- ภาพรวมเศรษฐกิจของมณฑลฝูเจี้ยนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565
1.1 ภาพรวม มูลค่า GDP เท่ากับ 2.46 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 สูงเป็นอันดับ 7 ของประเทศ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยอัตราการเติบโตสูงเป็นอันดับ 6 ของประเทศ รองจากมณฑลหนิงเซี่ย มณฑลชานซี มณฑลเจียงซี เขตการปกครองตนเองซินเจียง และทิเบต โดยแบ่งเป็นมูลค่าด้านการผลิตขั้นปฐมภูมิประมาณ 1.14 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 มูลค่าด้านการผลิตขั้นทุติยภูมิ 1.2 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 และมูลค่าด้านการผลิตขั้นตติยภูมิ 1.17 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8
1.2 การผลิตในภาคการเกษตร ป่าไม้ ปศุสัตว์ และประมง เติบโตอย่างต่อเนื่อง มูลค่ารวมประมาณ 2.1 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ในจำนวนนี้ มูลค่าการผลิตทางการเกษตร 5.6 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 มูลค่าการผลิตทางการป่าไม้ 1.47 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 มูลค่าการผลิตทางการปศุสัตว์ 4.3 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 และมูลค่าการผลิตทางการประมง 8.5 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3
1.3 การลงทุน การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรมีมูลค่า 1.08 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มูลค่าการลงทุนสูงกว่า 1 ล้านล้านหยวน โดยแบ่งออกเป็นการลงทุนจากวิสาหกิจจีน 1.02 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 การลงทุนจากวิสาหกิจฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน 3.15 หมื่นล้านหยวน ลดลงร้อยละ 8.7 และการลงทุนจาก ตปท. 2.36 หมื่นล้านหยวน ลดลงร้อยละ 3.7 หรือแบ่งเป็นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ลดลงร้อยละ 5.2 (ไม่ระบุมูลค่า) ภาคโครงสร้างพื้นฐาน 2.7 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 ภาค อก. ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง 8.5 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 ภาค อก. การผลิต 3.2 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.9 ภาคการขนส่ง คลังสินค้า และไปรษณีย์ 7.6 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ภาคการศึกษา 2.5 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 และภาค อก. วัฒนธรรม กีฬา และกิจกรรมที่เกี่ยวกับความบันเทิง 2.46 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9
1.4 อก. ขนาดใหญ่ สร้างรายได้ 3.5 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 แบ่งเป็นรายได้ อก. เบา 1 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 และ อก. หนัก 8 หมื่นล้านหยวน ลดลงร้อยละ 19.8 หรือแบ่งเป็นรายได้วิสาหกิจของภาครัฐ 2.1 หมื่นล้านหยวน ลดลงร้อยละ 39.8 วิสาหกิจของภาคเอกชน 1.2 แสนล้านหยวน ลดลงร้อยละ 0.9 และวิสาหกิจ ตปท. และวิสาหกิจไต้หวันสร้างรายได้รวม 4.5 หมื่นล้านหยวน ลดลงร้อยละ 14.4 รวมทั้งรายได้ อก. การแพทย์ 3.7 หมื่นล้านหยวน ลดลงร้อยละ 13.3 ในจำนวนนี้ การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 2.4 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มสร้างรายได้ 1.3 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 และการผลิตของ อก. ยานยนต์ยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยรถยนต์พลังงานใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.1
1.5 การบริโภค ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคสูงถึง 1.04 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 โดยแบ่งเป็นยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของเขตเมือง 9 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของเขตชนบท 1.38 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณการจำหน่ายสูงอันดับแรกของมณฑลฝูเจี้ยนคือ น้ำมันปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่เป็น อก. เกี่ยวเนื่อง ขณะที่รายได้เฉลี่ยที่นำไปใช้ได้จริงของ ปชก. ในเมืองเท่ากับ 28,948 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 รายได้เฉลี่ยที่นำไปใช้ได้จริงของ ปชก. ในชนบท 11,977 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6
1.6 การค้าต่างประเทศของมณฑลฝูเจี้ยนในครึ่งแรกของปี 2565
(1) การค้ากับต่างประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง มูลค่ารวม 9.7 แสนล้านหยวน สูงเป็นอันดับ 7 ของ ปท. เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 โดยอัตราการขยายตัวสูงกว่าอัตราการขยายตัวของการค้า รปท. ในระดับ ปท. (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4) โดยแบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 5.9 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 (ระดับ ปท. เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2) และการนำเข้า 3.78 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 (ระดับ ปท. เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8)
(2) คู่ค้ารายใหญ่ 3 อันดับแรกของมณฑลฝูเจี้ยน ได้แก่ อาเซียน 1.99 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 สหรัฐฯ 1.38 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.2 และยุโรป 1.16 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.6 สินค้าส่งออกหลักของมณฑลฝูเจี้ยน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องกลและไฟฟ้า 2.17 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.3 ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แรงงานเข้มข้น 1.87 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร 4.3 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.2 ส่วนสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร 5.5 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 น้ำมันดิบ 8 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 และแร่ทองแดง 2 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.3
(3) การค้ากับ ตปท. ของเมืองต่าง ๆ ในมณฑลฝูเจี้ยน 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) เมืองเซี่ยเหมินมีมูลค่าการค้ากับ ตปท. จำนวน 4.4 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 (2) นครฝูโจว 1.8 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 และ (3) เมืองเฉวียนโจว 1.35 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4
(4) การค้า รว. ไทยกับมณฑลฝูเจี้ยน เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าการค้า จำนวน 2.57 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.8 หรือร้อยละ 2.6 ของมูลค่าการค้า ตปท. ทั้งมณฑล โดยแบ่งเป็นการส่งออกไป ปทท. จำนวน 1.85 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.3 หรือร้อยละ 3.1 ของมูลค่าการส่งออกทั้งมณฑล และการนำเข้าจาก ปทท. จำนวน 7.1 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.4 หรือร้อยละ 1.8 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งมณฑล ส่วนสินค้าส่งออกหลักไปยังไทย ได้แก่ เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ 5.6 พันล้านหยวน มอเตอร์และอุปกรณ์ไฟฟ้า 1.6 พันล้านหยวน เหล็ก 1 พันล้านหยวน สิ่งทอและเสื้อผ้า 853 ล้านหยวน และผลิตภัณฑ์พลาสติก 560 ล้านหยวน และสินค้านำเข้าหลักจากไทย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์พลาสติก 1 พันล้านหยวน ผัก 880 ล้านหยวน ผลิตภัณฑ์แป้งและมอลต์ 750 ล้านหยวน มอเตอร์และอุปกรณ์ไฟฟ้า 683 ล้านหยวน และผลิตภัณฑ์ยาง 500 ล้านหยวน
- ภาพรวมเศรษฐกิจของเมืองเซี่ยเหมินในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565
2.1 GDP ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 มีมูลค่า 3.66 แสนล้านหยวน สูงเป็นอันดับ 3 ของมณฑล เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 รองจากเมืองเฉวียนโจว (5.6 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5) และนครฝูโจว (5.4 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4) โดยแบ่งเป็นมูลค่าการผลิตขั้นปฐมภูมิประมาณ 1.1 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 มูลค่าการผลิตขั้นทุติยภูมิ 1.52 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 และมูลค่าการผลิตขั้นตติยภูมิ 2.1 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 และมูลค่าการลงทุนจริงจาก ตปท. 6.7 พันล้านหยวน ลดลงร้อยละ 32.4 รวมทั้งปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือเซี่ยเหมิน จำนวน 111 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ขณะที่รายได้เฉลี่ยสุทธิของชาวเมืองเท่ากับ 36,943 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 และรายได้เฉลี่ยสุทธิของชาวชนบทเท่ากับ 19,731 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 และยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคเท่ากับ 1.4 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3
2.2 การค้ากับ ตปท. เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่า 4.4 แสนล้านหยวน สูงเป็นอันดับ 1 ของมณฑล เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 โดยแบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 2.26 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 และมูลค่าการนำเข้า 2.2 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 คู่ค้าใหญ่ 3 อันดับแรกของเมืองเซี่ยเหมิน ได้แก่ อาเซียน 8.5 หมื่นล้านหยวน สหรัฐฯ 6.6 หมื่นล้านหยวน และยุโรป 5.1 หมื่นล้านหยวน สินค้าส่งออกหลักของเซี่ยเหมิน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องกลและไฟฟ้า 9.75 หมื่นล้านหยวน หรือร้อยละ 43.2 ของมูลค่าการส่งออกทั้งเมือง ผลิตภัณฑ์ ที่ใช้แรงงานเข้มข้น 7 สาขา รวมถึงสิ่งทอและเสื้อผ้า 6.45 หมื่นล้านหยวน หรือร้อยละ 28.5 ของมูลค่าการส่งออกทั้งเมือง ส่วนสินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องกลและไฟฟ้า 4.4 หมื่นล้านหยวน หรือร้อยละ 20.3 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งเมือง และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร 4 หมื่นล้านหยวน หรือร้อยละ 18.5
- ข้อมูลเพิ่มเติมและข้อสังเกต
3.1ภาพรวม ศก. ของมณฑลฝูเจี้ยนในครึ่งแรกของปี 2565 มีแนวโน้มเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยเกื้อหนุนด้านนโยบายของภาครัฐที่มีการออกมาตรการเพื่อสนับสนุนการจ้างงาน ภาคบริการ และการท่องเที่ยวช่วยเร่งฟื้นฟู ศก. จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเมืองต่าง ๆ ของมณฑลได้ ขณะที่มูลค่า GDP Per Capita สูงเป็นอันดับ 4 ของจีน รองจากเมือง ศก. หลักอย่างกรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ และนครเจียงซู โดยคาดการณ์ว่า GDP Per Capita ของมณฑลฝูเจี้ยนในปี 2565 จะสูงกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรก สะท้อนว่า ปชก. ฝูเจี้ยนมีกำลังซื้อสูงขึ้น อนึ่ง เมืองหนิงเต๋อมีอัตราการเติบโตทาง ศก. สูงเป็นอันดับ 1 ของมณฑลฝูเจี้ยน อัตราการเติบโตร้อยละ 9.6 จากปัจจัยเกื้อหนุนทางการพัฒนา อก. หลักของเมือง อาทิ แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ยานยนต์ไฟฟ้า วัสดุสแตนเลส และทองแดง
3.2 รบ. มุ่งพัฒนา ศก. ควบคู่กับการอนุรักษ์ สวล. โดยดำเนินโครงการพัฒนาสำคัญ อาทิ การสร้างฐานพัฒนาเรือไฟฟ้าชั้นนำระดับ ปท. ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างครอบคลุม การก่อสร้างฐานการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแห่งใหม่ของบริษัท CATL โครงการก่อสร้างฐานการผลิตขั้วแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของบริษัท Xiamen Tungsten จำกัด และฐานการผลิตโซลาร์เซลล์ของบริษัท JP Solar Power Fujian จำกัด ทั้งนี้ มณฑลฝูเจี้ยนได้รับการจัดอันดับเป็นมณฑลที่มีการพัฒนา สวล. ดีเด่นอันดับ 1 ของจีนติดต่อกันหลายปี และมีพื้นที่ป่าไม้มากเป็นอันดับ 1 ของจีน คิดเป็นร้อยละ 66.8 ของพื้นที่ทั้งมณฑล อีกทั้งยังเร่งส่งเสริม ศก. ทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นมณฑลชั้นนำด้านนิเวศวิทยาทางทะเล