ภาพรวม
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของจีนเติบโตร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอัตรการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในช่วงไตรมาสที่ 2/2565 อยู่ที่ร้อยละ 0.4 ลดลงจากระดับร้อยละ 4.8 ในช่วงไตรมาสที่ 1/2565 และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2563 โดยมีสถานการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยหลัก ทั้งนี้ หากวิเคราะห์เป็นรายเดือนจะสังเกตได้ว่า เมื่อเดือน เม.ย. 2565 ตัวชี้วัดหลักของเศรษฐกิจจีนประสบภาวะหดตัว เมื่อเดือน พ.ค. 2565 มีแนวโน้มการหดตัวลดน้อยลง และเมื่อเดือน มิ.ย. 2565 มีอัตราการเติบโตเป็นบวกอีกครั้ง
ภาวะเศรษฐกิจในมณฑลต่าง ๆ
จากข้อมูลสถิติของ 31 มณฑล/มหานคร/เขตปกครองตนเองในช่วงไตรมาสที่ 2/2565 พบว่า
(1) GDP ของมหานคร/มณฑล 5 แห่งมีการขยายตัวที่ติดลบ ได้แก่ นครเซี่ยงไฮ้ (-13.7%) มณฑลจี๋หลิน (-4.5%) กรุงปักกิ่ง (-2.9%) มณฑลไห่หนาน (-2.5%) และมณฑลเจียงซู (-1.1%) ซึ่งล้วนเป็นมหานคร/มณฑลที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด-19
(2) เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุยมีอัตราการเติบโตของ GDP สูงสุด (+5.3%)
(3) มณฑลซานซี เขตปกครองตนเองมองโกเลียในและมณฑลส่านซีมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าร้อยละ 3 อันเป็นผลจากการเป็นพื้นที่ผลิตพลังงานที่สำคัญ โดยเฉพาะถ่านหิน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก นยบ. การรักษาเสถียรภาพด้านพลังงานของจีน
คาดการณ์เศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 และตลอดทั้งปี 2565
เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 65 นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนกล่าวว่า จีนได้ดำเนินการตามมาตรการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจจีน 33 ประการเป็นเวลา 1 เดือนแล้ว ซึ่งจีนจะดำเนินการต่อไปและให้มีผลในการสนับสนุนเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 3 – 4/2565 จะมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปี 2563 สืบเนื่องจากเศรษฐกิจจีนในปัจจุบันขาดแรงสนับสนุนที่สำคัญใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ การเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจการให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การส่งออก และภาคอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้เศรษฐกิจจีนยังคงเผชิญกับความท้าทายจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศและรัฐบาลท้องถิ่นโดยเฉพาะมณฑลที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง มีรายได้การคลังที่ลดลง ซึ่งมีความยากที่จะลงทุนผลักดันโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่อไป สำหรับปี 2565 ในงานแถลงภาวะเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 NBS ระบุว่า การบรรลุเป้าหมายอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ประมาณร้อยละ 5.5 มีความท้าทายจากปัจจัยความไม่แน่นอนทั้งภายในและภายนอก
แหล่งที่มา
http://www.scio.gov.cn/xwfbh/xwbfbh/wqfbh/47673/48528/wz48530/Document/1727158/1727158.htm
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู