ไฮไลท์
- ระบบรางกำลังจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในด้านการขนส่งของภูมิภาค และกำลังจะเชื่อมโลกในอนาคตอันใกล้นี้ โดย “ด่านรถไฟผิงเสียง” ในอำเภอระดับเมืองผิงเสียงของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นหนึ่งในด่านสากลทางบกที่กำลังทวีบทบาทสำคัญในการทำการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนผ่าน “ขบวนรถไฟจีน
(กว่างซี)-เวียดนาม” และเป็นด่านนำเข้าผลไม้ทางรถไฟแห่งแรกของประเทศจีน - ความต้องการใช้ “ด่านรถไฟผิงเสียง” เพื่อการขนส่งสินค้าสดและมีชีวิตเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะผลไม้จากอาเซียนได้รับความชื่นชอบจากผู้บริโภคชาวจีนอย่างมาก ช่วง 7 เดือนแรก ปี 2565 การนำเข้าผลไม้ผ่าน “ด่านรถไฟผิงเสียง” มีปริมาณสะสม 47,000 ตัน เพิ่มขึ้น 163% (YoY)
- ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 การรถไฟได้นำ “เครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยน้ำมันดีเซล” (ลักษณะเป็นตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต) มาติดตั้งแบบถาวรที่โบกี้ช่วงกลางของขบวนรถไฟ หากเติมน้ำมันเต็มถัง สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับระบบทำความเย็นของตู้คอนเทนเนอร์เย็นได้ 8 ตู้ เป็นเวลาต่อเนื่อง 300 ชั่วโมง ช่วยให้สินค้าสามารถรักษาคุณภาพความสดใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า…ระบบรางกำลังจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในด้านการขนส่งของภูมิภาค และกำลังจะเชื่อมโลกในอนาคตอันใกล้นี้ โดย “ด่านรถไฟผิงเสียง” ในอำเภอระดับเมืองผิงเสียงของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เป็นหนึ่งในด่านสากลทางบกที่กำลังทวีบทบาทสำคัญในการทำการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนผ่าน “ขบวนรถไฟจีน(กว่างซี)-เวียดนาม” และเป็นด่านนำเข้าผลไม้ทางรถไฟแห่งแรกของประเทศจีน
การขนส่งสินค้าด้วย “รถไฟจีน(กว่างซี)-เวียดนาม” ผ่านด่านรถไฟผิงเสียงได้รับความนิยมจากผู้ค้าเป็นอย่างมาก ปัจจุบัน มีสินค้ามากกว่า 200 ชนิดที่ใช้การขนส่งด้วยรถไฟดังกล่าว และด่านรถไฟผิงเสียงเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในประเทศไทยหลังการเกิดสถานการณ์โควิด-19
“ประเทศไทย” ได้ใช้ประโยชน์จากด่านรถไฟผิงเสียงเพื่อการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 นับเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน และพลิกโฉมการขนส่งแบบเดิมๆ ที่เคยใช้รถบรรทุก ทางเรือ และทางเครื่องบิน และเป็นประตูอีกบานที่ช่วยระบายสินค้าผลไม้(ไทย) นอกเหนือจากด่านทางบกโหย่วอี้กวาน และด่านทางบกตงซิงของกว่างซี
ผลไม้ที่จีนได้นำเข้าผ่าน “ด่านรถไฟผิงเสียง” ไม่ว่าจะเป็นทุเรียนและมังคุดของไทย รวมถึงแก้วมังกร ลิ้นจี่และขนุนของเวียดนาม หลังจากผ่านพิธีการศุลกากรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผลไม้เหล่านี้จะถูกกระจายต่อไปยังหัวเมืองสำคัญทั่วจีน อาทิ นครกว่างโจว นครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง นครเจิ้งโจว และนครฉงชิ่ง
การปรับปรุงและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าและส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพความพร้อมรองรับการนำเข้า-ส่งออกอยู่อย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจให้ความสนใจด่านรถไฟผิงเสียงและการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟจีน(กว่างซี)-เวียดนาม
ตามที่บีไอซีได้อัปเดตความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เช่น การติดตั้งเครื่องเอ็กซเรย์ H986 เพื่อตรวจสอบสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์แบบขับผ่าน (Fast Scan) ใช้เวลาเพียง 1 นาที การอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับพิธีการศุลกากรอย่างระบบ Paperless ระบบ Pre-arrival processing และระบบ Railway cargo manifest โดยจำเป็นต้องหยุดรอเพื่อดำเนินขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงเอกสาร (customs transfer) ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกความรวดเร็วให้กับการดำเนินพิธีการศุลกากรและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้เป็นอย่างมาก
ในบริบทที่ความต้องการใช้ “ด่านรถไฟผิงเสียง” เพื่อการขนส่งสินค้าสดและมีชีวิตเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะผลไม้จากอาเซียนได้รับความชื่นชอบจากผู้บริโภคชาวจีนอย่างมาก ช่วง 7 เดือนแรก ปี 2565 การนำเข้าผลไม้ผ่าน “ด่านรถไฟผิงเสียง” มีปริมาณสะสม 47,000 ตัน เพิ่มขึ้น 163% (YoY)
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา การรถไฟได้นำ “เครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยน้ำมันดีเซล”(ลักษณะเป็นตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต) มาติดตั้งแบบถาวรที่โบกี้ช่วงกลางของขบวนรถไฟ หากเติมน้ำมันเต็มถัง สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับระบบทำความเย็นของตู้คอนเทนเนอร์เย็น หรือ Reefer container ได้ 8 ตู้ เป็นเวลาต่อเนื่อง 300 ชั่วโมง ช่วยให้สินค้าสามารถรักษาคุณภาพความสดใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง(ก่อนหน้านี้ตู้ Reefer ทางรถไฟจะต้องชาร์จไฟฟ้าทุก 4 ชั่วโมงเพื่อรักษาความเย็น) เพื่อตอบสนองความต้องการในการขนส่งสินค้าสดและมีชีวิตทางรถไฟของภาคธุรกิจที่แตกต่างกันตามประเภทสินค้า
นับเป็นข่าวดีสำหรับแวดวงผู้ส่งออกผลไม้ไทย โดยเฉพาะในฤดูกาลผลไม้ปีหน้าในการวางแผนเส้นทางการขนส่งผลไม้ไทยไปจีน สำหรับรูปแบบการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟผ่าน “ด่านรถไฟผิงเสียง” (1) เริ่มต้นจากการลำเลียงตู้สินค้าด้วยรถบรรทุกออกจากภาคอีสาน (ตามพิธีสารฯ ออกจากด่านนครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ) ผ่าน สปป. ลาว เข้าสู่เวียดนาม และ (2) เปลี่ยนไปขึ้นขบวนรถไฟที่สถานีรถไฟ Yên Viên ในกรุงฮานอยสำหรับสินค้าทั่วไป หรือที่สถานีรถไฟ Đồng Đăng ในจังหวัดลางเซินสำหรับสินค้าผลไม้ ก่อนจะวิ่งเข้าสู่ด่านรถไฟผิงเสียง และกระจายต่อไปยังพื้นที่ในประเทศจีน โดยทั่วไปการขนส่งไปถึงนครเซี่ยงไฮ้ใช้เวลา 45 ชั่วโมง กรุงปักกิ่งใช้เวลา 70 ชั่วโมง
หากมองไกลไปกว่านั้น ผู้ส่งออกไทยยังสามารถใช้โมเดลการขนส่งทางรถไฟ “เวียดนาม – จีน – ยุโรป” เพื่อการขนส่งสินค้าไปเจาะเอเชียกลางและยุโรปได้ด้วย โดยเมื่อกลางปีที่แล้ว (20 ก.ค.2564) เวียดนามได้ประสบความสำเร็จในการทดลองขนส่งสินค้า (อาทิ สิ่งทอ รองเท้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์) ทางรถไฟเที่ยวแรกไปจากสถานีรถไฟ Yên Viên กรุงฮานอย ผ่านด่านรถไฟผิงเสียง ไปยังนครเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน และออกจากประเทศจีน ผ่านรัสเซีย เบลาลุส โปแลนด์ เยอรมัน โดยมีจุดหมายอยู่ที่เมือง Liege ประเทศเบลเยียม โดยใช้เวลาขนส่งเพียงแค่ 25-27 วัน สามารถประหยัดเวลาได้เกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับการขนส่งทางเรือที่ต้องใช้เวลานานถึง 40-45 วัน
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ (广西日报) วันที่ 12 สิงหาคม 2565
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网广西) วันที่ 11 สิงหาคม 2565
เว็บไซต์ https://cleantechnica.com
The post โฉมใหม่ ไฉไลกว่าเดิม… กว่างซี “ยกเครื่องใหม่” รถไฟขนสินค้าจีน-เวียดนาม ติดตู้ปั่นไฟกับขบวนรถไฟ ตู้ผลไม้ทำความเย็นได้ไม่สะดุด appeared first on thaibizchina.