อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของมณฑลฝูเจี้ยน โดยมณฑลฝูเจี้ยนมุ่งพัฒนา ห่วงโซ่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น กลาง และปลายที่เกี่ยวเนื่องให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เมื่อกลางเดือน ก.ค. 2565 คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปมณฑลฝูเจี้ยนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ออกแผน การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยมีมาตรการสำคัญ ได้แก่
1) การพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ
(1) ห่วงโซ่อุตสาหกรรมแปรรูปน้ำมัน โดยเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแปรรูปน้ำมันดิบและการผลิตวัตถุดิบ/สารประกอบที่ได้จากการแปรรูปน้ำมัน เช่น สารประกอบโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ (2) ห่วงโซ่อุตสาหกรรมไฮโดรคาร์บอน (คาร์บอนต่ำ) เน้นการพัฒนาสารประกอบ อาทิ โพลิเอทิลีน โพลิโพรพิลีน และก๊าซเอทิลีนออกไซด์ (3) ห่วงโซ่อุตสาหกรรมพลาสติกสำหรับใช้งานเชิงวิศวกรรม รวมถึงผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ง่าย (4) ห่วงโซ่อุตสาหกรรมยางและไฟเบอร์คุณภาพสูง สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ สิ่งทอ รองเท้าและเสื้อผ้า และอุปกรณ์การแพทย์ (5) ห่วงโซ่อุตสาหกรรมฟลูออรีน สำหรับการพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาทิ สายไฟและสายเคเบิล และ (6) ห่วงโซ่อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์สำหรับการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาทิ วงจรรวม วัสดุคริสตัลเหลวสำหรับการผลิตจอแสดงผล และอิเล็กโทรไลต์สำหรับการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน
2) การขยายคลัสเตอร์อุตสาหกรรม อาทิ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมัน คลัสเตอร์อุตสาหกรรมวัสดุเคมีใหม่ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมวัสดุรองเท้าและเครื่องแต่งกายใหม่ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมวัสดุใหม่ที่มีฟลูออรีน และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมวัสดุใหม่ของแบตเตอรี่ลิเธียม
3) การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัย โดยเน้นการยกระดับนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้จีนดำเนินนโยบายพึ่งพาตัวเองมากขึ้นและเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์ภายในประเทศ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยมณฑลฝูเจี้ยนมีความได้เปรียบด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ซึ่งเป็นฐานปิโตรเคมีที่ใกล้กับไต้หวัน และสามารถรองรับผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากไต้หวันมากที่สุด รวมทั้งเป็นที่ตั้งของบริษัทปิโตรเคมีที่โดดเด่น อาทิ บริษัท Fujian Refining and Petrochemical จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจ ปิโตรเคมีชั้นนำของจีน เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท Saudi Aramco ผู้ผลิตนำมันรายใหญ่ของโลก บริษัท ExxonMobil และบริษัท China Petrochemical จำกัด และบริษัท Fujian Petrochemical Industrial Group นอกจากนั้นยังเป็นที่ตั้งของ บริษัท Sinochem Group จำกัด และ บริษัท Quanzhou Grand Pacific Chemical เป็นต้น
ทั้งนี้ มณฑลฝูเจี้ยนตั้งเป้าหมายที่จะสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีให้สูงกว่า 1 ล้านล้านหยวน และพัฒนานิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่สร้างรายได้สูงกว่า 1 แสนล้านหยวนกว่า 4 แห่งทั่วทั้งมณฑล และส่งเสริมการก่อสร้างห้องปฏิบัติการปิโตรเคมีระดับชาติ ศูนย์เทคโนโลยีวิสาหกิจปิโตรเคมีระดับชาติ รวมทั้งเร่งการสร้างโรงงานปิโตรเคมีสาธิตการผลิตอัจฉริยะที่มณฑลฝูเจี้ยนภายในปี 2568 ขณะที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยยังต้องเร่งปรับตัวต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยตลาดหลักอย่างจีนที่ลดการพึงพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ รวมทั้งปรับรูปแบบการผลิตปิโตรเคมีขั้นสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย ไทยจึงควรจับตามองและติดตามแนวโน้มนโยบายของจีนอย่างใกล้ชิด รวมถึงพิจารณาโอกาสในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการดึงดูดการลงทุนในไทย หรือการพิจารณาเข้าไปลงทุนในลักษณะของการร่วมทุนเพื่อขยายฐานการผลิตในจีน เป็นต้น
แหล่งอ้างอิง http://fgw.fujian.gov.cn/jdhy/zcjd/bmzcwjjd/202207/t20220719_5956447.htm
webmaster
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู