดิจิทัล (3) ดำเนินโครงการสมาร์ทซิตี้ด้วยการสร้าง “ชุมชนปลอดภัยอัจฉริยะ” มากกว่า 3,200 แห่ง รวมถึงเปิดให้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตแนวใหม่ เช่น เหอหม่า เฟรช (Hema Fresh) และอิวหมี่โกว (Umigo) กว่า 60 แห่ง (4) แอปพลิเคชัน “อีหม่ากุ้ยโจว” (一码贵州) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าออนไลน์ภายใต้การนำของกรมพาณิชย์มณฑลกุ้ยโจวและสำนักงานบริหารการพัฒนาบิ๊กดาต้ามณฑลกุ้ยโจว เปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ปัจจุบัน มีผู้จำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์ม 38,000 ราย ผลิตภัณฑ์กว่า 113,000 รายการ และสร้างรายได้ 17,270 ล้านหยวน ส่วนแอปพลิเคชัน “อีหม่าโหยวกุ้ยโจว” (一码游贵州) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการออนไลน์ด้านการท่องเที่ยวครบวงจรของมณฑลทีนักท่องเที่ยวสามารถค้นหาข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว จองที่พัก ร้านอาหาร และวางแผนการเดินทาง เปิดใช้ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ปัจจุบัน มีผู้ดาวน์โหลดใช้งาน 25.39 ล้านคน และผู้เข้ามาใช้งานสะสม 350 ล้านคน/ครั้ง

ที่มา: https://www.sohu.com/a/541930917_115239

จีน กุ้ยโจว เศรษฐกิจดิจิทัล

webmaster

เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู

ที่มา : https://thaibizchina.com/

อัพเดทล่าสุด

Facebook

ติดตามเราบน Facebook

Youtube

ติดตามเราบน Youtube

ฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 21 ถนนกวงหวา เขตฉาวหยาง กรุงปักกิ่ง 100600 สาธารณรัฐประชาชนจีน อีเมล : [email protected]

© 2020-2024 Science and Technology Section, Royal Thai Embassy in Beijing Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation, 21 Guanghua Road, Chaoyang District, Beijing 100600 P.R.C. E-mail: [email protected]